posttoday

"ถ่อยเถื่อนแล้วจะจบไม่สวย" เมื่อสองคนจริงท้าอันธพาลการเมือง

29 กันยายน 2564

วิวาทะและมิตรภาพที่แปลกประหลาดเหมือนกับฉากในนิยายกำลังภายในระหว่างนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของฮ่องกงผู้รักเสรีภาพ และขุนพลผู้ยิ่งใหญ่ของพรรคอมมิวนิสต์จีน

คงไม่ต้องสาธยายกันให้ยืดยาวว่า "กิมย้ง" คือใครและสำคัญอย่างไร เพราะนิยายของเขายังเป็นอมตะจนถึงทุกวันนี้ เป็นงานเขียนที่อ่านเพื่อความเพลิดเพลินก็ได้ เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ก็ได้ และมันยังถูกใช้เป็นแบบเรียนวรรณกรรมเพื่อสอนความรักชาติก็เคยทำมาแล้ว โดยเฉพาะในประเทศจีน นิยายเรื่องมังกรหยกถูกนำไปให้เยาวชนอ่านเพื่อปลูกฝังความรักบ้านเมือง

แต่ครั้งหนึ่งกิมย้งถูกปองร้ายและประณามจากคนในฮ่องกงด้วยกันเองว่าไม่รักชาติและต่อต้านจีน เพราะในยุคนั้น (ที่ต่างจากยุคนี้แบบหน้ามือเป็นหลังมือ) คนฮ่องกงจำนวนหนึ่งสนับสนุนจีนภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์

คนฮ่องกงไม่น้อยไม่พอใจที่เป็นประชากรในเมืองขึ้นอังกฤษ การยืนด้วยลำแข้งตนเองอีกครั้งของจีนทำให้คนเหล่านี้ภาคภูมิใจมาก ยิ่งจีนเริ่มใช้นโนยบายเร่งรัดอุตสาหกรรมและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้คนเหล่านี้ยิ่งรู้สึกว่า "ภูมิใจที่เป็นจีน (แดง)"

แต่กิมย้งเป็นนักเขียนไม่กี่คนที่ตำหนิจีนที่นำเดินนโยบายไม่สมเหตุผล เพราะในเวลานั้นคนจีนยากจนข้นแค้น แต่กลับใช้เงินมหาศาลไปกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ตอนนั้นกิมย้งทำงานกับหนังสือพิมพ์ "ต้ากงเป้า" และคิดจะเผยแพร่บทความวิจารณ์นะโยบาย "ก้าวกระโดดใหญ่" ของเหมาเจ๋อตง ที่ผลักดันให้ประชาชนทำนารวมและพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยวิธีผิดๆ ส่งผลให้คนตายหลายล้าน แต่หนังสือพิมพ์ต้ากงเป้าอิดออดไม่อยากให้กิมย้งเผยแพร่บทความโจมตีจีน เขาจึงออกจากต้ากงเป้าแล้วมาตั้งหนังสือพิมพ์ของตัวเองชื่อ "หมิงเป้า"

สร้างอาวุธทั้งๆ ที่ประชาชนอดอยาก

ขณะที่คนตายไปหลายล้าน จีนยังดันทุรังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ตอนนั้นจีนกับสหภาพโซเวียตแตกคอกันทั้งๆ ที่เป็นคอมมิวนิสต์ด้วยกัน โซเวียตที่คอยช่วยเหลือจีนพัฒนาโครงการนิวเคลียร์จึงถอนความช่วยเหลือ แต่จีนก็ยังมุ่งมั่นที่จะมีนิวเคลียร์ให้จงได้ ทั้งๆ ที่มีเสียงปรามาสว่าถ้าจีนทำระเบิดนิวเคลียร์ได้ ประชาชนก็คงไม่มีใส่กางเกงแล้ว

เฉินอี้ ผู้บัญชาการทหารของจีน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนในขณะนั้นกล่าววาจาอันลือลั่นว่าไม่ว่าจีนยากจนแค่ไหน จีนจะต้องมีนิวเคลียร์ให้ดี "ต่อให้ต้องจำนำกางเกงก็ต้องมีนิวเคลียร์ให้ได้" เขาบอกกับสื่อมวลชนญี่ปุ่นว่าหากไม่มีอาวุธนิวเคลียร์จีนก็เป็นได้แค่ประเทศชั้นสองชั้นสาม จีนจะต้องมีอาวุธที่ทันสมัยให้ได้ ต่อให้ประชาชนไม่มีกางเกงจะใส่ก็ตาม

กิมย้งคัดค้านอย่างรุนแรง เขาเขียนไว้ในบทความชื่อ "เอากางเกง ดีกว่าเอานิวเคลียร์" ว่า

"รัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับแสนยานุภาพทางทหารมาก่อนส่วนชีวิตของผู้คนเป็นอันดับสอง พูดตรงๆ ก็คือหาใช่รัฐบาลที่ดีแม้แต่น้อย หวังเพียงว่านี่เป็นเพียงความโกรธชั่วครู่ของเฉินอี้ไม่จำเป็นต้องเป็นนโยบายของพรรคอมมิวนิสต์ ไม่รู้ว่าเฉินอี้เข้าใจหรือไม่ว่าหากประชาชนประเทศหนึ่งไม่มีกางเกงจะใส่ ก็แทบจะไม่สามารถผลิตระเบิดปรมาณูสักลูกสองลูกออกมาได้ ประเทศจะไม่มีวันแข็งแกร่ง รัฐบาลจะไม่มีวันมีเสถียรภาพอย่างแน่นอน"

กิมย้งยกเหตุผลว่าต่อให้จีนมีอาวุธนิวเคลียร์ จีนก็ยังไล่ตามมหาอำนาจชั้นนำไม่ทันอยู่ดี เขาบอกว่า "จุดประสงค์ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ผลิตระเบิดปรมาณูขึ้นมาคืออะไร? สามารถไปบอมบ์สหรัฐได้หรือ สามารถเอาไปบอมบ์โซเวียตได้หรือ?"

กิมย้งยกตัวอย่างว่า "เมื่อกองกำลังอังกฤษและฝรั่งเศสโจมตีคลองสุเอซ อังกฤษมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่แล้ว แต่สหภาพโซเวียตขู่เข็ญและกล่าวว่าจะทิ้งระเบิดด้วยขีปนาวุธถล่มลอนดอน สหราชอาณาจักรจึงต้องล่าถอยอย่างว่านอนสอนง่าย พรรคอมมิวนิสต์ทำงานหนักมาเป็นเวลาสิบปีแล้ว ยังไม่เทียบเท่าความสำเร็จด้านนิวเคลียร์ของสหราชอาณาจักรในการโจมตีคลองสุเอซเลย ระเบิดปรมาณูอันจิ๋วของพรรคอมมิวนิสต์มีประโยชน์อย่างไร? ให้ประชาชนมีกางเกงใส่จะดีกว่า!"

คำกล่าวนี้ของกิมย้งยังเป็นจริงอยู่ทุกวันนี้ แม้จีนจะก้าวหน้าไปมากมาจากจากวันที่จีนอดยากจนคนล้มตายเป็นล้าน แต่แม้จะผลิตนิวเคลียร์ได้และมีในคลังจำนวนหนึ่ง จีนยังเทียบไม่ติดกับรัสเซียและสหรัฐที่มีหัวรบนับหมื่นลูก

คำทัดทานเท่ากับไม่รักชาติ?

แม้จะทัดทานอย่างห้าวหาญ ปรากฎว่ากิมย้งไม่ถูกละเว้น เขาถูกสื่อฝ่ายซ้ายในฮ่องกงโจมตีหนักหน่วงไม่เว้นแม้แต่ต้ากงเป้าที่เขาเคยร่วมงานด้วย เพราะเวลานั้นการสนับสนุนจีนเท่ากับความรักชาติ และคนฮ่องกงจำนวนหนึ่งยังศรัทธาในความเป็นจีนของตน ต่างจากยุคนี้ที่บางคนไม่อยากกระทั่งบอกว่าตัวเองใช้ภาษาจีน

หนังสือพิมพ์ "เหวินฮุ่ยเป้า" ด่ากิมย้งโดยไม่ออกชื่อว่า "แสร้งทำตัวเป็นคนจีน เพื่อที่จะซ่อนความจอมปลอมไว้ในความอารี" เท่ากับด่ากิมย้งว่าเป็นคำจีนที่ไม่สมกับเป็นคนจีนนั่นเอง

แม้จะถูกสื่อเอียงจีนในฮ่องกงโจมตีไม่หยุด กิมย้งก็ยังไม่ยอมถอย กลับเขียนบทความตอบโต้ว่า "วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์เท่ากับต่อต้านจีนอย่างนั้นหรือ?" แต่สุดท้ายแล้วอาจจะเป็นเพราะความเป็นวิญญูชนที่มีจรรยามารยาท กิมย้งจึงเขียนบทความขอสมานฉันท์ และยอมรับว่า "น้ำเสียงและการแสดงออก (ของบทความ) ของเราในหลายๆ แง่มุมยังไม่สุภาพและจริงใจพอ"

ต่อมา เฉินอี้กล่าวกับผู้สื่อของของสำนักข่าวซินหัวประจำฮ่องกงโดยเอ่ยถึงกิมย้งผู้ที่วิจารณ์เขาอย่างหนักว่า "ตราบใดที่เขายังเป็นศัตรูที่ไม่หวั่นไหว หากเขาตำหนิผมด้วยความชอบธรรม ผมก็จะถือเขาเป็นสหายสนิท และมิตรแท้ที่ตรงไปตรงมา" และบอกว่า "บทบรรณาธิการของหมิงเป้าเรียกร้องให้คนจีนมีกางเกงใส่ แสดงว่าพวกเขารักคนจีน!

นี่คือความน่านับถือของคนทั้งสอง คนหนึ่งเป็นจอมยุทธ์ฝ่ายบุ๋น คนหนึ่งเป็นขุนศึกฝ่ายบู๊ แม้จะต่างอุดมการณ์แต่ก็รักชาติเหมือนกัน

หากมองที่งานขียนของกิมย้งจะทราบได้ว่าไม่มีนักเขียนคนไหนที่จะรักชาติและรักความเป็นจีนเท่ากับกิมย้งอีกแล้ว

แต่หลังจากนั้นจีนเผชิญกับพายุใหญ่ทางการเมือง นั่นคือการปฏิวัติวัฒนธรรม

ในช่วงเวลานั้นการเมืองในจีนรุนแรงมาก เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม กระแสปฏิวัติและต่อต้านจักรวรรดินิยมกำลังขึ้นสูง ความเคลื่อนไหวนี้ลุกลามเข้าไปยังมาเก๊าและได้รับการสนับสนุนจากคนที่นั่น จนเจ้าอาณานิคมโปรตุเกสถึงกับซวนเซ

และมันได้ลามเข้ามาที่ฮ่องกงเช่นกัน เป็นจลาจลฝ่ายซ้ายนิยมจีนในปี 1967 กินเวลานาน 18 เดือน มีผู้เสียชีวิต 51 คน บาดเจ็บ 832 ราย ถูกจับอีก 4,979 คน เสียหายเป็นตัวเงินหลายล้านเหรียญ

กิมย้งถูกหมายหัวอีกครั้ง

ในช่วงที่เกิดจลาจล เป็นอีกครั้งที่กิมย้งที่ตำหนิจีน เพราะนโยบายของจีนส่งผลกระทบมาถึงฮ่องกงด้วย จากการที่ผู้คนอดอยากจากนโยบายก้าวกระโดดใหญ่ และการล่าแม่มดทางการเมือง จนหนีเข้ามายังฮ่องกงมากมาย

คราวนี้กิมย้งไม่ได้เขียนบทความโต้เถียงกับพวกสื่อฝ่ายซ้าย/เอียงจีนในฮ่องกงอีก เขาใช้วิธีเขียนนิยายเพื่อสะท้อนทัศนะของเขา

เขาเขียนยิ้มเย้ยยุทธจักรในหนังสือพิมพ์หมิงเป้า โดยปั้นตัวละครสะท้อนนักการเมืองในแผ่นดินใหญ่ แล้วยังเขียนบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์หมิงเป้าโจมตีจีน หรือนัยหนึ่งเป็นอรรถาธิบายเหตุการณ์ทางการเมืองที่ซ่อนอยู่ในนิยาย คนรุ่นหลังต่างตีความไปต่างๆ นานาว่าตัวละครในเรื่องหมายถึงใคร บ้างว่างักปุ๊กคุ้ง หมายถึงหลินเปียว ผู้เป็นวิญญูชนจอมปลอม ส่วนตงฟางปุ๊ป้าย อาจหมายถึงเหมาเจ๋อตง

ใครที่อ่านนิยายเรื่องนี้ย่อมรู้ว่าตงฟางปุ๊ป้ายนั้นชั่วช้าและน่าเกรงขามขนาดไหน คล้ายๆ กับเหมาเจ๋อตง ประเหมาาะกับที่มีบางคนกล่าวว่าเหมาเจ๋อตงนั้นลักษณะคล้ายผู้หญิงอยู่ (คำกล่าวจีนว่า คนดูคล้ายกึ่งหญิงกึ่งชายนั้นมีมีวาสนาสูง) ยิ่งทำให้เทียบได้กับตงฟางปุ๊ป้ายที่เป็นหญิงไม่ใช่ชายไม่เชิง แถมยังมีอำนาจบารมีล้นเหลือ

ท่าทีเสียดสีจีนของกิมย้งถือว่าอันตรายกว่าคราวที่เขาต่อว่าเฉินอี้ เพราะในเวลานั้นพวกฝ่ายซ้ายกำลังป่วนเมือง กิมย้งบอกว่า เขาอยู่ในบัญชีสังหารของฝ่ายซ้าย โดยอยู่ในลำดับที่ 2 รองจากหลินปิน นักจัดรายการวิทยุผู้สนับสนุนประชาธิปไตย และต่อต้านฝ่ายซ้าย ในเวลานั้น หลินปินถูกฝ่ายซ้ายด่าว่าเป็นคนทรยศขายชาติ เพราะไม่สนับสนุนจีน

หลินปินจึงถูกเพ่งเล็งแถมยังถูกขึ้นบัญชีสังหารอันดับ 1 ในที่สุดเขาถูกฆ่าตายด้วยการถูกราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผาให้ตายทั้งเป็นคารถ โดยมีผู้ต้องสงสัยคือพวกฝ่ายซ้ายนั่นเอง แต่กิมย้งรอดมาได้หวุดหวิด

ขุนพลเฒ่าเผชิญหน้าผีน้อย

ความวุ่นวายของการปฏิวัติวัฒนธรรมจีนนั้นต่อให้เขียนสักสิบบทความก็เขียนไม่หมดสิ้น ความเสียหายนั้นไม่อาจประเมินได้ง่ายๆ ผู้คนที่มีคุณูปการต่อประเทศชาติมากมายถูกลากมาประจาน ทุบตี ด่าทอ และฆ่าทิ้งก็มี หรือบางคนทนทรมาณไม่ไหวก็ฆ่าตัวตายไปไม่น้อย เพียงเพราะคนเหล่านั้นไม่ทำตามแนวทางของพวก "นักปฏิวัติ"

โดยเฉพาะพวกยุวชนแดงหรือหงเว่ยปิง ที่ไม่เรียนหนังสือหนังหา เอาแต่ยกพวกโดดโรงเรียน/มหาวิทยาลัยไปทำลายวัฒนธรรมเก่าๆ และไล่ล่าพวกที่เขาคิดว่าเป็นศัตรูของพรรคคอมมิวนิสต์

พวกยุวชนเหล่านี้ไร้เดียงสาเกินไปที่จะรู้ตัวว่าถูกพวกนักการเมืองในพรรคฯ หลอกใช้เพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เนื้อแท้ของการปฏิวัติวัฒนธรรมไม่ใช่การปฏิวัติเพื่อสิ่งที่ดีกว่า แต่เป็นการอ้างเพื่อกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม

อย่าว่าแต่พวกยุวชน แม้แต่สื่อฝ่ายซ้ายในฮ่องกงและพวกแรงงานในฮ่องกงที่ถูกปลุกเร้าด้วยแนวคิดสังคมนิยมสุดโต่งจากการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนยังพลอยคลุ้มคลั่งไปด้วย

ในจีนนั้น เฉินอี้ที่เคยถูกยกย่องและมีคุณูปการต่อประเทศชาติ กลับถูกพวกยุวชนแดงประณามด่าทอราวกับไม่มีความดีอะไร

การเหยียบย่ำเฉินอี้เกิดขึ้นวันหนึ่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2510 พวกยุวชนแดงได้จัดการประชุมหลายครั้งเพื่อวิพากษ์วิจารณ์เฉินอี้ แทนที่จะหงอและยอมให้พวกเด็กเมื่อวานซืนด่าทอทุบตีเหมือนผู้อาวุโสคนอื่นๆ ขุนศึกเฉินอี้กลับจึงเข้าร่วมการประชุมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกล้าหาญ ไม่ยอมถูกด่าฝ่ายเดียวแต่ยังประณามแนวทางปฏิบัติ "ซ้าย" สุดโต่ง และปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ไม่สมเหตุสมผล

เขากล่าวสุนทรพจน์ตีแสกหน้าพวกยุวชนแดงว่า "ผู้ปฏิบัติงานเก่าหลายพันคนถูกย่ำยี คนหนุ่มสาวบางคนใน "กลุ่มปฏิวัติวัฒนธรรม" (จงยาง เหวินเก๋อ) นั้น "ซ้าย" มาก และคนเก่งๆ เหล่านี้ไม่ตระหนักว่ามีคนไม่ดีในหมู่ผู้ปฏิวัติ" และบอกว่า "พวกคุณอยากจะสู้ก็สู้ไป ชีวิตของผู้ปฏิบัติงานอยู่ในมือคุณ ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดคือการติดป้ายผู้ปฏิบัติงานชั้นนำทั้งหมดอย่างไม่เลือกหน้าว่าเป็น 'พวกลัทธิแก้ที่ต่อต้านการปฏิวัติ' และปฏิเสธมันซะทุกสิ่งทุกอย่าง"

นี่นับว่าใช้ถ้อยคำโอ้โลมปฏิโลมแล้ว เมื่อใกล้จะพูดจบเฉินอี้สวมวิญญาณจอมยุทธ์ลั่นวาจาว่า "ต่อให้มีมหาวิทยาลัย 59 แห่งในปักกิ่ง ทั้งประเทศมีสองร้อยมหาวิทยาลัยมาจับตัวผม ผมก็ไม่กลัว!"

"พวกคุณบอกว่าจะใช้วิธีรุนแรงบดขยี้ (อู่โต้ว หมายถึงการจับตัวมาด่าทอทุบตีให้สารภาพว่าทำผิด) หนึ่งให้สวมหมวกยาว (สัญลักษณ์ของคนโง่) สองจับนั่งคุกเข่า (กดขี่ให้ต่ำ) สามให้สวมแผ่นป้ายดำ (ประณามความผิด) พวกคุณป่าเถื่อนไปแล้ว ไม่รู้ฟ้าสูงแผ่นดินลึก ไม่ต้องป่าเถื่อนหรอก ถ่อยเถื่อนแล้วจะจบไม่สวย"

เฉินอี้มีความสามารถสูงและยังเป็นคนเก่าคนแก่ของพรรคและกองทัพ แต่ถึงขนาดนี้ยังถูกต่อว่าและใส่ความ ก็เพราะพวก "กลุ่มปฏิวัติวัฒนธรรม" ที่เป็นฝ่ายการเมืองที่ขับเคลื่อนการปฏิวัติวัฒนธรรมต้องการจะชิงอำนาจถึงขนาดท้าทายอำนาจกองทัพ "กลุ่มปฏิวัติวัฒนธรรม" จึงหาเรื่องกับเฉินอี้พยายามลบหลู่และขับเขาให้พ้นจากตำแหน่งโดยอ้างหลักการจอมปลอมมาโจมตีอีกฝ่าย

เฉินอี้และพวกสมาชิกเก่าแก่ในพรรคทนไม่ไหว จึงสวนกลับพวก "กลุ่มปฏิวัติวัฒนธรรม" (ที่นำโดยหลินเปียวและเจียงชิง) เกิดเป็นกรณี "ต้านกระแสเดือนสอง" (เพราะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์) สมาชิกเก่าแก่ของพรรคชี้ว่าการปฏิวัติทางวัฒนธรรมกำลังทำให้ประเทศวุ่นวายและเป้าหมายที่แท้จริงคือการกำจัดผู้นำระดับสูงของพรรคและกองกำลังทหาร

แทนที่เหมาเจ๋อตงจะรับฟังเสียงของคนเก่าแก่ในพรรค กลับเข้าข้างพวกกลุ่มปฏิวัติวัฒนธรรมและยังต้องการให้ตำหนิคนเหล่านี้ สาเหตุก็เพราะการปฏิวัติวัฒนธรรมล้างสมองประชาชนให้บูชาเหมาเทพเจ้า และคนเก่าคนแก่ในพรรคล้วนเป็นหอกข้างแคร่ของเขาที่ต้องหาทางกำจัดหรือข่มขู่ให้คล้อยตามโดยอาศัยพลังของพวก "กลุ่มปฏิวัติวัฒนธรรม"

คนละจุดยืนแต่นับถือในคนจริง

แต่กิมย้งที่แม้จะอยู่คนละขั้วการเมืองกับเฉินอี้และเคยมีวิวาทะกัน กลับทำในสิ่งที่น่านับถืออีกครั้ง โดยเขียนบทความยกย่องเฉินอี้ที่มีน้ำใจชี้แจงเรื่องที่พวกเขาขัดแย้งกันกรณีกางเกงกับนิวเคลียร์ เพื่อที่จะสนับสนุนเฉินอี้ในวันที่เขาถูกเหยียบย่ำจากคนในจีนแผ่นดินใหญ่

และเมื่อเฉินอี้เสียชีวิต กิมย้งก็ยกย่องเขาอีกครั้งว่า "เป็นคนปากไวใจตรง" และความขัดแย้งของทั้งคู่เป็นเพียงเรื่อง "วิวาทะ" ไม่ใช่การ "วิวาท"

หลังจากเฉินอี้เสียชีวิตลง เหมาเจ๋อตตงก็เหมือนจะนึกขึ้นได้ว่าตัวเองทำพลาดไป เขาถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะกำจัดคนเก่าแก่ในพรรคไปมากมาย ในงานศพของเฉินอี้เหมาไปปรากฏตัวกระทันหัน เป็นงานศพแรกและงานเดียวที่เหมาไปปรากฏตัวช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม และเป็นการปรากฏตัวครั้งสุดท้ายของเหมา หลังจากนั้นไม่นานเหมาก็จากโลกนี้ไป ทิ้งไว้แต่ประเทศจีนที่วุ่นวายอลหม่านเพราะน้ำมือของเขา

ไม่นานนักการปฏิวัติวัฒนธรรมก็จบสิ้นลง หัวโจก "กลุ่มปฏิวัติวัฒนธรรม" ถูกเช็คบิล ส่วนพวกหัวรุนแรงก็หลายคลั่ง กลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ เพียงแต่หลายคนไม่อาจข่มตาหลับได้สนิทใจ ในอีกหลายสิบปีต่อมาต้องสารภาพความผิดที่ตัวเองได้กระทำไปในวัยเยาว์

ในปัจจิมลิขิตของ "ยิ้มเย้ยยุทธจักร" กิมยิ้งกล่าวว่า

"สถานการณ์ทางการเมืองอาจผันแปรได้อย่างรวดเร็ว การสะท้อนสันดานของมนุษย์ต่างหากที่มีคุณค่ายืนยงมากกว่า การแย่งชิงอำนาจคือเรื่องพื้นฐานทางการเมืองในจีนยุคโบราณ ยุคใหม่ และในประเทศอื่นๆ ในช่วงพันปีที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนี้ ผมเกรงว่าอีกพันปีต่อไปก็จะยังเป็นเช่นนี้ ในทัศนะของผม เยิ่นหว่อสิง, ตงฟางปุ๊ป้าย, งักปุ๊กคุ้ง และจ้อแหน้เซี้ยง มิใช่ยอดฝีมือในบู๊ลิ้ม แต่เป็นตัวละครทางการเมือง"

แต่ในละครการเมืองก็ยังมีคนจริงอยู่ด้วย นั่นคือเฉินอี้และกิมย้ง

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Original photo by AFP PHOTO / SCMP / - colorized by Kornkit Disthan