posttoday

สุดเจ๋ง! นักวิทย์เปลี่ยนเปลือกทุเรียนเป็นพลาสเตอร์ปิดแผล

23 กันยายน 2564

นักวิทย์สิงคโปร์แก้ปัญหาขยะเปลือกทุเรียนล้นด้วยการนำมาผลิตพลาสเตอร์ปิดแผลต้านแบคทีเรีย

นักวิทยาศาสจร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (NTU) ของสิงคโปร์แก้ปัญหาขยะจากเศษอาหารด้วยการเปลี่ยนเปลือกทุเรียนให้เป็นพลาสเตอร์ปิดแผลต้านแบคทีเรีย

วิลเลียม เฉิน คณะบดีคณะวิทยาศาสตร์การอาหารและเทคโนโลยีของ NTU เผยว่า สิงคโปร์บริโภคทุเรียนปีละประมาณ 12 ล้านลูก นอกจากเนื้อทุเรียนแล้ว เปลือกกับเมล็ดที่เป็นส่วนประกอบมากกว่าครึ่งของทุเรียนมักจะถูกทิ้งหรือนำไปเผาซึ่งก่อมลพิษกับสิ่งแวดล้อม

วิธีการเปลี่ยนเปลือกทุเรียนเป็นพลาสเตอร์ปิดแผลเริ่มจากการสกัดผงเซลลูโลสจากเปลือกทุเรียนที่หั่นแล้วนำไปทำให้แห้งแบบแช่เยือกแข็ง จากนั้นนำผงมาผสมกับกลีเซอรอล ส่วนผสมนี้จะกลายเป็นไฮโดรเจลนิ่มๆ แล้วตัดเป็นพลาสเตอร์ปิดแผล

เมื่อเทียบกับพลาสเตอร์ปิดแผลทั่วไป พลาสเตอร์ปิดแผลจากเปลือกทุเรียนช่วยให้บริเวณรอบๆ แผลเย็นขึ้นและมีความหมาดซึ่งช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

นักวิจัยเผยว่า การใช้เศษอาหารและยีสต์มาผลิตพลาสเตอร์ปิดแผลต้านเชื้อแบคทีเรียคุ้มค่ากว่าการผลิตพลาสเตอร์ปิดแผลทั่วไปซึ่งคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรียมาจากสารประกอบโลหะที่มีราคาแพงกว่า อาทิ ไอออนเงินหรือทองแดง

เฉินยังเผยอีกว่า เทคโนโลยีนี้ยังสามารถเปลี่ยนเศษอาหารอื่น เช่น ถั่วเหลือง กากมอลต์ ให้เป็นไฮโดรเจลได้เช่นกัน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณเศษอาหารของสิงคโปร์

ส่วน ตันอิงฉวน ผู้ค้าส่งทุเรียนเผยว่า ในช่วงฤดูทุเรียนเขาขายทุเรียนราววันละ 1,800 กิโลกรัม การที่นักวิทยาศาสตร์สามารถนำชิ้นส่วนของผลไม้ที่จะต้องทิ้งมาใช้เป็นนวัตกรรมที่จะทำให้เพลิดเพลินกับการกินทุเรียนได้อย่างยั่งยืนขึ้น

AFP PHOTO / Nicholas YEO