posttoday

แรงแค้นฝรั่งเศส ด่า AUKUS แทงข้างหลัง-ไร้สัจจะ

19 กันยายน 2564

เรื่องราวยังบานปลายที่สืบเนื่องจากการก่อตั้ง AUKUS ขณะที่ออสเตรเลียปฏิเสธข้อกล่าวหาฝรั่งเศสโกหกเรื่องสัญญาผลิตเรือดำน้ำ

นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสันของออสเตรเลียกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ปฏิเสธข้อกล่าวหาของฝรั่งเศสที่ว่ารัฐบาลออสเตรเลียโกหกเกี่ยวกับแผนการยกเลิกสัญญาซื้อเรือดำน้ำฝรั่งเศส โดยกล่าวว่าเขาได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับข้อตกลงนี้ “เมื่อหลายเดือนก่อน”

การตัดสินใจของออสเตรเลียที่จะฉีกข้อตกลงสำหรับเรือดำน้ำฝรั่งเศสเพื่อหันมาใช้เรือพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ได้จุดชนวนให้เกิดความโกรธเคืองให้กับรัฐบาลฝรั่งเศส โดยประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ถึงกับเรียกเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงแคนเบอร์ราและวอชิงตันกลับประเทศซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

รัฐบาลออสเตรเลียไม่เปลี่ยนท่าทีในขณะที่ฝรั่งเศสออกอากาศประกาศข้อกล่าวหาเรื่องการทรยศ โดยมอร์ริสันยืนยันว่าเขาและรัฐมนตรีได้สื่อสารประเด็นของพวกเขาเกี่ยวกับเรือดำน้ำฝรั่งเศสก่อนหน้านี้

“ผมคิดว่าพวกเขาจะมีเหตุผลทุกประการที่จะรู้ว่าเรามีความกังวลอย่างลึกซึ้งและร้ายแรงว่าขีดความสามารถของเรือดำน้ำชั้น Attack Class จะไม่ตรงตามความสนใจเชิงกลยุทธ์ของเรา และเรามีความชัดเจนมากว่าเราจะทำการตัดสินใจตามผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของชาติของเรา” มอร์ริสันกล่าวกับผู้สื่อข่าวในซิดนีย์

ความเห็นของมอร์ริสันมีขึ้นหลังจาก ฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยง รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสใช้ภาษาที่ไม่ประนีประนอมอย่างชัดเจนต่อออสเตรเลีย สหรัฐฯ และอังกฤษ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศฟอร์มกลุ่มข้อตกลงความมั่นคงไตรภาคี AUKUS เมื่อวันพุธที่นำไปสู่การแตกร้าวกับฝรั่งเศสทั้งๆ ที่ AUKUS มุ่งเป้าไปที่จีน

“มีการโกหก การหลอกลวง การละเมิดความไว้วางใจและการดูถูกครั้งใหญ่” เลอ ดริอง บอกกับสถานีโทรทัศน์ France 2 "นี่มันใช้ไม่ได้เลย"

เขาอธิบายถึงการถอนตัวของเอกอัครราชทูตเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ว่าเป็นการกระทำที่ "เป็นสัญลักษณ์มาก" ที่มีจุดมุ่งหมาย "เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่พอใจเพียงใดและมีวิกฤตร้ายแรงระหว่างเรา"

สัญญาของฝรั่งเศสในการจัดหาเรือดำน้ำธรรมดาให้กับออสเตรเลียมีมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (36,500ล้านดอลลาร์หรือ 31,000 ล้านยูโร) เมื่อลงนามในปี 2016

มอร์ริสันกล่าวว่าเขาเข้าใจความผิดหวังของฝรั่งเศส แต่เสริมว่า "ผมไม่เสียใจที่ตัดสินใจให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของชาติออสเตรเลียเป็นอันดับแรก ไม่มีวันเสียใจเป็นอันขาด"

ขณะที่ออสเตรเลียเดินหน้าโจมตีต่อการตัดสินใจดังกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ปีเตอร์ ดัทตัน ยืนยันว่ารัฐบาลออสเตรเลีย "ตรงไปตรงมา เปิดกว้าง และซื่อสัตย์" กับรัฐบาลฝรั่งเศสเกี่ยวกับข้อกังวลของตนเกี่ยวกับข้อตกลงนี้

ไซมอน เบอร์มิงแฮม รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของออสเตรเลีย กล่าวว่า ประเทศของเขาได้แจ้งรัฐบาลฝรั่งเศส “โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะมีได้ ก่อนที่มันจะเผยแพร่สู่สาธารณะ”

“เราไม่ได้ดูถูกดูแคลนความสำคัญในตอนนี้ของ... สร้างความมั่นใจว่าเราได้สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรัฐบาลฝรั่งเศสและคู่สัญญาในอนาคตอันยาวนาน” เขากล่าวเสริม "เพราะการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้มีความสำคัญ"

ตัวโหนกระแส

เลอ ดริยง ให้คำตอบที่แสนเจ็บปวดต่อคำถามที่ว่าทำไมฝรั่งเศสถึงไม่เรียกตัวเอกอัครราชทูตประจำสหราชอาณาจักรกลับประเทศ เพราะสหราชอาณาจักรก็เป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาความมั่นคง AUKUS

“เราได้เรียกเอกอัครราชทูตของเรากลับมา (จากแคนเบอร์ราและวอชิงตัน) เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง กับสหราชอาณาจักร ไม่จำเป็น เรารู้ดีว่าพวกเขาฉวยโอกาสอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องนำเอกอัครราชทูตของเรากลับมาอธิบาย” เขากล่าว

เกี่ยวกับบทบาทของลอนดอนในสนธิสัญญาภายใต้การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน เลอ ดริยงเสริมด้วยการเยาะเย้ยว่า "ทั้งหมดทั้งมวลแล้วสหราชอาณาจักรเหมือนเป็นแค่ตัวประกอบ"

นาโตจะต้องคำนึงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะที่พิจารณากลยุทธ์ในการประชุมสุดยอดที่มาดริดในปีหน้า เขากล่าวเสริม

ตอนนี้ฝรั่งเศสจะให้ความสำคัญกับการพัฒนากลยุทธ์ความมั่นคงของสหภาพยุโรปเมื่อเข้ารับตำแหน่งประธานของกลุ่มเมื่อต้นปี 2022 เขากล่าว

พลเรือเอก ร็อบ ยาวเออร์ ประธานคณะกรรมการการทหารของ NATO ได้กล่าวถึงผลกระทบเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยกล่าวว่าไม่น่าจะมีผลกระทบต่อ "ความร่วมมือทางทหาร" ภายในพันธมิตร

แทงข้างหลัง

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐได้ประกาศจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศระหว่างออสเตรเลีย-สหรัฐฯ-อังกฤษ ซึ่งถูกมองว่าเป็นพันธมิตรเพื่อต่อต้านการผงาดของจีน

AUKUS จะส่งมอบเทคโนโลยีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของอเมริกาไปยังออสเตรเลีย เช่นเดียวกับการป้องกันทางไซเบอร์ ใช้ปัญญาประดิษฐ์และความสามารถใต้ทะเล

เลอ ดริยงชี้ว่ามันเป็น "การแทงข้างหลัง" และกล่าวว่าพฤติกรรมของรัฐบาลไบเดนนั้นเทียบได้กับพฤติกรรมของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันในนโยบายทำให้พันธมิตรยุโรปไม่พอใจมาเป็นเวลานาน

ความขัดแย้งดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดความแตกแยกในพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของอเมริกา และสั่นคลอนความหวังที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างปารีสและวอชิงตันภายใต้รัฐบาลไบเดนหลังจากเสื่อมโทรมลงในยุคโดนัลด์ ทรัมป์

เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่ "แน่วแน่" ของสหรัฐฯ ในการเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส

“เราหวังว่าจะหารือเกี่ยวกับปัญหานี้ในระดับอาวุโสต่อไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า รวมถึงที่ UNGA ในสัปดาห์หน้า” เขากล่าว โดยอ้างถึงสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งทั้ง เลอ ดริยง และรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน จะเข้าร่วม

ออสเตรเลียยังไม่แยแสต่อความโกรธเกรี้ยวของจีนต่อการตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ดังกล่าว ขณะที่ให้คำมั่นว่าจะปกป้อง "หลักนิติธรรม" ในน่านฟ้าและน่านน้ำที่จีนอ้างสิทธิเหนือพื้นที่นั้นๆ

รัฐบาลจีนระบุว่าว่าพันธมิตรใหม่เป็นภัยคุกคามที่ "ขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง" ต่อเสถียรภาพในภูมิภาค โดยตั้งคำถามถึงความมุ่งมั่นของออสเตรเลียในการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และเตือนพันธมิตรตะวันตกว่าพวกเขาเสี่ยงที่จะ "ทำปืนลั่นยิงใส่ตัวเอง"

AFP PHOTO / POOL