posttoday

เปิดเบื้องหลังดีลเรือดำน้ำ AUKUS หักเหลี่ยมฝรั่งเศส

18 กันยายน 2564

สหรัฐกับออสเตรเลียซุ่มหารือแผนสร้างเรือดำน้ำแบบลับๆ โดยที่พันธมิตรและคู่สัญญาอย่างฝรั่งเศสไม่ระแคะระคายจนนาทีสุดท้าย

หลังจากผู้นำสหรัฐ ออสเตรเลีย และอังกฤษ ประกาศจัดตั้งพันธมิตรอินโด-แปซิฟิก AUKUS ซึ่งทำให้ออสเตรเลียได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยัเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จากสหรัฐและอังกฤษ ส่งผลให้สัญญาต่อเรือดำน้ำมูลค่ากว่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐที่ทำไว้กับฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2016 ต้องยกเลิกไป ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสก็สั่งเรียกทูตในสหรัฐและออสเตรเลียกลับประเทศทันที

การตอบโต้ของมาครงสร้างความตกตะลึงและไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และยังเกิดในวันเดียวกับที่สหรัฐและฝรั่งเศสกำลังจะจัดงานกาลาฉลองความเป็นพันธมิตรที่มีมายาวนาน

บทความของ The New York Times ระบุว่า ความไม่พอใจของฝรั่งเศสเกิดจากการที่ฝรั่งเศสเพิ่งรู้ในนาทีสุดท้ายว่าพันธมิตรใกล้ชิดทั้งสองประเทศเจรจาเรื่องเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แบบลับๆ มาหลายเดือนแล้ว

เจ้าหน้าที่สหรัฐและอังกฤษให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ว่า รัฐบาลออสเตรเลียเข้าหารัฐบาลใหม่ของสหรัฐหลังจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน เข้าพิธีสาบานตน และบอกว่าได้ข้อสรุปแล้วว่าจะถอนตัวจากสัญญาจัดสร้างเรือดำน้ำ 12 ลำกับฝรั่งเศส

ออสเตรเลียกังวลว่า เมื่อถึงเวลาส่งมอบ เรือดำน้ำแบบธรรมดาของฝรั่งเศสจะล้าสมัย และยังแสดงความสนใจว่าต้องการเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่เงียบกว่าแบบของสหรัฐและอังกฤษที่สามารถปฏิบัติการในทะเลจีนใต้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตรวจจับได้

แต่ตอนนั้นยังไม่ชัดเจนว่าออสเตรเลียจะยกเลิกสัญญากับฝรั่งเศสอย่างไร เนื่องจากสัญญานี้งบประมาณบานปลายและล่าช้าไปแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐเผยว่า “พวกเขาบอกเราว่าจะคุยกับฝรั่งเศสเอง”

เจ้าหน้าที่เผยว่า ขณะที่ฝั่งออสเตรเลียไม่เคยบอกกล่าวกับฝรั่งเศสเลยไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ ว่ากำลังจะยกเลิกสัญญาที่ต้องใช้เวลาในการเจรจาถึง 3 ปี

และในการพบปะหารือกับฝรั่งเศสหลายต่อหลายครั้ง บางครั้งมีไบเดนและ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐร่วมด้วย สหรัฐไม่เคยบอกกล่าวฝรั่งเศสว่าจะเข้ามาช่วยออสเตรเลียต่อเรือดำน้ำเลยเช่นกัน

ผู้ช่วยระดับสูงของไบเดนเพิ่งจะพูดคุยกับฝรั่งเศสเรื่องเรือดำน้ำไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่สหรัฐ อังกฤษ และออสเตรเลียจะประกาศเปิดตัว AUKUS โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐคนแรกที่หารือรายละเอียดเรื่องนี้กับ ฟิลิปเป เอเตียง ทูตฝรั่งเศสประจำสหรัฐคือ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสหรัฐ

ผลก็คือ เกิดการละเมิดความไว้วางใจกับหนึ่งในพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดอย่างฝรั่งเศส

สุดท้ายแล้ว การตัดสินใจของไบเดนเป็นผลมาจากการดีดลูกคิดสุดโหดซึ่งเกิดขึ้นโดยที่พันธมิตรฝ่ายหนึ่งถูกเลือกแล้วว่ามีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้นำประเทศและนักการทูตไม่เคยยอมรับในที่สาธารณะ และยังเป็นสัญญาณว่า เมื่อไบเดนเริ่มนำสิ่งที่รัฐบาลโอบามาเมื่อ 12 ปีก่อนเรียกว่า “มุ่งสู่เอเชีย” มาใช้ ก็มีความเสี่ยงที่จะเหยียบกับระเบิดทางการเมือง เนื่องจากพันธมิตรเก่าแก่ในยุโรปรู้สึกว่าถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ริชาร์ด ฟอนเทน ซีอีโอ Center for a New American Security มองว่า เป็นไปไม่ได้ที่สหรัฐจะมุ่งไปยังเอเชียโดยไม่ทิ้งที่อื่น เพราะทรัพยากรทางทหารมีจำกัด การเพิ่มทรัพยากรในพื้นที่หนึ่งจึงหมายความว่าต้องลดในอีกที่หนึ่ง

และเห็นได้ชัดว่ายังหมายถึงการปิดบังพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดด้วย

เจ้าหน้าที่สหรัฐเผยว่า ในช่วงที่รัฐบาลไบเดนเริ่มหารืออย่างจริงจังกับออสเตรเลียและอังกฤษเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ใหม่ที่จะใช้งัดข้อกับจีนนั้น สัญญาต่อเรือดำน้ำ 12 ลำระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรเลียเริ่มสั่นคลอนแล้ว เนื่องจากเรือดำน้ำของฝรั่งเศสมีเทคโนโลยีการขับเคลื่อนที่จำกัด และง่ายต่อการถูกตรวจจับโดยจีน ซึ่งกว่าเรือดำน้ำลำแรกจะได้ลงน้ำ (อาจนานถึง 15 ปีนับจากนี้) ก็ล้าสมัยไปแล้ว

เจ้าหน้าที่ที่รับทราบการหารือระหว่างสหรัฐและออสเตรเลียเผยว่า ตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับออสเตรเลียคือ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่สหรัฐและอังกฤษใช้อยู่ แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐและออสเตรเลียเห็นตรงกันว่า หากฝรั่งเศสรู้ว่าสัญญาทางทหารที่มีมูลค่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของตัวเองกำลังจะถูกฉีก ฝรั่งเศสจะต้องพยายามขัดขวางทางเลือกใหม่ของออสเตรเลียแน่นอน

ดังนั้นสหรัฐและออสเตรเลียจึงตัดสินใจให้เจ้าหน้าที่ของแต่ละฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยที่สุดและเลือกที่จะไม่บอกฝรั่งเศสแม้แต่ในตอนนี้ไบเดนกับบลิงเคนพบกับผู้นำฝรั่งเศสและรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

ระหว่างที่ไบเดนพูดคุยกับมาครงในการประชุมที่เมืองคอร์นวอลล์ของอังกฤษเมื่อเดือน มิ.ย. ก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องเรือดำน้ำ (ไบเดน นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ และนายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย หารือกันในวันเดียวกัน และพูดถึงการกระชับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างทั้งสามประเทศเพื่อตอบสนองกับสภาพแวดล้อมทางทหารที่เปลี่ยนไปในอินโด-แปซิฟิก)

ฝั่งฝรั่งเศสยืนยันว่า 3 วันต่อมามอร์ริสันพบกับมาครงแต่ไม่ได้เอ่ยถึงการทบทวนเรื่องสัญญาต่อเรือดำน้ำ

และจากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส บลิงเคนก็ปิดปากเงียบระหว่างที่พบกับ ฌอง อีฟ เลอ ดริยง รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ฝรั่งเศส

และล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสและออสเตรเลียเข้าร่วมการประชุมปรึกษาประจำปี ทั้งสองประเทศยังออกแถลงการณ์ร่วมที่ระบุว่า ทั้งสองประเทศมุ่งมั่นที่จะกระชับความร่วมมือในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศและเน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงการเรือดำน้ำ

ในขณะนั้น ไม่เพียงแต่ออสเตรเลียจะรู้แก่ใจว่าสัญญานี้ต้องถูกยกเลิกเท่านั้น แต่ออสเตรเลียยังเกือบจะรับรองข้อตกลงในหลักการกับสหรัฐและอังกฤษอยู่แล้ว

ฝรั่งเศสจึงรู้สึกว่าตัวเองถูกพัธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดหักหลัง

REUTERS/Kevin Lam, Photo by Rohan THOMSON / AFParque, Photo by Yoan VALAT / POOL / AFP