posttoday

สหรัฐ-อังกฤษ-ออสซี่ตั้งพันธมิตรอินโดแปซิฟิกสู้จีน

16 กันยายน 2564

3 ประเทศนำโดยสหรัฐจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิก และจะช่วยออสเตรเลียสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์

ผู้นำสหรัฐ อังกฤษ และออสเตรเลียแถลงร่วมกันหลังหารือทางไกลว่า ทั้ง 3 ประเทศจะจัดตั้งพันธมิตรด้านความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิก ซึ่งจะทำให้ออสเตรเลียได้รับความช่วยเหลือในการต่อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ด้วย ในขณะที่อินธิพลของจีนในภูมิภาคนี้กำลังแผ่ขยาย

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน กล่าวว่า “เรากำลังก้าวไปสู่ประวัติศาสตร์อีกก้าวหนึ่งเพื่อสร้างความร่วมมือที่ลึกซึ้งและเป็นทางการระหว่างทั้งสามประเทศ เนื่องจากเราทุกคนตระหนักดีถึงความจำเป็นในการสร้างสันติภาพและความมั่นคงในอินโดแปซิฟิกในระยะยาว...เพราะอนาคตของทั้ง 3 ประเทศทั้งโลกขึ้นอยู่กับความเสรีและเปิดกว้างของอินโด-แปซิฟิก ยั่งยืนและเฟื่องฟูในทศวรรษหน้า”

นายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลียกล่าวว่า ออสเตรเลีย “จะไม่สะสมอาวุธนิวเคลียร์ และจะเดินหน้าปฏิบัติตามพันธสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลยร์”

นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสันของอังกฤษกล่าวว่า “เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญสำหรับประเทศใดๆ ก็ตามที่จะได้มาซึ่งความสามารถที่น่าเกรงขามในการครอบครองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ และสำคัญเท่าๆ กันสำหรับประเทศอื่นๆ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือ”

ด้านเจ้าหน้าที่รายหนึ่งของรัฐบาลไบเดนเผยว่า กลุ่มพันธมิตรที่มีชื่อว่า "AUKUS" ที่มาจากชื่อของทั้ง 3 ประเทศ ไม่ได้พุ่เป้าไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นการส่งเสริมผลประโยชน์เชิงกลยุทธ์ของกลุ่ม รักษาระเบียบตามกฎสากล และส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในอินโด-แปซิฟิก

โครงการแรกคือ การหารือความเป็นไปได้ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้ออสเตรเลีย โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐเน้นย้ำว่าไม่เกี่ยวข้องกับการจัดหาอาวุธนิวเคลียร์แก่ออสเตรเลีย เรือดำน้ำเหล่านี้จะไม่ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ แต่เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จะช่วยให้กองทัพเรือออสเตรเลียปฏิบัติการใต้น้ำได้ยาวนานขึ้น เงียบขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดีลสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ดังกล่าวส่งผลให้สัญญาต่อเรือดำน้ำ 12 ลำ มูลค่าราว 66,000 ล้านเหรียญสหรัฐที่ออสเตรเลียทำไว้กับ Naval Group บริษัทต่อเรือของกองทัพเรือฝรั่งเศสเมื่อปี 2016 สิ้นสุดลง สร้างความไม่พอใจให้ฝั่งฝรั่งเศส

ฌอง อีฟ เดอ ดริยอง รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสและโฟลฮงซ์ ปาลี รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมออกแถลงการณ์ร่วมว่า “ทางเลือกของสหรัฐที่ผลักดันพันธมิตรยุโรปและหุ้นส่วนอย่างฝรั่งเศสออกจากการเป็นหุ้นส่วนกับออสเตรเลียในเวลาที่เรากำลังเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก...แสดงให้เห็นถึงการขาดความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ซึ่งฝรั่งเศสทำได้เพียงยอมรับและเสียใจ”

ด้านจีนแสดงท่าทีคัดค้านความร่วมมือนี้เช่นกัน หลิวเผิงอวี่ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงวอชิงตันดีซีเผยว่า สหรัฐ อังกฤษ และออสเตรเลียไม่ควรสร้างกลุ่มเฉพาะที่พุ่งเป้าหรือเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของประเทศที่สาม ทั้ง 3 ประเทศควรสลัดความคิดและอคติทางอุดมการณ์ทิ้งเสียก่อน

Photo by Brendan Smialowski / AFP