posttoday

ที่มาของ ‘ชฎา’ มาจากทรงผมของมุนีในอินเดีย

12 กันยายน 2564

จากความสนใจเรื่อง ‘ชฎา’ หรือศิราภรณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ยังไม่มีใครอธิบายลงลึกว่า ‘ชฎา’ มาจากไหน และมีจุดประสงค์อะไร นี่คือคำตอบ

ผู้เขียนเคยสงสัยมานานว่าทำไม ทรงผมของรูปพระโพธิสัตว์หรือเทวรูปโบราณบางองค์ถึงไว้ทรงเดรดล็อก (Dreadlocks) คือทำผมยาวเป็นเกลียวหลอด บางองค์ก็รวบให้เรียบร้อย บางองค์ก็ปล่อยรุงรังจนน่ายำเกรง (เช่นรูปพระวัชรปาณีซึ่งเป็นโพธิสัตว์สายบู๊) ส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมจากสมัยศตวรรษที่ 6 - 8 อะไรทำนองนี้

เก็บความสงสัยไว้นานปี เพิ่งจะมีอุตสาหะค้นคำตอบมาได้

ทรงผมแบบนี้เป็นทรงเดรดล็อกจริงๆ ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า "ชัฏ"  แปลว่าผมม้วนเกลียวหรือผมยาวๆ ที่ถูกปั้นเป็นก้อน คำว่า "ชัฏ" ความหมายคล้ายๆ กับคำไทย (ที่ยืมแขกมาอีกที) แปลว่ารก หรือกระเซิง เช่นป่าชัฏ

เจตนาของการไว้ทรงชัฏก็เพื่อปล่อยวางจากความยึดติดในรูปกาย เริ่มจากปล่อยผมให้ยาวไม่ตัด ไม่แยแสอะไรทั้งสิ้น แสดงถึงการสละทางโลก ครั้นไม่ดูแลนานๆ เข้าผมก็เริ่มเป็นสังกะตัง อย่างแย่ๆ ก็เป็นก้อน อย่างดีก็เป็นเกลียว ในขั้นนี้แสดงถึงสภาวะความเป็นมุนี

พอยาวมากๆ หรือเวลาจะประกอบพิธีที่เข้มขลัง มุนีจะรวบผมชัฏเป็นมวยให้เรียบร้อยดูคล้ายกับมงกุฏ เรียกว่า ชฏามกุฏ

"ชฏามกุฏ" นี่เองที่เป็นต้นของมงกุฏประเภท "ชฏา" เดิมนั้นคงเป็นเครื่องประดับศีรษะที่มีนัยทางศาสนา แต่เดี๋ยวนี้คนลืมความหมายกันหมดแล้ว

ที่มาของ ‘ชฎา’ มาจากทรงผมของมุนีในอินเดีย

ชฏานั้นมักทำยอดให้ปัดไปด้านหลัง เลียนแบบมุนีที่เกล้ามวยเดรดล็อกแล้วปลายมวยไม่ตั้งแต่จะน้อมลงไปด้านหลัง ดังรูปพระโพธิสัตว์บางองค์ผมสั้นก็มียอดน้อมไปแค่นิดเดียวเหมือนชฏาจริงๆ แต่บางองค์ปลายผมยาวจนห้อยลงมาถึงไหล่

ผมทรงชัฏนี้ศาสนาพุทธมิได้เป็นเจ้าของ แต่เป็นทรงของพระอิศวรในศาสนาพระเวทมาแต่เดิม เหตุเพราะพระอิศวรเป็นมุนี ถือพรต ปล่อยผมไม่สนใจความสวยงาม ทากายด้วยขี้เถ้าคนตาย พวกมุนีไศวะนิกายสมัยนี้ก็ยังแต่งตัวเหมือนพระอิศวร

ส่วนในศาสนาพุทธเน้นโกนผมทิ้ง (เหมือนไวษณพนิกายของสายพระเวท) ต่อมาเกิดสำนักมหายานขึ้น เน้นวิถีโพธิสัตว์ จึงแต่งองค์พระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ได้ผนวชให้เป็นกึ่งมุนีกึ่งฆราวาส ไว้ทรงชัฏแต่แต่งผมให้เรียบร้อย

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงทรงชัฏมันรวบลำบาก โยคีสายพุทธในทิเบต (งักปะ) เดี๋ยวนี้ยังไว้ทรงชัฏอยู่โพธิสัตว์กันอยู่ เพื่อแสดงความไม่ยึดติดทางโลก ถามว่าทำไมไม่โกนผมเสียเล่า ตอบว่า ถ้าโกนจะเหมือนพระสงฆ์เกินไป (โยคียังเป็นคฤหัสถ์) อีกอย่างการปล่อยผมให้เป็นก้อนสังกะตังมันแสดงถึงความไม่แยแสต่อรูปกายได้ชัดเจนกว่า ไม่ต้องเสียเวลามาโกนหรือหามีดโกนให้วุ่นวาย

ท่านฌับกัร โยคีท่านหนึ่งของทิเบตกล่าวว่า ไว้ทรงชัฏทำให้คนมองแปลกๆ พอคนแหยงๆ ก็ไม่เลื่อมใส พอไม่เลื่อมใสก็ไม่มีลาภสักการะ พอไม่มีลาภสักการะก็ไม่มีของสะสมให้รุงรัง พอไม่มีของรุงรังก็ปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้า พอปฏิบัติก้าวหน้าจึงบรรลุได้

ผิดกับบ้านเมืองเราตอนนี้ เห็นมุนีแปลกๆ เข้าหน่อยวิ่งเข้าหา ลาภสักการะบานตะไท

ที่มาของ ‘ชฎา’ มาจากทรงผมของมุนีในอินเดีย

ป.ล. 

จากสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา เล่มที่ 6 ซึ่งน่าจะมีอายุถึงอยุธยาตอนกลาง จะเห็นว่าลอมพอกมีลักษณะปลายตัดแบบชฏามุนี/ฤษีมาก่อน ต่อมาปลายถูกรวบแล้วดึงให้แหลมขึ้นในสมัยพระนารายณ์ลงมา

มีทฤษฎีที่เสนอหันมานานว่าลอมพอกได้รับอิทธิพลจากผ้าม้วนศีรษะอย่งแขกเปอร์เซียแล้วไทยรับมาโดยดึงผ้าให้สูงขึ้น แต่จากลักษณะที่รากฏในตำราไตรภูมิแบบนี้ไม่ควรบอกว่าลอมพอกได้อิทธิพลมาจากเปอร์เซีย เพราะมันน่าจะมาจากเครื่องสวมศีรษะของมุนีมากกว่า ดีไม่ดีจะเลียนแบบกีรติมกุฏ ซึ่งเป็นมงกุฏแบบกระบอกของพระราชาธิราชในอินเดียผสมกับชฏามกุฏของพวกนักพรต ไม่ได้มีเค้าผ้าโพกแบบเปอร์เซียเลย มิพักจะกล่าวว่า กว่าอยุธยาจะคบหากับเปอร์เซียก็ล่วงเข้าสมัยพระนารายณ์แล้ว และผ้าโพกเปอร์เซียไม่ได้คล้ายลอมพอกเอาเลย แม้จะอ้างว่าไทยดัดแปลงให้ยอดแหลม ก็ดูจะข้ามขั้นวิวัฒนาการไปหน่อย

โปรดดูลักษณะของพระชฎามหากฐินและชฎาพระกลีบเอาเถิด ว่าคล้ายลอมพอกในภาพหรือไม่ แต่ก็ยังมีผู้บอกว่าลอมพอกนี่แหละได้มาจากชฏา ผู้เขียนกลับคิดว่า ชฏาไทยนั้นเลียนแบบลอมพอกของมุนีมาก่อนดังภาพ จากนั้นค่อยวิวัฒนาการเป็นลอมพอกแหลม แล้วกลายเป็นชฎาในบั้นปลาย

โดย กรกิจ ดิษฐาน