posttoday

เมื่อเรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษหนุนญี่ปุ่น จ่อคอหอยจีน

12 กันยายน 2564

การมาถึงของ HMS Queen Elizabeth (R08) คือสัญญาณอันตรายที่อาจทำให้ความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชีย (หรืออินโด) แปซิฟิกรุนแรงขึ้่น

1. ร.ล.ควีนเอลิซาเบธ (HMS Queen Elizabeth หรือ (R08) เป็นเรือนำของเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นควีนอลิซาเบธและเรือประจำกองทัพเรือของราชนาวี สามารถบรรทุกเครื่องบินได้ 60 ลำ ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เรือ HMS Queen Elizabeth สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งสองลำตั้งชื่อตามพระนามของสมเด็จพระราชินีควีนเอลิซาเบธ ที่ 1

2. ควีนเอลิซาเบธจะประจำการเป็นส่วนสำคัญของกองเรือ UK Carrier Strike Group โดยขณะประจำการแล้วเรือจะประกอบด้วยเรือคุ้มกันและเรือสนับสนุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการแสดงแสนยานุภาพนอกประเทศ หรือ Power projection

เมื่อเรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษหนุนญี่ปุ่น จ่อคอหอยจีน

3. Power projection คือหนึ่งในจุดประสงค์ของสหราชอาณาจักรที่หวังจะกลับมาเป็นมหาอำนาจอันดับต้นๆ อีกครั้ง และกองเรือ UK Carrier Strike Group คือเครื่องมือในการแสดงแสนยานุภาพนอกประเทศของสหราชอาณาจักรนั่นเอง และปฏิบัติการล่าสุดคือ United Kingdom Carrier Strike Group 21 หรือ CSG21

4. CSG21 ถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความโน้มเอียงที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกในแง่ของการป้องกันประเทศและนโยบายต่างประเทศ และเป็นครั้งแรกที่เรือบรรทุกเครื่องบินชั้นควีนอลิซาเบธมาร่วมในกองเรือนี้ และ CSG21 ถูกเรียกว่าเป็น "แสนยานุภาพทางทะเลและทางอากาศที่เข้มข้นที่สุดที่จะเดินทางออกจากสหราชอาณาจักรในยุคสมัยนี้"

เมื่อเรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษหนุนญี่ปุ่น จ่อคอหอยจีน

5. CSG21 มีเป้าหมายที่ยั่วยุจีนอย่างชัดเจน ในเดือนเมษายน 2021 ได้เคลื่อนมาทำการฝึกกับกองทัพเรืออินเดียในมหาสมุทรอินเดีย ก่อนจะเทียบท่าชั่วคราวฐานทัพเรืออังกฤษในสิงคโปร์ จากนั้นได้เข้าสู่พื้นที่พิพาททะเลจีนใต้เพื่อย้ำถึง "เสรีภาพในการเดินเรือ" ในพื้นที่

6. หลังจากแวะร่วมซ้อมรบกับพันธมิตรในภูมิภาคมาระยะหนึ่ง สัปดาห์นี้ เรือบรรทุกเครื่องบิน ร.ล. ควีนเอลิซาเบธเดินทางถึงท่าเรือไของญี่ปุ่นแล้ว ในภารกิจที่เพิ่มแรงกดดันต่อจีนโดยรวมพลังญี่ปุ่น สหรัฐฯ และพันธมิตร เพื่อแสดงแสนยานุภาพทางทะเลในภูมิภาคอย่างชัดเจนมากขึ้น

เมื่อเรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษหนุนญี่ปุ่น จ่อคอหอยจีน

7. “การเทียบท่าที่ท่าเรือญี่ปุ่นโดยกองเรือโจมตีอังกฤษ และการซ้อมรบร่วมกันแสดงถึงเจตนารมณ์ของทั้งสองประเทศของเรา” โนบุโอะ คิชิ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นกล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ฐานทัพ Yokosuka ซึ่งเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐคือ USS Ronald Reagan เทียบท่าอยู่ด้วย

8. “ความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศระหว่างญี่ปุ่นกับสหราชอาณาจักรไม่เพียงแต่มีส่วนทำให้เกิดความมั่นคงของประเทศของเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสันติภาพและเสถียรภาพของอินโดแปซิฟิกและประชาคมระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็จัดการกับปัญหาระดับโลกด้วย”

เมื่อเรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษหนุนญี่ปุ่น จ่อคอหอยจีน

9. คำกล่าวของคิชิไม่ได้เอ่ยถึงจีน แต่มันสะท้อนไปยังจีนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังรัฐบาลญี่ปุ่นแสดงจุดยืนชัดเจนว่าหากไต้หวันถูกโจมตี (โดยจีน) ญี่ปุ่นจะเข้าช่วยเหลือ และหลังจากนั้นพัธมิตรของสหรัฐก็แสดงจุดยืนในลักษณะเดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ

10. ในเอกสารยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศฉบับล่าสุดของญี่ปุ่น ระบุว่าจีนเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงแห่งชาติที่สำคัญ และกล่าวว่ามี "ความตระหนักถึงวิกฤต" เกี่ยวกับไต้หวันในขณะที่กิจกรรมทางทหารของจีนรอบๆ ไต้หวันทวีความรุนแรงมากขึ้น

11. ในเดือนกรกฎาคม บทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ Global Times ของรัฐบางจีนเตือนว่าจีนอาจจำเป็นต้องตอบโต้กองเรือรบ

โดยกล่าวถึงสหราชอาณาจักรและกองกำลังจู่โจมพันธมิตรโดยเฉพาะ ระบุว่า "เราขอเตือนกลุ่มนี้อย่างจริงจังว่า พวกเขาจำเป็นต้องถูกควบคุมและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์"

12. กระทรวงกลาโหมของอังกฤษกล่าวในขณะนั้นว่า การส่งกำลังดังกล่าวเป็นการแสดง "มั่นใจแต่ไม่ใช่การเผชิญหน้า" ขณะที่ พลเรือจัตวาสตีฟ มัวร์เฮาส์ กล่าวในการบรรยายสรุปเมื่อ ร.ล.ควีนเอลิซาเบธ เดินทางถึงญี่ปุ่นว่า “จุดประสงค์ประการหนึ่งของภารกิจนี้คือเพื่อส่งสัญญาณการเริ่มต้นของความมุ่งมั่น ความโดดเด่นของภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก"

Photo by - / Royal Navy / AFP