posttoday

วิจัยเผย Sinovac เข็ม 3 เพิ่มภูมิต้านเดลตา 2.5 เท่า

07 กันยายน 2564

การศึกษาล่าสุดจากจีนชี้ฉีด Sinovac เข็ม 3 ช่วยกระตุ้นแอนติบอดีต่อเชื้อเดลตาได้ 2.5 เท่าของเข็ม 2

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานโดยอ้างถึงผลการศึกษาจากสถาบันวิทยาศาสตร์จีน มหาวิทยาลัยฟูตัน เมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งจัดทำร่วมกับบริษัท Sinovac และสถาบันอื่นๆ ในประเทศจีน เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac ในการต่อสู้กับโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาเมื่อมีการฉีดวัคซีนเป็นเข็มที่ 3

ทีมวิจัยได้ทำการเก็บตัวอย่างจากผู้เข้าร่วม 66 คนและอาสาสมัคร 38 คนที่ได้รับวัคซีน 2 หรือ 3 โดส พบว่าเมื่อฉีดวัคซีน Sinovac เข็มที่ 2 ไปแล้ว 6 เดือน ไม่พบการทำงานของแอนติบอดีที่จะสามารถต้านทานโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา

แต่หากกระตุ้นด้วยการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 พบว่าสามารถเพิ่มแอนติบอดีต่อเชื้อเดลตาได้ถึง 2.5 เท่า หลังฉีดเข็มที่ 3 ไปแล้วประมาณ 4 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับระดับแอนติบอดีที่พบหลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ไปแล้ว 4 สัปดาห์เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวไม่ได้ระบุชัดเจนว่าระดับแอนติบอดีที่เพิ่มขึ้นนั้นมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนในการต่อต้านไวรัส หรือช่วยลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยอาการหนักหรือเสียชีวิตได้หรือไม่

โดยก่อนหน้านี้ทางผู้ผลิตวัคซีนยังไม่เคยเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนดังกล่าวในการต่อต้านโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา

ผลการศึกษาเกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนดังกล่าวในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาซึ่งมีศักยภาพในการแพร่ระบาดสูงอันเป็นที่น่าวิตกกังวลของทั่วโลก เนื่องจากส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ แม้ในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูง

โดยหลายประเทศที่พึ่งพาวัคซีน Sinovac เป็นหลักเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนอื่นๆ ที่พัฒนาโดยชาติตะวันตกเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 ให้แก่ประชาชนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) วางแผนที่จะส่งมอบวัคซีน Sinovac และ Sinopharm ประมาณ 100 ล้านโดสไปยังแอฟริกาและเอเชียภายในสิ้นเดือนนี้ โดยเป็นการส่งมอบวัคซีนที่ผลิตโดยประเทศจีนครั้งแรกผ่านโครงการ COVAX

ขณะที่บางประเทศปฏิเสธรับวัคซีนดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าวัคซีนขาดข้อมูลด้านประสิทธิภาพในการต่อต้านโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา

Photo by SONNY TUMBELAKA / AFP