posttoday

Ota Benga มนุษย์ที่ถูกจับมาแสดงใน "สวนสัตว์มนุษย์"

06 กันยายน 2564

ครั้งหนึ่งซึ่งคนขาวจับคนดำมาทำเป็นสิ่งจัดแสดงในสวนสัตว์ มันเริ่มต้นอย่างขมขื่นและจบลงอย่างเจ็บปวด

โอตา เบงกา (Ota Benga ) เคยมีชีวิตที่เรียบง่าย เขาเป็นสมาชิกของชนเผ่ามบูติ (Mbuti) ในป่าเส้นศูนย์สูตรใกล้แม่น้ำคาไซ ในรัฐอิสระคองโกในขณะนั้น

แต่วันหนึ่งเผ่าของเขาถูกโจมตีโดย Force Publique ซึ่งก่อตั้งโดยกษัตริย์เลโอโปลที่ 2 แห่งเบลเยียมและกองทหารอาสาสมัครเพื่อควบคุมชาวพื้นเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นแรงงานอย่างเอารัดเอาเปรียบเพื่ออุตสาหกรรมยางพาราในคองโก และเงินนั้นก็เข้ากระเป๋าของกษัตริย์เลโอโปลที่ 2 หนึ่งในผู้ที่ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่าเป็นผู้มีส่วนกับการเข่นฆ่าและขูดรีดแอฟริกาอย่างเลวร้ายที่สุดคนหนึ่ง

ภรรยาของเบงกาและลูกสองคนถูกฆ่าตาย เขารอดชีวิตมาได้เพราะเขาออกไปเดินทางล่าสัตว์ขณะที่Force Publique โจมตีหมู่บ้านของเขา แต่ภายหลังเขาถูกจับโดยพ่อค้าทาสจนได้

ในปี ค.ศ. 1904 นักธุรกิจและนักสำรวจชาวอเมริกัน ซามูเอล ฟิลลิปส์ เวอร์เนอร์ เดินทางไปแอฟริกา เขาทำสัญญากับผู้จัดงานนิทรรศการนานาชาติแห่งเซนต์หลุยส์ (St. Louis World Fair) เพื่อจับและนำคนแคระปิกมีกลับคืนมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ เวอร์เนอค้นพบเบงกาขณะเดินทางไปเยี่ยมชมหมู่บ้านชาวปิกมีที่ชื่อบัตวา เขาซื้อเบงกาจากพ่อค้าทาสด้วยเกลือหนึ่งปอนด์และผ้าหนึ่งม้วน แม้จะเป็นการค้าทาสเห็นๆ และเป็นสนนราคาที่ต่ำเหลือเชื่อ แต่เวอร์เนอร์ยังบอกว่าเขาได้ช่วยชีวิตเบงก้าจากมนุษย์กินคน

Ota Benga มนุษย์ที่ถูกจับมาแสดงใน "สวนสัตว์มนุษย์"

ก่อนจะเดินทางถึงหมู่บ้านบัตวา ทั้งสองใช้เวลาอยู่ด้วยกันหลายสัปดาห์จนคุ้นเคยกัน เมื่อถึงหมู่บ้านบัตวา ชาวบ้านแสดงอาการรังเกียจ "มูซังกู" (ชายผิวขาว") จนเวอร์เนอร์ไม่สามารถจ้างชาวบ้านคนใดให้เข้าร่วมกับเขาเพื่อเดินทางไปสหรัฐอเมริกาได้ จนกระทั่งเบงกากล่าวว่ามูซังกูช่วยชีวิตเขาไว้ และพูดถึงความสัมพันธ์ดีที่ะรหว่างกัน ชาวบ้านจึงคลายใจลง และมีชาย 4 คนตัดสินใจไปกับพวกเขาในที่สุด เวอร์เนอร์ยังคัดเลือกชาวแอฟริกันคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวปิกมีด้วย เป็นชาย 5 คนจากบาคูบา รวมทั้งลูกชายของกษัตริย์นดอมเบ ผู้ปกครองของบาคูบา เป็นต้น ทั้งหมดจะเดินทางไปเพื่อเป็น "สิ่งจัดแสง" ในงานเวิลด์แฟร์ที่เซนต์หลุยส์

การจัดแสดงมนุษย์เผ่าพันธุ์อื่นแบบนี้ถูกเรียกว่า "สวนสัตว์มนุษย์" (Human zoo) นิยมทำกันในโลกตะวันตกก่อนที่จะตระหนักกันเรื่องสิทธิมนุษยชาติ

ชาวแอฟริกันกลุ่มนี้ถูกพาไปที่เซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ในปลายเดือนมิถุนายน 1904 โดยไม่มีเวอร์เนอร์ เนื่องจากเขาป่วยด้วยโรคมาลาเรีย ตอนนั้นมีอีกง่นหนึ่งคือนิทรรศการจัดซื้อของรัฐลุยเซียนา (The Louisiana Purchase Exposition) ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และชาวแอฟริกันก็กลายเป็นศูนย์กลางของความสนใจในทันที เบงกาได้รับความนิยมเป็นพิเศษ และชื่อของเขาได้รับการรายงานจากสื่อต่างๆ เขามีบุคลิกที่เป็นมิตร และผู้มาเยี่ยมก็อยากเห็นฟันของเขาที่ถูดตะไบจนแหลมคมตอนที่ยังเยาว์วัยเพื่อเป็นการประดับประดาเชิงพิธีกรรมอย่างหนึ่ง

Ota Benga มนุษย์ที่ถูกจับมาแสดงใน "สวนสัตว์มนุษย์"

เมื่อกลายเป็น "สิ่งของจัดแสดง" ท่ามกลางสายตาของอเมริกัน ชาวแอฟริกันที่เป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการเรียนรู้ที่จะเรียกเก็บเงินสำหรับภาพถ่ายและการแสดง หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งยกย่องเบงกาว่าเป็น "มนุษย์กินคนแอฟริกันแท้เพียงคนเดียวในอเมริกา" และอ้างว่า "[ฟันของเขา] คุ้มกับเงิน 5 เซ็นต์ที่เขาเรียกเก็บสำหรับการแสดงให้ผู้มาเยือนดู"

เมื่อเวอร์เนอร์มาถึงในอีกหนึ่งเดือนต่อมา เขาตระหนักว่าชาวแอฟริกันที่เขามาพามีสภาพเป็นนักโทษมากกว่านักแสดง เมื่อจะมีการนำเสนอคนเหล่านี้ในฐานะนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์ก็ล้มเลิกไปเช่นกัน จนกระทั่งพวกเขาถูกจับให้แสดงการรบกับชนเผ่าอื่นๆ คือพวกอินเดียนแดงที่ถูกนำมาจัดแสดงเช่นกัน กลายเป็นการจัดแสดงความ "ป่าเถื่อน" ที่อุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นและสนองทัศนะคติที่คิดว่า "คนชนเผ่า" ต้องเป็นคนป่าเถื่อนของคนผิวขาวชาวอเมริกัน

หลังจากนั้น เบงกาเดินทางไปกับเวอร์เนอร์เมื่อเขาส่งชาวแอฟริกันคนอื่นๆ กลับคองโก เขาอาศัยอยู่ท่ามที่หมู่บ้านบัตวาชั่วครู่ในขณะที่ยังคงติดตามเวอร์เนอร์ในการผจญภัยในแอฟริกาของเขา เบงกาเขาแต่งงานกับผู้หญิงชาวบัตวา แต่เขาก็ลงหลักปักฐานไม่ได้อีก เพราะภรรยาเสียชีวิตในเวลาต่อมาเพราะถูกงูกัด เบงการู้สึกผิดที่ผิดทางเมื่อยู่ที่บัตวา เขาจึงตัดสินใจกลับมายังสหรัฐพร้อมกับเวอร์เนอร์

Ota Benga มนุษย์ที่ถูกจับมาแสดงใน "สวนสัตว์มนุษย์"

เวอร์เนอร์พา เบงกาไปที่สวนสัตว์บรองซ์ (Bronx Zoo) ที่นิวยอร์ก ในปี 1906 ผู้อำนวยการสวนสัตว์เริ่มจัดแจงให้เบงกาทำงานดูแลกรงขังสัตว์ อย่างไรก็ตามผู้อำนวยการฯ เห็นว่าผู้คนให้ความสนใจเบงกามากกว่าสัตว์ในสวนสัตว์ และในที่สุดเขาก็จัดนิทรรศการเพื่อจัดแสดงเบงกาเสียเลยที่สวนสัตว์ เบงกาได้รับอนุญาตให้เดินเตร่ในพื้นที่ แต่ไม่มีบันทึกว่าเขาเคยได้รับค่าจ้างในการทำงานเป็น "ตัวจัดแสดง" ของสวนสัตว์

เพราะเบงกาสนิทสนมกับลิงอุรังอุตังตัวหนึ่งชื่อ Dohong ทำให้มีการจัดแสดงเขาร่วมกันลิงไปพร้อมๆ กันซึ่งหมายความว่าเขาต้องอยู่ในกรงสัตว์ร่วมกับลิง ยิ่งทำให้สภาพของเขาน่าเวนาขึ้นไปอีก ผู้ที่เสนอแนวคิดนี้คือ เมดิสัน แกรนท์ เลขาธิการสมาคมสัตววิทยาแห่งนิวยอร์ก ผู้กล่อมให้สวนสัตว์นำเบงกามาจัดแสดงร่วมกับลิงที่สวนสัตว์บรองซ์ (ต่อมา แกรนท์กลายเป็นคนมีชื่อเสียงระดับประเทศในฐานะนัก "มานุษยวิทยาทางเชื้อชาติ" และ "สุพันธุศาสตร์" ซึ่งทั้งสองเป็นแนวคิดเหยียดเชื้อชาติที่เชื่อว่าคนเชื้อชาติหนึ่งเหนือกว่าชาติอื่น)

ผู้อำนวยการสวนสัตว์ นำเบงกาไว้ในกรงที่มีลิงชิมแปนซี และยังมีลิงอุรังอุตังชื่อ Dohong และนกแก้วอีกตัว และตั้งชื่อเขาว่า The Missing Link (ความเชื่อมโยงที่ขาดหายไป) ซึ่งบ่งบอกว่าในแง่ของวิวัฒนาการแล้ว ชาวแอฟริกันอย่างเบงกานั้นใกล้ชิดกับลิงมากกว่าชาวยุโรป (ซึ่งถือเป็นการเหยียดและทุกวันนี้ก็ยังมีการเหยียดคนแอฟริกันเป็นลิงในหมู่คนบางกลุ่มในบางประเทศก) มีรายงานว่าประชาชนแห่กันไปชมกันล้นหลาม

Ota Benga มนุษย์ที่ถูกจับมาแสดงใน "สวนสัตว์มนุษย์"

การนำคนแอฟริกันมาร่วมกรงขังสัตว์และยังจัดแสดงเป็นเหมือนสิ่งของหรือสัตว์ทำให้คนแอฟริกัน-อเมริกันรู้สึกหดหู่ใจมาก นักสอนศาสนาชาวผิวดำที่ชื่อ สาธุคุณ เจมส์ เอช. กอร์ดอน บอกว่า "เราคิดว่าเผ่าพันธุ์ของเรามีความหดหู่มากพอแล้ว โดยไม่ต้องเอาคนของเราไปแสดงร่วมกับลิง ... เราคิดว่าเราคู่ควรกับการถูกมองว่าเป็นมนุษย์ที่มีจิตวิญญาณ"

หลังกลายเป็นกรณีโต้เถียงกัน เบงกาจึงได้รับอนุญาตให้ออกจากกรุงและเดินเตร่บริเวณสวนสัตว์ได้ แต่เพราะผู้คนที่มาสวนสัตว์ยังมองเขาเป็น "สัตว์" และยุแหย่เขาทำเขาตอบโต้ทีเล่นทีจริงบ้างและบ้างครั้งค่อนข้างรุนแรง

ในที่สุดสวนสัตว์ก็นำเบงกาออกไป เวอร์เนอร์ไม่ประสบความสำเร็จในการหางานใหม่ๆ แต่ทั้งเบงกาและเวอร์เนอร์ตกลงกันว่าเบงกาควรจะอยู่ในสหรัฐต่อไป แต่ในเวลาต่อมาเบงกาได้ไปอยู่ในความดูแลของสาธุคุณกอร์ดอน ซึ่งหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้เขาและจัดการครอบฟันที่แหลมคมของเขาเสียให้ดูเป็นปกติเหมือนคนอื่นๆ ในสังคม

เบงกาทำงานในโรงงานยาสูบและเริ่มคิดที่จะกลับแอฟริกาบ้านเกิด แต่ในปี ค.ศ. 1914 เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุขึ้น การกลับมายังคองโกจึงเป็นไปไม่ได้เนื่องจากการจราจรทางเรือสิ้นสุดลง เบงการู้สึกหดหู่เมื่อความหวังที่จะกลับไปบ้านเกิดของเขาเลือนรางลง

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 1916 เขาก็ก่อไฟพิธีตามธรรมเนียมชนเผ่า แล้วดึงเอาที่ครอบฟันสัญลักษณ์ของ "อารยธรรมตะวันตก" ออกไป

แล้วยิงตัวเองเข้าที่หัวใจด้วยปืนพกที่ยืมมา จบชีวิตลงเมื่ออายุได้ 32 หรืออาจจะ 33 ปี 

โดย กรกิจ ดิษฐาน