posttoday

กูเกิล ปะทะ จีน : ศึกนี้ใครกำชัยชนะ

15 มกราคม 2553

กูเกิล อิงก์ บริษัทเสิร์ชเอนจิน ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของโลก กำลังทำในสิ่งที่ไม่มีธุรกิจไหนกล้าทำหรือคิดจะทำ นั่นคือถอนธุรกิจออกจากจีน ที่มีเม็ดเงินมหาศาลและประชากรกว่า 1,300 ล้านคน

กูเกิล อิงก์ บริษัทเสิร์ชเอนจิน ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของโลก กำลังทำในสิ่งที่ไม่มีธุรกิจไหนกล้าทำหรือคิดจะทำ นั่นคือถอนธุรกิจออกจากจีน ที่มีเม็ดเงินมหาศาลและประชากรกว่า 1,300 ล้านคน

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

กูเกิล อิงก์ บริษัทเสิร์ชเอนจิน ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของโลก กำลังทำในสิ่งที่ไม่มีธุรกิจไหนกล้าทำหรือคิดจะทำ นั่นคือถอนธุรกิจออกจากจีน ที่มีเม็ดเงินมหาศาลและประชากรกว่า 1,300 ล้านคน

กูเกิล ปะทะ จีน : ศึกนี้ใครกำชัยชนะ

เสิร์ชเอนจินยักษ์ใหญ่รายนี้ประกาศที่จะถอนตัวจากธุรกิจในจีน โดยให้เหตุผลจากแรงกดดันที่ต้องเซ็นเซอร์ตนเองตามกฎหมายด้านข้อมูลสารสนเทศของจีน ก่อนที่กรณีกลุ่มแฮกเกอร์จีนเจาะข้อมูล Gmail จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้บริษัทตัดสินใจวางมือ แม้ว่าปัจจุบันจะครองส่วนแบ่งการตลาดในจีนได้ไม่น้อย 31.3% พร้อมรายได้ตลอดทั้งปีราว 6,600 ล้านบาทก็ตาม

เรื่องนี้นับเป็นการงัดข้อระหว่างธุรกิจต่างชาติกับรัฐบาลจีนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ที่ทำให้หลายฝ่ายจับจ้องว่า การท้าทายของกูเกิล จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกออนไลน์ในจีน ที่อยู่ภายใต้เงาเหล็กของมาตรการเซ็นเซอร์ได้หรือไม่ และใครจะเป็นผู้แพ้/ชนะ ในศึกยักษ์ครั้งนี้

หากลองหันไปมองยักษ์ไอทีตะวันตกหลายค่ายในจีนวันนี้แล้ว อาจต้องบอกว่ากูเกิลสละชีพแบบเสียของเปล่า เพราะด้วยสภาพเศรษฐกิจโลกขาลงในวันนี้ บวกกับอนาคตที่แสนจะแจ่มใสในแดนมังกรนั้น ทำให้แทบไม่มีใครกล้าท้าทายกฎเหล็กรัฐบาลกรุงปักกิ่ง โดยเฉพาะค่าย “ไมโคร ซอฟท์” และ “ยาฮู”

บริษัทซอฟต์แวร์รายใหญ่ที่สุดในโลกอย่างไมโครซอฟท์นั้น มีการลงทุนจำนวนมหาศาลในจีนและยังคงเพิ่มการลงทุนต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง ปัจจุบันจีนมียอดการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ถึงราว 40 ล้านเครื่องต่อปี และส่วนใหญ่ต่างก็ติดตั้งระบบปฏิบัติการวินโดวส์จากค่ายไมโครซอฟท์ทั้งสิ้น

ไม่เพียงแต่วินโดวส์เท่านั้น ไมโครซอฟท์ยังได้ลงทุนอีกหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ เปิดเครือข่ายศูนย์วิจัยและพัฒนาขึ้นอีกหลายแห่งในจีน พร้อมจ้างโปรแกรมเมอร์อีกหลายพันตำแหน่ง เพื่อยึดฐานที่มั่นในตลาดจีนที่มียอดจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีสูงสุดอันดับ 2 ของโลก

และเมื่อไม่นานมานี้ ยังได้เปิดเว็บเสิร์ชเอนจินของตนเอง Bing ในรูปแบบภาษาจีนด้วย สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ไมโครซอฟท์ยังไม่พร้อมต่อการท้ากำปั้นเหล็กของจีนในขณะนี้
ทางฝั่งของยาฮูนั้น ก็แทบไม่ได้ต่างอะไรกับไมโครซอฟท์เช่นกัน หลังจากที่เผชิญมรสุมหนักมาแล้ว ยาฮูได้ลงทุนมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 3.3 หมื่นล้านบาท) เข้าซื้อหุ้น 40% ในอาลีบาบา กรุ๊ป ธุรกิจอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งจดทะเบียนในตลาดฮ่องกง

แครอล บาร์ตซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของยาฮูนั้น ถึงกับเคยกล่าวว่า อาลีบาบาเป็นเหมือนกับตัวแทนของยาฮูในจีน ท่ามกลางการเติบโตและกำไรที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

การท้าทายกฎหมายเซ็นเซอร์ของจีนในขณะนี้ จึงไม่ใช่เรื่องดีต่ออนาคตของยาฮูในระยะยาวแต่อย่างใด

ย้อนกลับไปดูเส้นทางของกูเกิลในจีนนั้น ได้เริ่มธุรกิจเสิร์ชเอนจิน ภายใต้เว็บ google.cn มาตั้งแต่ปี 2006 นำโดยการบริหารของ หลี่ไคฟู ก่อนที่หลี่จะลาออกในปีนี้เพื่อเปิดธุรกิจของตนเอง กูเกิลจีนในวันนี้จึงมีผู้นำทัพคนใหม่อย่าง จอห์น หลิว เข้ากุมบังเหียนแทน

ภายใต้ร่มเงาของกูเกิลแดนมังกร มีวิศวกรและพนักงานขายรวมหลายร้อยตำแหน่งด้วยกัน ใน 3 สาขาทั่วประเทศคือ กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และเมืองกว่างโจว และเมื่อเดือนก.ย. ปีที่ผ่านมานี้เอง กูเกิลเพิ่งประกาศเตรียมเพิ่มทีมเซลส์ เพื่อรุกตลาดให้มากขึ้น ท่ามกลางคู่แข่งใหญ่อย่างเว็บไซต์ไป่ตู้ ที่เฉพาะพนักงานฝ่ายขายและบริการลูกค้า ก็มีจำนวนมากถึงราว 4,000 คนแล้ว

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเว็บเสิร์ชเอนจินอันดับ 1 ของโลก ทว่าในแดนมังกรแห่งนี้ กูเกิลกลับเป็นได้เพียงผู้ตาม กับส่วนแบ่งการตลาดในอันดับ 2 ที่ 31.3% ตามหลังเว็บหมายเลขหนึ่งอย่างไป่ตู้ ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 63.9% ขณะที่บริษัทวิเคราะห์ทางการเงิน คอลลินส์ สจวร์ต ประเมินว่ากูเกิล ทำรายได้ในจีนตลอดทั้งปีราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6,600 ล้านบาท)

ทว่า เว็บเสิร์ชอันดับ 1 ของโลกแห่งนี้ ก็ต้องเผชิญกับเงื่อนไขเซ็นเซอร์ตัวเอง ภายใต้กฎหมายเหล็กด้านเทคโนโลยีสานสนเทศของจีน ที่บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกราย ต้องมีการเซ็นเซอร์ข้อมูลบางประการ อาทิ เว็บโป๊ลามก การแสดงความเห็นที่ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม รวมไปถึงข้อมูลที่ละเอียดอ่อนบางประการ อาทิ เหตุนองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ส่วน google.com นั้น แม้จะไม่ถูกกฎหมายจีนควบคุม ทว่าในทางปฏิบัติแล้ว นักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่าจีนมีระบบไฟร์วอลที่สามารถดักกรองข้อมูลของเว็บต่างชาติได้

การที่กูเกิลหรือรัฐบาลสหรัฐ นำโดยประธานาธิบดี บารัก โอบามา จะพลิกวิกฤตกูเกิลเป็นโอกาส กดดันให้จีนคลายกำปั้นเซ็นเซอร์ เพื่อเปิดยุคสิทธิและเสรีภาพบนโลกออนไลน์ในแดนมังกรนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาแนวร่วมกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างง่ายๆ ด้วยเช่นกัน

หากกูเกิลต้องถอนตัวออกไปจากตลาดจีนจริงตามคำขู่ โดยไม่สามารถประนีประนอมกันได้ งานนี้กูเกิลอาจต้องกลายเป็นผู้แพ้แบบไร้แนวร่วม ขณะที่รัฐบาลสหรัฐก็ต้องยอมถอยหลังให้กับจีนอีกครั้งเช่นกัน

พิสูจน์กันให้ชัดอีกครั้งถึงยุคเศรษฐกิจนำสิทธิมนุษยชน...