posttoday

เกาหลีใต้เตรียมผ่านร่างกฎหมายสกัดเฟกนิวส์ 

26 สิงหาคม 2564

รัฐบาลเกาหลีใต้เล็งเพิ่มโทษคนปล่อยเฟกนิวส์ ด้านฝ่ายค้านโต้ว่าเป็นการพยายามปิดปากสื่อ

รัฐบาลเกาหลีใต้เตรียมแก้กฎหมายสื่อ (Act on Press Arbitration and Remedies) เพื่อควบคุมข่าวปลอม หรือเฟกนิวส์ ท่ามกลางเสียงคัดค้านว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นการจำกัดเสรีภาพของสื่อไม่ให้ขุดคุ้ยการทำผิดของผู้มีอำนาจและเป็นข้ออ้างในการปิดปากฝ่ายตรงข้ามที่วิจารณ์รัฐบาล

การแก้ไขกฎหมายสื่อครั้งนี้ให้อำนาจศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ที่ปล่อยเฟกนิวส์จนละเมิดสิทธิ์และสร้างความเสียหายทางจิตใจแก่โจทก์จ่ายค่าชดเชยความเสียหายเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 5 เท่า สำหรับเคสที่ไม่สามารถคำนวณความเสียหายที่แน่ชัด ผู้ที่เผยแพร่ข่าวปลอมต้องจ่ายค่าเสียหายตั้งแต่ 50-100 ล้านวอน หรือ 1,400,355-2,800,711 บาท

และยังกำหนดให้สื่อมวลชน รวมทั้งผู้ให้บริการข่าวทางอินเทอร์เน็ตดำเนินการแก้ไขข่าวที่ผิดพลาดหรือข่าวปลอมที่เผยแพร่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

แถลงการณ์ของพรคคประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเกาหลีใต้ระบุว่า การรายงานที่ผิดพลาดของสื่อมวลชนทำให้เกิดความเสียหายและผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งยังเป็นอันตรายที่แก้ไขไม่ได้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และยังชี้แจงว่าการเพิ่มโทษดังกล่าวจะทำให้สื่อมวลชนที่จะเผยแพร่ข่าวมีความรับผิดชอบมากขึ้น

อย่างไรก็ดี พรรคฝ่ายค้านของเกาหลีใต้ออกแถลงการณ์โจมตีว่ากฎหมายดังกล่าวทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังลงคลอง และปิดกั้นขัดขวางไม่ให้สื่อมวลชนรายงานหรือเขียนข่าวเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายหรือเรื่องอื้อฉาวของผู้มีอำนาจในบ้านเมือง

ด้านริวเจฮวา พนักงานอัยการที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสื่อและคดีการเมืองเผยว่า กฎหมายนี้สะท้อนว่ารัฐบาลต้องการปิดปากสื่อมวลชน

การสำรวจความคิดเห็นของชาวเกาหลีใต้ 1,024 คนโดย WinGKorea Consulting พบว่า 46.4% สนับสนุนกฎหมายใหม่ และ41.6% มองว่าเป็นการปิดกั้นเสรีภาพสื่อ

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนของเกาหลีใต้มีอันดับค่อนข้างดีในดัชนีเสรีภาพสื่อ (World Press Freedom Index) โดยอยู่ในอันดับ 42 จาก 180 ประเทศ แต่ต้องเผชิญกับข่าวปลอมและการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ในช่วงไม่กี่ปีนี้

การแก้ไขกฎหมายสื่อมีขึ้นหลัจากประธานาธิบดี มุนแจอิน บังคับใช้กฎหมายเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ให้จำคุกบุคคลที่เผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับการประท้วงควังจูในช่วงทศวรรษ 1980

Photo by GEORG HOCHMUTH / APA / AFP