posttoday

กฎเหล็กคนในเครื่องแบบ เมื่อตำรวจปกปิดความผิดกันเอง

25 สิงหาคม 2564

กรณีแบบนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในไทย แม้แต่สหรัฐ อิตาลี และที่อื่นๆ ก็เจอปัญหานี้เช่นกันด้วยชื่อเรียกที่แตกต่างกัน แต่พฤติกรรมไม่แตกต่างเลย

ในวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2544 เวลา 21.00 น. โจเซฟ เกรย์ขับรถมินิแวนบนถนน Third Avenue ใต้ทางด่วน Gowanus Expressway จนมาถึงที่ซันเซ็ตพาร์ค เขตบรูคลิน ตรงจุดมาเรีย เอร์เรรา วัย 24 ปี กับลูกชายของเธอ แอนดี วัยเพียง 4 ขวบ และน้องสาวของมาเรียที่ชื่อดิลเซียอายุ 16 ปี กำลังข้ามถนน  

ตอนนั้นเองรถของเกรย์ขับฝ่าไฟแดงแล้วชนทั้งสามเข้าอย่างจังจนตายคาที่ เท่านั้นยังไม่พอเอร์เรรายังกำลังตั้งครรภ์ได้ 8 เดือนครึ่ง แพทย์พยายามผ่าตัดช่วยเหลือลูกในครรภ์ แต่โชคร้ายที่ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ ความประมาทของโจเซฟ เกรย์ทำให้มีคนตายถึง 4 คนในวันนั้น

ที่สำคัญ โจเซฟ เกรย์เป็นตำรวจ!

จากการสอบสวนพบว่าเกรย์ขับเกินขีดจำกัดความเร็ว 30 ไมล์ต่อชั่วโมง เขามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด .23 มากกว่าสองเท่า (เกือบสามเท่า) ของกฎหมายกำหนดนั่นก็เพราะเขาเพิ่งจะซัดแอลกอฮอล์มากับพ้องเพื่อนตำรวจด้วยกัน

ก่อนที่หน่วยพยาบาลจะมาถึง เกรย์บอกพยานว่า "ไม่เอาน่า เราทุกคนดื่มเบียร์กันนานๆ ครั้งเอง" ทั้งๆ ที่เขาเพิ่งซัดเบียร์ไปไม่น้อยกว่า 12 -  18 ขวด/กระป๋องในช่วง 12 ชั่วโมงก่อนเกิดเหตุ

ไม่ใช่แค่เขาที่โกหก เพื่อนพ้องในวงการตำรวจก็พยายามช่วยเหลือเขาด้วย เกรย์ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการประกันตัวในวันอาทิตย์ ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ครอบครัวของเหยื่อและชาวนิวยอร์กจำนวนมาก 

เกรย์ถูกจับโดยเจ้าหน้าที่จากเขตของเขาเอง ตำรวจที่เขตนั้นยังละเลยไม่กรอกรายงานอุบัติเหตุบางส่วน ภาพที่ถ่ายในที่เกิดเหตุก็หายไปอย่างลึกลับ นักเคมีของตำรวจไม่ส่งรายงานกว่า 60 หน้าเกี่ยวกับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของเกรย์ตามที่กฎหมายกำหนด และหลักฐานอื่นๆ อีกหลายชิ้นถูกโยกย้าย

เรื่องนี้ยิ่งมาชัดเมื่อพนักงานสอบสวนเผยหลังจากเกษียณอายุโดยยอมรับว่าเขาพยายาม "ยกประโยชน์" ให้แก่เกรย์ก็เพราะเขาเป็นตำรวจ

แน่นอนว่าเกรย์ไม่สามรถรอดพ้นความยุติธรรมได้เพราะหลักฐานมันคาตา และภายหลังการตัดสินลงโทษของเกรย์แล้ว อัยการเขตได้เริ่ม "สอบสวนการประพฤติมิชอบของตำรวจในกรณีนี้ โดยเฉพาะการขัดขวางการบริหารราชการและขัดขวางการดำเนินคดี" 

นั่นคือกรณีที่เกิดขึ้นในสหรัฐ เมื่อตำรวจช่วยพวกเดียวกันเอง ซึ่งโชคยังดีที่ประชาชนไม่ยอมละสายตา และอัยการไม่นิ่งนอนใจ

"พวกเราไม่มีวันทำผิด"

ในวงการตำรวจของสหรัฐมีคำว่า Blue Wall of Silence หรือ กำแพงสีน้ำเงินที่เงียบงัน ซึ่งสีน้ำเงินก็คือสีของตำรวจ ส่วนความเงียบงันคือ การที่ตำรวจไม่ยอมเปิดปากพูดถึงความผิด การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การก่ออาชญากรรม หรือการใช้ความรุนแรงของเพื่อนตำรวจด้วยกัน อาจจะด้วยการพูดโกหกหรือทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเหตุการณ์นั้นๆ

นอกจากนี้แต่ละหน่วยแต่ละสถานีตำรวจยังมีวัฒนธรรมตำรวจ (cop culture) ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของตัวเองที่ไม่เป็นทางการและไม่เป็นลายลักษณ์อักษรที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นจนก่อให้เกิดความรู้สึกจงรักภักดีต่อพวกพ้องจนไม่อยากทรยศหักหลังกันเอง ส่วนใครที่ปากโป้งก็จะถูกมองว่าเป็นแกะดำ ไม่ได้รับการยอมรับ

วัฒนธรรมตำรวจนี้นำมาสู่คำพูดติดปากว่า "ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน" ซึ่งมาจากคนในคเรื่องแบบอีกวงการหนึ่ง แต่มันใช้ได้ดีกับวงการไหนๆ ก็ตามที่คนในนั้นช่วยกันปกป้อง "ปลาเน่า"

ด้วยเหตุนี้ บางรัฐจึงมีกฎหมายที่ปกป้องประชาชนและจำเลยจากตำรวจที่คอร์รัปชัน หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ซึ่งหากผิดจริงตำรวจอาจถูกผู้เสียหายจากการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ จากการจับกุมโดยมิชอบ หรือทำให้เสียชีวิตโดยมิชอบฟ้องร้อง และยังมีกฎหมายรัฐบาลกลางที่บังคับใช้ทั่วประเทศห้ามไม่ให้ตำรวจให้การเท็จเพื่อช่วยเหลือพวกพ้อง และห้ามเพิกเฉยต่อการมีส่วนร่วมในการคอร์รัปชันของเพื่อนตำรวจด้วยกัน

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีแนวปฏิบัติไม่ขายเพื่อนใช้อยู่ จนในปี 1970 ทางการเมืองนิวยอร์กจัดตั้งคณะกรรมาธิการแนปป์ (Knapp Commission) เพื่อสอบสวนความไม่ชอบมาพากลของวงการตำรวจนิวยอร์ก

โดยการเปิดโปงพฤติกรรมฉาวของเพื่อนตำรวจด้วยกันของเจ้าหน้าที่ แฟรงค์ เซอร์ปิโค ไม่เพียงเปิดเผยว่ามีการคอร์รัปชันกันอย่างเป็นระบบเท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นถึงอุปสรรคในการสอบสวนการคอร์รัปชันเหล่านั้นด้วย นั่นคือ หลักปฏิบัติที่รู้กันในหมู่เจ้าหน้าที่ที่เรียกกันว่า กฎแห่งความเงียบ (Code of Silence) หรือม่านสีฟ้า (Blue Curtain) ที่ถือว่าเจ้าหน้าที่ที่เปิดปาก “ขายเพื่อน” คือคนทรยศ

กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุอย่างกรณีของผู้กำกับนครสวรรค์ที่ทำทารุณกับผู้ต้องหาคดียาเสพติดด้วยการใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะจนเสียชีวิตน่าจะไม่ใช่ครั้งแรก และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แม้แต่สหรัฐเองก็มีปัญหานี้ไม่น้อย แต่กรณีที่จุดกระแส Black Lives Matter และเกิดการเรียกร้องให้ปฏิวัติตำรวจคือการเสียชีวิตของชายผิวสีที่ชื่อ จอร์จ ฟลอยด์ หลังถูกตำรวจใช้เข่ากดที่คอนานเกือบ 10 นาทีจนขาดอากาศหายใจ

ขอยกตัวอย่างกรณีของสหรัฐที่ใกล้เคียงกับกรณีของไทยคือ ในปี 1991 ร็อดนีย์ คิง ชายผิวสีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจลอสแองเจลิสหลายนายทุบตีทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องล้วนพร้อมใจกันปกปิดความผิดของพวกพ้องโดยอ้างว่าการทำร้ายร่างกายคิงเป็นไปตามกฎหมาย แต่คลิปเหตุการณ์ที่เผยแพร่ในภายหลังกลับฟ้องว่าความจริงเป็นคนละเรื่องกับที่เจ้าหน้าที่เล่า

โลกสีเทาของคนสีกากี

การปกปิดความชั่วของพวกเดียวกันเองเป็นพฤติกรรมของพวกแก๊งอันธพาล เช่น ในภาคใต้ของอิตาลีที่ชุกชุมไปด้วยแก๊งมาเฟีย พวกนี้จะถือกฎเหล็กที่เรียกว่า "โอแมร์ตา" (Omertà) คนในแก๊งและคนในพื้นที่อิทธิพลของนอกแก๊งจะปิดปากเงียบเมื่อถูกซักถามโดยเจ้าหน้าที่หรือบุคคลภายนอกเรื่องภายในแก๊ง พวกเขาจะไม่ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ รัฐบาล หรือบุคคลภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างการสอบสวนคดีอาญา และจงใจเพิกเฉยและหลีกเลี่ยงการแทรกแซงกิจกรรมที่ผิดกฎหมายของคนอื่นๆ ในเครือข่ายตัวเอง

คนที่แหกกฎโอแมร์ตาไม่อาจลอยนวลได้ ยิ่งพวกเป็นสายให้ตำรวจแล้วยิ่งรอดยาก แต่ใน "วงการสีกากี" (หรือสีน้ำเงินในสหรัฐ) ก็มีโอแอร์ตาเหมือนกัน นั่นคือ Blue Wall of Silence ที่เอ่ยถึงไป มันคือสิ่งที่ทำให้วงการตำรวจมีความใกล้เคียงกับวงการแก๊งนอกกฎหมาย 

ตำรวจเป็นอาชีพที่ต้องพัวพันกับกลุ่มนอกกฎหมายและการแหกกฎหมาย ดังนั้นพวกเขาจึงต้องคุ้นเคยกับเรื่องผิดกฎหมายเพื่อที่จะไล่ตามพวกมันได้ทัน ตำรวจจึงไม่สามารถอยู่ในโลกสีขาวได้เต็มตัว พวกเขาต้องอยู่ในโลกเทาๆ เพื่อเข้าถึงโลกสีดำด้วย 

แต่บางครั้งพวกเขาถูกความชั่วสีดำกลืนกินจนรับเอาพฤติกรรมแบบโอแมร์ตามาใช้ 

และเมื่อตำรวจใช้โอแมร์ตามันจะเลวร้ายกว่าแก๊งอาชญากรเสียอีก เพราะแก๊งอาชญากรใช้โอแมร์ตาเพื่อไม่ร่วมมือกับมือกฎหมายโดยหวังช่วยพวกเดียวกันเอาตัวรอดและกลุ่มทั้งกลุ่มจะรอดไปด้วย แต่มือกฎหมายมีกฎหมายในมือ เพียงแค่ต้องการจะช่วยพวกเดียวกันแค่ไม่กี่คน และไม่สำคัญต่อองค์กรทั้งองค์กรด้วยซ้ำ พวกเขาใช้กฎหมาย ทำลายหลักฐาน ข่มขู่พยานก็ยังได้

ยังมีโอแมร์ตาแบบที่คาดไม่ถึงอีก นั่นคือการรวมตัวเป็นสหภาพของตำรวจเพื่อต่อรองกับภาครัฐเรื่องสวัสดิการและอำนาจหน้าที่ การรวมตัวแบบนี้ยิ่งทำให้ตำรวจรู้สึกว่าได้รับการหนุนหลังจากตำรวจหมู่มากด้วยกันเอง และมีงานวิจัยในสหรัฐพบว่ายิ่งมีอัตราตำรวจเข้าร่วมกับสหภาพมากเท่าไร จำนวนคนที่ตายด้วยน้ำมือตำรวจยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น การศึกษาของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดใน 100 เมืองที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาพบว่ายิ่งตำรวจมีอำนาจคุ้มครองมากขึ้นระดับความรุนแรงที่ตำรวจทำและการละเมิดอื่นๆ ต่อพลเมืองโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะเพิ่มขึ้น  นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิกตอเรียยังพบว่าเมื่อตำรวจมีอำนาจต่อรองในรูปแบบสหภาพมากขึ้น อัตราการวิสามัญฆาตกรรมเพิ่มขึ้นถึง 40%

จะเห็นว่าโอแมร์ตามีทั้งแบบบนดินและใต้ดิน และบางครั้งใช้อย่างพร่ำเพื่อไม่ใช่เพื่อปกป้องสิทธิของตำรวจ แต่เพื่อปกป้องคนผิดเพียงคนเดียวก็ยังทำ

กรณีของโจเฟซ เกรย์ที่เมาแล้วขับ ตำรวจในท้องที่ใช้โอแมร์ตาเพื่อปกป้องเขาทั้งๆ ที่การเมาแล้วขับและฆ่าคนตายของตำรวจคนเดียวไม่ได้ทำให้ทั้งสถาบันเสื้อน้ำเงินต้องสั่นคลอน แต่พวกเขาก็ยังเลือกที่จะใช้วิธีนี้ 

นั่นแสดงว่าเมื่อคนมีอำนาจกฎหมายในมือ เมื่อจะทำชั่วร้ายนั้น จะร้ายยิ่งกว่าอาชญากรเสียอีก

โดย จารุณี นาคสกุล และ กรกิจ ดิษฐาน

Photo - Kamil Krzaczynski/AFP