posttoday

จับตาเงินบาททรุด สัญญาณเศรษฐกิจถดถอย

05 สิงหาคม 2564

โควิดฉุดเงินบาทไทยอ่อนค่าแรงสุดในรอบ 16 เดือน ส่อเค้าเศรษฐกิจถดถอย

สัปดาห์นี้เงินบาททะลุ 33.04 บาท อ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 เดือน ส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจาก Covid-19 ที่ระบาดหนักขึ้นตัวเลขผู้ติดเชื้อนิวไฮรายวันสะเทือนความเชื่อมั่นนักลงทุน และยังมีแนวโน้มว่าบาทจะอ่อนค่าต่อเนื่อง

พูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทยมองว่า แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าอยู่จากปัญหาการระบาดของ Covid-19 ในขณะที่เงินดอลลาร์โดยรวมมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways

ดังนั้นจึงยังมองไม่เห็นโอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับเทรนด์มาแข็งค่าได้ในเร็วนี้ เนื่องจากปัญหาการระบาดของ Covid-19 ในไทยยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทยังเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้อย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์การระบาดจะเริ่มมีทิศทางดีขึ้น ซึ่งอาจจะต้องรอในช่วงต้นเดือนกันยายน จากโมเดลคาดการณ์ยอดผู้ติดเชื้อล่าสุดของทางรัฐบาลหรือภาคเอกชน

ในระยะสั้น หากตลาดคลายกังวลปัญหาการระบาดของ Covid-19 ทั่วโลก และกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าคาด ก็อาจทำให้เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดไม่จำเป็นต้องถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Asset) เพื่อหลบความผันผวนในตลาด ซึ่งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ก็อาจทำให้เงินบาทไม่อ่อนค่าหนัก ทะลุ 33 บาทต่อดอลลาร์ไปมาก

ปัญหาการระบาดของ Covid-19 ในไทยที่มีแนวโน้มเลวร้ายต่อเนื่องจะกดดันให้เศรษฐกิจซบเซาลงมากกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยประเมินไว้ ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เลือกที่จะคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50%

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.80-33.15 บาท/ดอลลาร์เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระหว่างสัปดาห์เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 เดือน

ขณะที่เดือนกรกฎาคมเงินบาทอ่อนค่าลง 2.5% ซึ่งเป็นอัตราที่มากกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในกลุ่ม เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0-0.25% โดยเฟดระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวต่อเนื่องแม้ยอดผู้ติดเชื้อ Covid-19 เพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรีวิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทอ่อนลงทะลุ 33 บาทต่อดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2017 เนื่องจากประเทศไทยกำลังประสบภาวะโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา

และเนื่องจากมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่เศรษฐกิจจะถดถอย จึงมองว่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีก อย่างน้อยก็ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยประเมินว่าค่าเงินบาทยังมี downside จากระดับปัจจุบันอีกประมาณ 3-4% ขึ้นกับสถานการณ์ Covid-19 และสภาวะแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองในช่วงไตรมาสต่อๆ ไป

สถานการณ์โรคระบาดจะเป็นตัวกำหนดแนวโน้มค่าเงินบาท 

บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรียังมองว่า ถึงแม้การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงนี้จะเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง (เช่นเดียวกับสกุลเงินอื่น ๆ) แต่เชื่อว่าปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง

พบว่าค่าเงินบาทอ่อนลงมากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคอย่างมาก โดยค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่ามากกว่าเพื่อนบ้านตั้งแต่ประมาณปลายไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ถึงต้นไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่การระบาดระลอกล่าสุดเริ่มต้นขึ้น (เกิด cluster ทองหล่อ และวันหยุดเทศกาลสงกรานต์) ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่ารายงานการเคลื่อนไหว (google mobility) (proxy ของกิจกรรมทางธุรกิจ) ของประเทศไทยลดลงอย่างมากตามอัตราการติดเชื้อที่เร่งตัวขึ้นในประเทศไทย

ทว่าภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก

จริงอยู่ว่าเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคก็เผชิญกับยอดผู้ติดเชื้อที่เร่งตัวขึ้นเช่นกัน แต่ผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของแต่ละประเทศแตกต่างกันไป เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับความรุนแรงของผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจ ความสามารถของระบบการรักษาพยาบาลในการรองรับผู้ติดเชื้อ อัตราการกระจายวัคซีน การสนับสนุนในเชิงนโยบายจากรัฐบาล และความเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการของรัฐบาล

ทั้งนี้ หนึ่งในตัวชี้วัดแนวโน้มการเติบโตที่เชื่อถือได้ก็คือ อัตราผลตอบแทนระยะยาวของพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเราพบว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ลดลงจาก 1.7% ในปลายเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ 1.54% ในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้นระหว่างอัตราผลตอบแทนของไทยกับภูมิภาค ก็ช่วยยืนยันแนวโน้มที่อ่อนแอของเศรษฐกิจไทย ซึ่งส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง

นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของปริมาณเงินในความหมายกว้างที่ลดลงอย่างหนักก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกถึงการอ่อนค่าของเงินบาท เรามองว่า ณ จุดนี้ ค่าเงินบาทยังไม่น่าจะฟื้นตัวขึ้นมาได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะโตต่ำกว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคอีกพอสมควรไปจนถึงปี 2022 เป็นอย่างน้อย

ส่วน ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยกับไทยรัฐว่า นับตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงขณะนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐแล้วกว่า 9.0% เป็นผลมาจากเงินดอลลาร์ที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ ในขณะที่เงินบาทยังถูกกดดันจากฐานะที่ถดถอยของดุลบัญชีเดินสะพัด อันสืบเนื่องมาจากรายได้จากการท่องเที่ยวที่ถูกกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 

สำหรับแนวโน้มเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 2564 ปัจจัยหลักที่ต้องติดตามยังน่าจะเป็นทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยหากเศรษฐกิจสหรัฐสามารถขยายตัวได้ดีอย่างที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ประเมินไว้ เงินดอลลาร์สหรัฐก็คงจะได้รับแรงหนุนต่อเนื่อง

ในทางตรงกันข้าม หากสหรัฐเผชิญกับการแพร่ระบาดของ Covid-19 อีกระลอก จนทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุดลง เฟดก็คงจะต้องเลื่อนการปรับนโยบายการเงินออกไป ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาอ่อนค่าลงได้

นอกจากนี้ ปัจจัยภายในประเทศเองก็อาจจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดที่ยังคงมีความรุนแรง การท่องเที่ยวไม่สามารถฟื้นตัวได้ทันในปีนี้ และนำไปสู่การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ รวมไปถึงประเด็นฐานะการคลังของรัฐบาล ที่เผชิญกับการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องและการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้สาธารณะ

อย่างไรก็ดี ดร.เชาว์มองว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับปัจจัยลบต่างๆ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 แต่เงินบาทคงจะอ่อนค่าลงไปอีกไม่มากนัก จากระดับในปัจจุบันที่ 32.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากฐานะที่แข็งแกร่งของทุนสำรองระหว่างประเทศไทย ล่าสุดอยู่ที่ราว 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่วิจัยกรุงศรีเผยว่า เศรษฐกิจในไตรมาส 2/64 อ่อนแอลงจากไตรมาส 1/64 ประเมินภาพรวมจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาส 3/64 หลังโควิดระบาดรุนแรงและยาวนาน