posttoday

วิจัยอังกฤษชี้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มลดเสี่ยงติดเดลตา 3 เท่า

04 สิงหาคม 2564

การศึกษาจากอังกฤษชี้ว่าการฉีดวัคซีนครบโดสลดความเสี่ยงในการติดโควิดได้กว่าครึ่ง

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานผลการศึกษาจากวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (Imperial College London) จากสหราชอาณาจักรชี้ว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วสามารถลดความเสี่ยงในการติดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาประมาณ 50% ถึง 60% และมีโอกาสติดโควิด-19 น้อยกว่าผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน 3 เท่า

การศึกษาดังกล่าวได้ทำการตรวจหาเชื้อในกลุ่มตัวอย่าง 98,233 คนระหว่างวันที่ 24 มิถุนายนถึง 12 กรกฎาคม ในจำนวนนี้พบว่า 527 คนมีผลตรวจเป็นบวกหรือคิดเป็น 0.63% และทั้งหมดติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา

ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมีโอกาสติดเชื้อมากกว่าผู้ที่รับวัคซีนครบโดสแล้วถึง 3 เท่าด้วยสัดส่วนผู้ติดเชื้อ 1.21% และ 0.40% ตามลำดับ

นอกจากนี้งานวิจัยระบุว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วมีโอกาสมีผลตรวจเป็นบวกหลังสัมผัสกับผู้ติดเชื้อน้อยกว่าผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนด้วยสัดส่วน 3.84% และ 7.23% ตามลำดับ

รวมถึงผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วหากติดเชื้อจะมีโอกาสแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นน้อยกว่าผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนถึง 2 เท่า

นักวิจัยจึงประเมินว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อน้อยกว่าผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนประมาณ 50% ถึง 60% โดยมีความแตกต่างกันไปตามปัจจัยอื่นๆ เช่น สุขภาพร่างกาย และอายุ

โดยผลการศึกษาพบว่าสัดส่วนของการติดเชื้อในกลุ่มคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 13 ถึง 24 ปีอยู่ที่ 1.56% หรือ 1 ใน 65 ขณะที่สัดส่วนการติดเชื้อของผู้ที่อายุ 75 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 0.17% นอกจากนี้การศึกษายังพบว่าคนผิวดำมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูงกว่าคนผิวขาวเล็กน้อยอยู่ที่ 1.21% และ 0.59% ตามลำดับ

ศาสตราจารย์สตีเวน ไรลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากวิทยาลัยอิมพีเรียลระบุว่าเป็นที่ทราบกันดีว่าสายพันธุ์เดลตานั้นมีความสามารถในการแพร่เชื้อสูง จึงเห็นได้ว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาการกันต่อไปว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วติดเชื้อได้อย่างไรเพื่อช่วยคาดการณ์สถานการณ์ข้างหน้าได้ดีขึ้น

ขณะที่พอล เอลเลียต นักระบาดวิทยาซึ่งเป็นผู้นำในการศึกษาครั้งนี้ชี้ว่าผลการศึกษาที่พบเป็นการยืนยันว่าการฉีดวัคซีนครบโดสสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ดีกว่าการไม่ฉีดวัคซีนอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะไม่มีวัคซีนตัวใดที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100%

Photo by DANIEL LEAL-OLIVAS / AFP