posttoday

จีนบดขยี้ธุรกิจเกมมิ่ง “มันคือฝิ่นมอมเมาจิตวิญญาณ”

03 สิงหาคม 2564

จีนงัดค่านิยมฝ่ายซ้ายจัดการธุรกิจเกม ตราหน้าว่าเป็นฝิ่นมอมเมาจิตวิญญาณคนรุ่นใหม่

หลังจากที่จีนเพิ่งลงดาบธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา จู่ๆ วันนี้หนังสือพิมพ์ Economic Information Daily สื่อในเครือของสำนักข่าว Xinhua ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนก็เขียนโจมตีวิดีโอเกมว่าเป็น “ฝิ่นมอมเมาจิตวิญญาณ” ที่เป็นอันตรายกับเยาวชนของประเทศ

Economic Information Daily โทษเฉพาะเกม Honour of Kings ของ Tencent บริษัทเกมรายใหญ่ที่สุดของจีนว่าเป็นต้นตอของปัญหา ทั้งทำเยาวชนสายตาสั้นและผลการเรียนตกต่ำเพราะหมกมุ่นกับเกมมากเกินไป โดยอ้างการสอบถามความคิดเห็นนักเรียนราว 2,000 คน ที่บางคนบอกว่าเล่นเกมวันละ 8 ชั่วโมง และยังเรียกร้องให้ทางการเข้ามาควบคุมธุรกิจนี้

บทความนี้ก่อให้เกิดความกังวลว่าทางการจีนจะเข้ามาจัดการกับธุรกิจเกมออนไลน์เป็นรายต่อไป ส่งผลให้หุ้นของทั้ง Tencent และคู่แข่งอย่าง NetEase และ XD ดิ่งกว่า 11% ในช่วงเช้าวันนี้ (3 ส.ค.) และสำหรับ Tencent ขณะนี้มูลค่าของบริษัทหายไปแล้วกว่า 110,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 17% นับตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วที่จีนเริ่มปราบธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทลงทุนอยู่ด้วย

บริษัทเกมสัญชาติญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ยังพลอยถูกหางเลขไปด้วย โดยหุ้นของ Nexon จากเกาหลีใต้ซึ่งทำรายได้ในตลาดจีนราว 28% ร่วงถึง 10% ซึ่งร่วงหนักที่สุดครั้งแรกของบริษัทนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2020

หลังจากนี้บรรดานักลงทุนคงจะต้องคิดหนักหากคิดจะลงทุนในบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน เพราะไม่รู้ว่าวันดีคืนร้ายรัฐบาลจีนจะเอื้อมมือลงมาบีบธุรกิจอะไรอีกต่อจาก Alibaba กับ Ant Group ของแจ็ก หม่า และ Meituan กับ Didi ของ Tencent

จากเหตุการณ์นี้ เค่อหยวน นักวิเคราะห์จาก DZT Research ในสิงคโปร์ถึงกับเอ่ยปากว่า “คุณประมาทบทความจาก Xinhua ไม่ได้เลย การเลือกใช้คำว่า Spiritual Opium รุนแรงมาก คงจะแปลกใจมากถ้าหน่วยงานกำกับดูแลจะไม่ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้”

ด้าน Tencent ชิงจัดการกับตัวเองให้เรียบร้อยก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามาจัดการซึ่งอาจสร้างความยุ่งยากให้บริษัทมากกว่า ด้วยการออกแถลงการณ์ผ่านบัญชี WeChat ทันทีว่า จะแบนไม่ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 12 ปีจ่ายเงินซื้อของในเกม และจำกัดเวลาเล่นเกมเด็กที่อายุต่ำกว่ากำหนดจากวันละ 1.5 ชั่วโมง และ 3 ชั่วโมงในวันหยุด ลงมาเหลือวันละ 1 ชั่วโมง และ 2 ชั่วโมงในวันหยุด

นอกจากนี้ Tencent จะเปิดใช้ระบบยืนยันตัวตนผู้เล่นตลอดเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนแอบใช้เลขประจำตัวประชาชนของผู้ปกครองเข้าเล่นเกม และยังเสนอให้แบนผู้เล่นที่อายุต่ำกว่า 12 ปีจากทุกเกมด้วย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สื่อจีนเลือกใช้ถ้อยคำรุนแรงอย่าง Spiritual Opium กับเกม คำคำนี้เคยถูกใช้เพื่อเรียกร้องความสนใจให้เห็นถึงความแพร่หลายของเกมในหมู่เยาวชนในยุคที่เกมคอมพิวเตอร์ในอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เฟื่องฟู และเคยได้ผลจนหน่วยงานกำกับดูแลต้องลงมาควบคุม และระงับใบอนุญาตชั่วคราวมาแล้ว

คำว่า Spiritual Opium เป็นศัพท์ของฝ่ายซ้ายที่อ้างอิงมาจากคำว่า Opium of the People ที่ออกมาจากปากของ คาร์ล มาร์กซ์ เจ้าทฤษฎีสังคมนิยม ที่เจ้าตัวใช้โจมตีว่าศาสนาเป็นสิ่งมอมเมาผู้คน ไม่ต่างจากจีนในตอนนี้ที่กำลังมองว่าเกมเป็นเหมือนศาสนาของคนรุ่นใหม่ที่มอมเมาเยาวชน

ในภาษาอังกฤษนั้นใช้คำว่า Opium of the People แปลว่ายาฝิ่นที่มอมเมาประชาชน แต่จีนนแปลคำนี้ลงไปถึงระดับจิตใจโดยไม่ได้แปลว่า "ยาฝิ่นที่มอมเมาประชาชน" แต่แปลว่า "จิงเสิน ยาเพี้ยน" หรือยาฝิ่นของจิตวิญญาณ 

จีนใช้คำนี้ถี่ขึ้นเรื่อยๆ และใช้กับธุรกิจเกมมิ่งควบกับการควบคุมธุรกิจธุรกิจกวดวิชาตัวอย่างเช่นในคำสั่งของสภารัฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีน (หรือรัฐบาลกลางของประชาชน) ออกคำสั่งเรื่อง "ความคิดเห็นเกี่ยวกับการลดภาระการบ้านของนักเรียน การศึกษาภาคบังคับ และการฝึกอบรมนอกวิทยาเขต" โดยกำหนดให้นักเรียนใช้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างสมเหตุสมผล ควบคุมระยะเวลาการใช้งาน และป้องกันการติดอินเทอร์เน็ต

สื่อจีนบางแห่งบอกตรงๆ เลยว่าเกมมิ่งคือ "ยาเสพติด" การบอกแบบนี้มีนัยทางการเมืองด้วยเท่ากับปิดประตูธุรกิจหมื่นล้านในจีน คนในอาจจะยังกอบโกยได้ในระดับหนึ่ง ส่วนคนนั้นนั้ยากแล้วที่หวังจะเจาะกตลาดเกมมิ่งในจีน

นอกจากจะเป็นสัญญาณว่าจีนอาจกำลังจัดการธุรกิจเกมเหมือนธุรกิจอื่นๆ แล้ว โวหารแบบนี้ยังสะท้อนว่าจีนกำลังหักหัวเรือกลับไปยุคซ้ายจัดคล้ายๆ กับช่วงก่อนทศวรรษที่ 80 เข้ากันพอดิบพอดีที่สีจิ้นผิงกำลังคุมประเทศแบบปิดประตูขังตัวเองและจัดระเบียบในประเทศเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน จีนก็จัดการเชือดธุรกิจกวดวิชาไปเรียบร้อยแล้ว (นับหนึ่งก็เพื่อรวมศูนย์แนวทางการศึกษาของเยาวชนไม่ให้แตกแถวโดยสถาบันกวดวิชาต่างๆ) 

มันสะท้อนว่ารัฐบาลจีนมีแนวโน้มที่จะ "เอียงซ้าย" และตอกย้ำ "อำนาจเผด็จการรวมศูนย์ของพรรคคอมมิวนิสต์" มากขึ้นทุกทีโดนที่สีจิ้นผิงยอมกลับไปใช้ "ค่านิยมสังคมนิยม" อย่างเคร่งครัดขึ้นเพื่อไม่ปล่อยให้สังคมโน้มเอียงไปทางทุนนิยมมากเกินไป และไม่เสียดายที่จะ "ทำลายนายทุน" คือบริษัทใหญ่ๆ แห่งแล้วแห่งเล่า 

สังคมออนไลน์ในจีนเวลานี้ถึงกับพุดแบบติดตลกแบบขมขื่นว่าตอนนี้เรียนกวดวิชาก็ไม่ได้ เกมก็เล่นไม่ได้ แต่ไปคงจะเล่นติกต็อกก็คงไม่ได้อีก แล้วจะให้ทำอะไรกัน? บางคนในโลกโซเชียลจีนตอบแบบขำๆ ว่า ก็ให้เลี้ยงน้องๆ ที่บ้านไปสิ

มันอาจจะเป็นมุกตลก แต่สะท้อนความจริงที่กำลังเกิดขึ้นได้ดีที่เดียว 

บทความโดย จารุณี นาคสกุล และกรกิจ ดิษฐาน (Edit)

hoto by NOEL CELIS / AFP