posttoday

ภูฏานทำยังไงถึงฉีดวัคซีนให้ประชาชน 90% สำเร็จใน 7 วัน

03 สิงหาคม 2564

ภูฏานระดมฉีดวัคซีนเข็มสองให้ประชาชน 90% ภายในเวลาเพียง 7 วันแม้ในพื้นที่ห่างไกลก็ไม่ทิ้ง

สำนักข่าว AP รายงานว่า ทางการภูฏานระดมฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 โดสที่สองให้ประชากรวัยผู้ใหญ่ราว 90% สำเร็จภายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ จนได้รับคำชมจากองค์การ UNICEF ว่าเป็นการฉีดวัคซีนที่เร็วที่สุด

จนถึงวันนี้ (3 ส.ค.) ประชากรวัยผู้ใหญ่ของภูฏานราว 480,000 คนจาก 530,000 คนได้รับวัคซีนครบทั้งสองเข็มแล้ว หลังจากทางการเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่สองให้ประชาชนเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา

“เป้าหมายของเราคือ การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประชาชนภายในระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อป้องกันวิกฤตสุขภาพครั้งใหญ่” เดเชน วังโม รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขภูฏานเผยกับ AP

เมื่อเดือน เม.ย. ภูฏานกลายเป็นข่าวดังหลังจากรัฐบาลเผยว่าฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนแล้วราว 90% ภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากอินเดียบริจาควัคซีนของ AstraZeneca ให้ 550,000 โดส

ทว่าภูฏานต้องขาดแคลนวัคซีนอยู่หลายเดือน เนื่องจากอินเดียหยุดส่งออกวัคซีนชั่วคราวเพราะต้องเก็บไว้ใช้เองในประเทศรับมือการระบาดหนัก

ภูฏานกลับมาเดินหน้าฉีดวัคซีนอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหลังได้รับวัคซีนของ Moderna ที่สหรัฐบริจาคให้ผ่านโครงการแจกจ่ายวัคซีน COVAX จำนวน 500,000 โดส รวมทั้งวัคซีนของ Pfizer อีก 5,000 โดสจาก COVAX และของ AstraZeneca อีกกว่า 400,000 โดสที่ได้รับบริจาคจากเดนมาร์ก โครเอเชีย บัลแกเรีย และ Sinopharm จากจีนอีก 50,000 โดส

ในขณะที่ประเทศตะวันตกหลายประเทศที่มีวัคซีนมากกว่ายังฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้น้อยกว่าภูฏาน

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเผยว่า จำนวนประชากรของภูฏานซึ่งมีเพียงเกือบ 800,000 คน บวกกับสารจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ส่งไปถึงประชาชนอย่างชัดเจน และระบบการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิช่วยให้การฉีดวัคซีนประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ ความร่วมมือของบุคลากรสาธารณสุขมากกว่า 3,000 คนและศูนย์ฉีดวัคซีน 1,200 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศทำให้ประชากรวัยผู้ใหญ่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ทุกคนแม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงยากก็ตาม

โซนัม วังชุก หนึ่งในทีมที่รับผิดชอบการฉีดวัคซีนเผยว่า ในบางเคสบุคลากรทางการแพทย์ต้องเดินทางอย่างยากลำบากหลายวันฝ่าแผ่นดินถล่มและสายฝนกระหน่ำเพื่อให้ไปถึงหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลบนภูเขาสูงชันเพื่อฉีดวัคซีนให้ชาวบ้านที่ไม่สามารถเดินทางไปศูนย์ฉีดวัคซีน

โดยต้องรับวัคซีนจากเฮลิคอปเตอร์แล้วเดินต่อไปจนถึงศูนย์ฉีดวัคซีนที่อยู่ห่างไกล ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาวัคซีนให้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมตลอดเวลา

นอกจากนี้ รัฐบาลของภูฏานยังเต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขล้วนเคยประกอบวิชาชีพทางการแพทย์มาก่อน

ยังไม่นับรวมถึงการสื่อสารจากรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการตอบคำถามเกี่ยวกับ Covid-19 และวัคซีนของประชาชนผ่านเฟซบุ๊ค ที่ช่วยขจัดความลังเลในการฉีดวัคซีนของชาวภูฏานได้ไม่น้อย

นอกเหนือจากนั้น โลเท เชอร์ริง นายกรัฐมนตรีและสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ยังออกมาสนับสนุนวัคซีนตั้งแต่แรกๆ ซึ่งทำให้ความกลัววัคซีนของประชาชนบรรเทาเบาบางลง อีกทั้งสมเด็จพระราชาธิบดียังเสด็จฯ ไปทั่วประเทศเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน

วิล พาร์คส์ ผู้แทนองค์การ UNICEF ประจำภูฏานเผยว่า ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ภูฏานฉีดวัคซีนได้สำเร็จคือ เครือข่ายอาสาสมัครจากภาคประชาชนที่เรียกว่า desuups

โดยตลอด 1 ปีครึ่งที่ผ่านมามีอาสาสมัครชาวภูฏานราว 22,000 คนทำหน้าที่สร้างความตระหนัก ขจัดข่าวปลอม ช่วยคัดกรองและตรวจหาเชื้อ หรือแม้กระทั่งช่วยขนส่งวัคซีนที่ยังพื้นที่ที่เข้าถึงยากอย่างบนภูเขา

Photo by Upasana DAHAL / AFP