posttoday

มาอีกหนึ่ง! เยอรมนีส่งเรือรบเข้าทะเลจีนใต้ตามรอยอังกฤษ

03 สิงหาคม 2564

เยอรมนีส่งเรือรบเข้าทะเลจีนใต้ตามรอยอังกฤษท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดกับจีน

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ทางการเยอรมนีส่งเรือรบ “บาเยิร์น” (Bayern) เข้าไปปฏิบัติภารกิจในทะเลจีนใต้ครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี ร่วมกับชาติตะวันตกอื่นๆ ในการขยายกำลังทางทหารในภูมิภาคท่ามกลางความตึงเครียดจากการขยายอิทธิพลของจีน และอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีและจีนสะดุด

เรือรบบาเยิร์นออกเดินทางจากท่าเรือวิลเฮล์มส์ฮาเฟินทางตอนเหนือของประเทศเมื่อวันจันทร์ (2 ส.ค.) พร้อมด้วยลูกเรือ 232 คนเพื่อปฏิบัติภารกิจในทะเลจีนใต้ซึ่งจะกินเวลาราว 7 เดือน และเดินเรือผ่านสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และเวียดนาม คาดว่าจะเข้าสู่ทะเลจีนใต้ราวกลางเดือน ธ.ค.นี้

อันเนอเกรต ครัมพ์-คาร์เรินเบาเออร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเยอรมนีเผยว่า “เรากำลังยืนหยัดเพื่อค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกับหุ้นส่วนและพันธมิตรของเรา...สำหรับหุ้นส่วนของเราในอินโด-แปซิฟิก มันคือความจริงที่เส้นทางเดินเรือไม่ได้เปิดกว้างและปลอดภัยอีกต่อไป...เราต้องการให้เคารพกฎหมายที่มีอยู่ ให้ใช้เส้นทางเดินเรืออย่างเสรี ให้สังคมเปิดกว้างได้รับการปกป้อง ให้การค้าเป็นไปอย่างยุติธรรม”

ครัมพ์-คาร์เรินเบาเออร์ย้ำว่า ภารกิจนี้ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง และเยอรมนีได้เสนอจะแวะเยี่ยมท่าเรือของจีนเพื่อรักษาการติดต่อกันไว้

ขณะที่ ไฮโก มาส รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีเผยว่า “อินโด-แปซิฟิกคือที่ที่จะกำหนดความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศในอนาคต เราต้องการช่วยกำหนดมันและรับผิดชอบต่อความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่เป็นไปตามกฎหมาย”

เยอรมนีอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องระมัดระวังระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคง เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของเยอรมนี โดยก่อนหน้านี้เยอรมนีมักจะสงวนท่าทีในการเข้ามามีบทบาททางการทหารในเวทีนานาชาติ และมักจะตักเตือนให้ประเทศอื่นๆ เลี่ยงการเผชิญหน้ากับจีน

ทว่า ท่าทีของเยอรมนีเปลี่ยนไป โดยสัญญาการลงทุนร่วมกับจีนที่ลงนามเมื่อปี 2020 ถูกพักไว้ชั่วคราว อีกทั้งแนวทางของรัฐบาลฉบับใหม่ที่เผยแพร่เมื่อปี 2020 ยังเน้นกระชับความสัมพันธุ์กับหุ้นส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้อังกฤษประกาศว่าจะส่งเรือรบมาประจำการในทะเลจีนใต้ถาวร รวมทั้งประเทศอื่นๆ อาทิ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ที่เข้ามาเคลื่อนไหวในอินโด-แปซิฟิกเพื่อสกัดการขยายอิทธิพลของจีน