posttoday

อินเดียพบผู้ป่วย 'ราดำมรณะ' กว่า 4 หมื่นคน ตายกว่า 4 พัน

22 กรกฎาคม 2564

อินเดียรายงานผู้ป่วยราดำมรณะผลพวงโควิด-19 กว่า 45,000 คน

หลังจากที่อินเดียเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนักโดยมีผู้ป่วยวันละหลายแสนคนเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้อินเดียต้องเผชิญกับการระบาดของเชื้อราดำ (Mucormycosis) โดยหลายรัฐพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อราตัวนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งราวร้อยละ 84.4 มีประวัติป่วยด้วยโรคโควิด-19

ล่าสุด สื่อท้องถิ่นอินเดีย Hindustan Times รายงานว่ามันสุข มัณฑวิยา (Mansukh Mandaviya) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อราดำในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีจำนวนมากถึง 45,432 ราย โดยในจำนวนนี้มี 4,252 รายเสียชีวิต และ 21,085 ยังอยู่ในโรงพยาบาล

โดยรัฐที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือมหาราษฏระและคุชราต ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 1,785 รายจากเชื้อราดำ

ขณะที่ BBC รายงานว่าจำนวนผู้ติดเชื้อราดำในอินเดียอยู่ที่ 45,374 รายและเสียชีวิตกว่า 4,300 ราย

ดร.รากูราช เฮกเด (Raghuraj Hegde) ศัลยแพทย์ในบังกาลอร์ซึ่งรักษาผู้ป่วยเชื้อราดำจำนวนมากกล่าวกับ BBC ว่าในความเป็นจริงแล้วมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวจำนวนมากกว่านี้ แต่เนื่่องจากการวินิจฉัยในโรงพยาบาลขนาดเล็กหรือในพื้นที่ชนบทนั้นทำได้ยาก และมีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยที่ถูกส่งตัวถึงโรงพยาบาลในเมืองใหญ่

ราดำคืออะไร เกี่ยวอะไรกับโควิด?

ทั้งนี้ โรคดังกล่าวไม่ใช่โรคใหม่ โดยเชื้อราเหล่านี้มีอยู่ในธรรมชาติโดยเฉพาะในดินและในอินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อย เช่น ใบไม้ ปุ๋ยหมัก ผักผลไม้เน่าเปื่อย และซากไม้

โดยเชื้อราจะสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการสูดหายใจเข้าไป หรือกลืนนสปอร์ของเชื้อราไปพร้อมกับอาหาร หรือปนเปื้อนในบาดแผล แต่หากผู้ที่มีร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงดีก็จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้

แต่มันเป็นเชื้อราฉวยโอกาสมักเกิดในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอและมักพบร่วมกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง เบาหวาน หรือผู้ที่มีภูิมคุ้มกันไม่แข็งแรง ซึ่งเป็นภาวะการติดเชื้อราที่ลุกลามรวดเร็วและมีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 50 ถึง 100

การติดเชื้อราดำมักพบบริเวณโพรงจมูกและอาจลามขึ้นตา สมอง หรือปอดซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตในผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง หรือผู้ติดเชื้อเอชไอวี

ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งอินเดีย (AIIMS) ระบุว่าการใช้สเตียรอยด์วิธีก็เป็นสาเหตุสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการติดเชื้อ Mucormycosis รวมถึงการใช้สเตียรอยด์ในการรักษาโรคโควิด-19

ซึ่งมีผลต่อภูมิคุ้มกันระดับน้ำตาลในเลือดทั้งในผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่เป็นเบาหวาน ซึ่งแพทย์คาดว่าภูมิคุ้มกันที่ลดลงนี้อาจทำให้เกิดภาวะการติดเชื้อราดำได้

นอกจากนี้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ปอดและภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงหรือเชื้อราก็จะสามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยพบว่าเชื้อราดังกล่าวมักเกิดขึ้น 12-18 วันหลังจากฟื้นตัวจากโควิด

โดยก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อราดำโดยเฉลี่ยเพียง 20 รายต่อปี แต่มีเยอะขึ้นเพราะโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงในอินเดียโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน แต่ค่อยๆ ลดลงในเวลาต่อมา

Photo by Prakash SINGH / AFP