posttoday

'ไม้ด่างฟีเวอร์' จะตามรอยคลั่งทิวลิปเมื่อหลายร้อยปีก่อนหรือไม่

20 กรกฎาคม 2564

โลกเรียนรู้อะไรจากกระแสคลั่งทิวลิป (Tulip mania) เมื่อเกือบ 400 ปีก่อน

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การปลูกต้นไม้กลายมาเป็นกิจกรรมยอดฮิตในช่วง work from home ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้คนกำลัง "แสวงหาธรรมชาติ" อยากได้อะไรที่มองแล้วสบายตาสบายใจ นั่นทำให้เกิดเทรนด์ปลูกต้นไม้ฟอกอากาศจนยอดซื้อยอดจองพุ่งกระฉูด ฉุดราคาพุ่งทะยานเป็น 10 เท่าเลยทีเดียว

ยิ่งถ้าหากมีลวดลายด่างสวยงามแปลกตาก็ยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีก ไม้ด่างยอดฮิตที่หลายคนอยากจับจองเป็นเจ้าของไม่ว่าจะเป็นมอนสเตอร่า, ยางอินเดีย และฟิโลเดนดรอน พิงค์ ปรินเซส เป็นต้น รวมถึงต้นกล้วยหากมีใบด่างสวยงามก็ได้รับความสนใจอย่างมากเช่นกัน โดยสายพันธุ์ยอดนิยมก็อย่างเช่นแดงอินโด และกล้วยฟลอริดา

ต้นไม้เหล่านี้มีราคาตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลายแสนบาทหรือถึงหลักล้านก็มี ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ความหายาก ขนาด รวมถึงลายด่างของมัน เรียกได้ว่ามาถึงจุดที่กล้วยมีราคาแพงกว่าทองไปแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 400 ปีก่อนโลกเราเคยมีปรากฏการณ์ลักษณะนี้มาแล้วและรุนแรงกว่านี้ด้วยซ้ำเพราะกระแส "คลั่งทิวลิป" (Tulip mania) ครั้งนั้นทำให้เกิดฟองสบู่แตกครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก

ราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 "ทิวลิป" ได้รับการนำเข้ามาในทวีปยุโรปจากจักรวรรดิออตโตมัน และกลายมาเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในสาธารณรัฐดัตช์ หรือเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน

ทิวลิปกลายมาเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยอย่างรวดเร็วและกลายเป็นของสะสมล้ำค่าของประดาชนชั้นสูง ซึ่งทำให้ความนิยมในการแสวงหาหัวทิวลิปมาเป็นเจ้าของกันยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทิวลิปสีผสม (broken tulip) ที่มีลวดลายหลายสีในดอกเดียวกันซึ่งเกิดจากการติดไวรัสโมเสก (mosaic virus หรือไวรัสใบด่าง) ที่มีพาหะคือเแมลงวันเขียว (Myzus persicae) ทำให้เกิดลวดลายคล้ายขนนกอันละเอียดอ่อน 

ฟังดูคล้ายๆ กับกระแส "ไม้ด่างฟีเวอร์" ในขณะนี้ที่เกิดจากความผิดปกติของมันไม่ว่าจะเป็นการขาดแสง ขาดสารอาหาร ความผิดปกติทางพันธุกรรม รวมถึงการเกิดโรค สีด่างของทิวลิปกับไม้ใบด่างยังถูกเรียกเหมือนกันคือ Variegated/Variegation ซึ่งหมายถึงภาวะที่พืชด่างหรือมีสีต่าง และยิ่งด่าง ยิ่งหายาก คนก็ยิ่งต้องการนั่นเอง

ยิ่งคนต้องการมากไม่ว่าราคาแพงแค่ไหนก็ยอมจ่าย จึงเกิดบรรดาพ่อค้าหัวใสปั่นราคาทิวลิปให้สอดคล้องกับความต้องการที่มีอย่างไม่จำกัด ซึ่งสัมฤทธิผลอย่างง่ายดาย เมื่อราคาดอกทิวลิปพันธุ์เด่นๆ ที่ราคาแตะหลายร้อยฟลอรินส์ (ค่าเงินของเนเธอร์แลนด์ขณะนั้น) อยู่แล้ว ถูกปั่นจนมีราคาเป็นหลายพัน บางพันธุ์ถูกปั่นราคาจนมากกว่าเดิมถึง 20 เท่า

เมื่อหัวทิวลิปมีค่าเท่าคฤหาสน์หรืออาจเท่าเมืองทั้งเมืองด้วยซ้ำ ผู้คนจากชั้นต่างๆ ของสังคมจึงถูกดึงดูดเข้าสู่วังวนของความโลภ ประชาชนยอมขายบ้าน ขายทรัพย์สินเพื่อแลกกับทิวลิป ตลาดทิวลิปหลายแห่งผุดขึ้นทั่วประเทศ แม้กระทั่งประชาชนชนชั้นล่างสุดต่างก็หันมามีส่วนร่วมในการค้าขาย

แต่ใครจะไปคาดคิดว่าในปี 1637 หลังจากที่ทิวลิปพุ่งขึ้นสูงสุด บรรดาผู้ใช้เงินอย่างชาญฉลาดพากันเทขายทิวลิปในทันทีทันใด ทำให้ราคาที่เคยแพงลิบลิ่วดิ่งฮวบอย่างน่าใจหาย บางพันธุ์ไร้ราคาไปโดยปริยาย บางพันธุ์เหลือมูลค่าเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น

รัฐบาลดัตช์ต้องพยายามกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพินาศ ด้วยการจัดคณะกรรมการไกล่เกลี่ย และขออำนาจศาลสั่งให้การซื้อขายบางช่วงถือเป็นโมฆะ และกระแสคลั่งทิวลิปครั้งนั้นทำให้ประเทศต้องพบกับความบอบช้ำไปอีกนานนับปี

เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหลายต่อหลายที่ อย่างเมื่อราว 10 ปีก่อนชาวอินโดนีเซียเกิดกระแสอิต "หน้าวัวใบ" ยอมสละบ้านสละรถจนท้ายที่สุดราคาของมันก็ตกฮวบลงมา

สิ่งสำคัญคือต้องลงทุนด้วยความระมัดระวัง เพราะไม่มีใครรู้เลยว่าราคาของมันจะตกลงเมื่อไรและหากกระแสปลูกต้นไม้ไม่เป็นที่นิยมมากเช่นนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น

ภาพโดย Bozejmonstera/Wikipedia และ Fanghong/Wikipedia