posttoday

วัคซีน BioNTech สร้างภูมิคุ้มกันได้มากกว่า Sinovac 10 เท่า 

16 กรกฎาคม 2564

วิจัยชี้วัคซีนชนิด mRNA สร้างภูมิคุ้มกันได้มากกว่าวัคซีนชนิดเชื้อตายอย่างเห็นได้ชัด

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ผลการวิจัยจากฮ่องกงพบว่า ปริมาณแอนติบอดีที่เกิดจากวัคซีนชนิด mRNA และวัคซีนชนิดเชื้อตายที่ช่วยป้องกัน Covid-19 มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน เป็นการค้นพบล่าสุดว่าอะไรที่ส่งผลต่อผลลัพธ์หลากหลายที่เกิดขึ้นหลังการระดมฉีดวัคซีนโดยใช้วัคซีนต่างชนิดกัน

งานวิจัยซึ่งตพิมพ์ในวารสาร Lancet เมื่อวันพฤหัสบดี (15 ก.ค.) พบว่า ระดับแอนติบอดีของบุคลากรสาธารณสุขในฮ่องกงที่ฉีดวัคซีนชนิด mRNA ของ BioNTech ครบทั้งสองโดสแล้วสูงกว่าถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับของบุคลกรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายของ Sinovac

งานวิจัยระบุว่า แม้ว่าในการตรวจวัดความสามารถในการสร้างภูมิตุ้มกันและประสิทธิภาพของวัคซีนของวัคซีนแต่ะชนิดจะไม่ได้รวมถึงแอนติบอดีที่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคในภาพรวมด้วย แต่ความแตกต่างของปริมาณภูมิคุ้มกันที่พบในการศึกษาครั้งนี้สามารถบ่งบอกได้ถึงความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดของประสิทธิภาพของวัคซีน

ข้อมูลดังกล่าวเป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ยืนยันความยอดเยี่ยมของวัคซีนในการปกป้องเชื้อโคโรนาไวรัสทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์กลายพันธุ์อย่างเต็มที่และครอบคลุม เมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดเชื้อตาย

หลายประเทศตั้งแต่อิสราเอลไปจนถึงสหรัฐที่ใช้วัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer-BioNTech และ Moderna เป็นวัคซีนหลัก มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงชัดเจน ขณะที่ประเทศที่ใช้วัคซีนชนิดเชื้อตายจากจีนอย่าง Sinovac และ Sinopharm ตัวเลขยังลดลงไม่มาก

อย่างไรก็ดี วัคซีนทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการหนักและการเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ

ประสิทธิภาพที่ลดลงของวัคซีนชนิดเชื้อตายส่งผลให้หลายประเทศ อาทิ ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เสนอให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบทั้งสองโดสแล้วฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เนื่องจากเชื้อสายพันธุ์กลายพันธุ์ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น