posttoday

สื่อนอกมองไทยเสี่ยงเป็นเหมือนเซเชลส์หลังเปิดรับ นทท.ต่างชาติ

15 กรกฎาคม 2564

ตัวเลขผู้ติดเชื้อของเซเชลส์กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

บทความของ Bloomberg ระบุว่า อีกไม่ถึง 100 วันก็จะถึงกำหนดที่ไทยจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ตอนนี้สถานการณ์การะบาดในยังแย่ลงและการฉีดวัคซีนยังช้า

สถานการณ์ในตอนนี้ของไทยไม่ต่างจากประเทศอื่นที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว นั่นคือต้องรีบฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เสียหายยับเยินจากการแพร่ระบาดที่กินเวลากว่า 18 เดือนแล้ว ในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสอาจแพร่กระจายจากการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

นี่เป็นเคสที่มัลดีฟส์และเซเชลส์กำลังเผชิญ เกาะสวรรค์ทั้งสองแห่งนี้พบตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เปิดประตูรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แม้ว่าจะฉีดวัคซีนครอบคลุมประชาชนราว 70% แล้วก็ตาม และหากไทยต้องการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในระดับเดียวกับมัลดีฟส์และเซเชลส์เราต้องใช้เวลาเกือบปีหากยังฉีดในอัตราที่ใช้ในขณะนี้

ก่อน Covid-19 ระบาด เม็ดเงินจากภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วนราว 20% ของจีดีพี เมื่ออุตสาหกรรมนี้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดจึงส่งผลต่อคนงานมากกว่า 7 ล้านคน ไล่ตั้งแต่คนขายสตรีทฟู้ด คนขับแท็กซี่ พนักงานทำความสะอาดของโรงแรม ไปจนถึงไกด์

ด้วยเหตุนี้การเปิดประเทศจึงเป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้ที่คุ้มค่า Bloomberg อ้างอิงคำพูดของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือนที่แล้วที่เผยแผนเปิดประเทศว่า “เราไม่สามารถรอจนไวรัสนี้หมดไปจากโลก และเราก็ไม่สามารถรอ จนทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสกันถ้วนหน้าก่อน แล้วจึงค่อยเปิดประเทศ”

ขณะที่ภาคเอกชนอย่าง บิลล์ บาร์เน็ตต์ กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริการ C9 Hotelworks เผยว่า “เราปิดประเทศไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชียที่มีประชากรเยอะ เหล่านี้เป็นเศรษฐกิจเพื่อการยังชีพและไม่สามารถอยู่รอดได้ในระยะยาวเช่นนี้ สุดท้ายแล้วคุณต้องทำให้คนมีข้าวกิน”

สำหรับแผนการเปิดประเทศของไทยในขั้นแรกนั้น นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วสามารถเดินทางท่องเที่ยวในภูเก็ตโดยไม่ต้องกักตัว และจนถึงวันที่ 13 ก.ค. มีชาวต่างชาติเดินทางเข้าภูเก็ตแล้วกว่า 4,700 คน โดย 6 คนมีผลตรวจ Covid-19 เป็นบวก

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแม้จะพบการระบาดระลอกใหม่ก็ตาม อาทิ ศรีลังกา ที่เพิ่งผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนเกือบ 5% ของจีดีพี

ศรีลังการับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัควีนแล้วเข้าประเทศโดยให้กักตัวเพียง 1 วันเพื่อตรวจหาการติดเชื้อ โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางระหว่างโรงแรมที่เปิดทราเวลบับเบิลและท่องเที่ยวในสถานที่ที่กำหนดไว้

ย้อนกลับมาที่ไทย ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเตือนว่า การกลับมาเปิดการท่องเที่ยวในขณะที่เชื้อสายพันธุ์เดลตากำลังระบาด บวกกับการตรวจหาผู้ติดเชื้อและการฉีดวัคซีนต่ำ อาจทำให้ความเสียหายทางเศรษฐกิจแย่ลงในระยะยาว

“ด้วยการระบาดที่ยืดเยื้อ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจะเลวร้ายที่สุดเท่าที่ผู้คนเคยประสบมา” รองศาสตราจารย์ ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผย “ปัญหาคือ คนส่วนใหญ่จะไม่สามารถรับมือได้ เพราะทรัพยากรเหลือน้อยแล้ว”

จุดท่องเที่ยวอื่นๆ ที่เปิดพรมแดนก็เผชิญกับเคส Covid-19 เพิ่มจนต้องคุมเข้มการเดินทางเข้าประเทศ อาทิ หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ที่เริ่มรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว เพิ่งประกาศว่านักท่องเที่ยวทุกคนต้องตรวจ Covid-19 เมื่อเดินทางมาถึงและต้องกักตัวจนกว่าผลตรวจจะออกมาว่าเป็นลบ เพราะเจอผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

ส่วนกรีซที่เม็ดเงินจากภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วน 1 ใน 5 ของจีดีพีเช่นเดียวกับไทย ยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศเทศก่อนถึงฤดูกาลการเดินทางท่องเที่ยวช่วงซัมเมอร์ของยุโรป ซึ่งถูกนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี วิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งเรื่อง ที่กรีซยอมรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนของจีนและรัสเซียที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรป

ต่อมากรีซบังคับใช้มาตรการต่างๆ เข้มงวดขึ้น รวมทั้งห้ามคนที่ไม่ฉีดวัคซีนเข้ายาร์ โรงภาพยนตร์ และสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตบนเกาะต่างๆ หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นตั้งแต่ชวงปลายเดือน มิ.ย. จากสายพันธุ์เดลตา

รองศาสตราจารย์ธีระเผยว่า สำหรับประเทศไทย การรีบร้อนกลับมาเปิดประเทศอาจเป็นตัวเร่งให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ “ในขณะที่การระบาดยังคงดำเนินต่อไปและงบประมาณและทรัพยากรถูกใช้จนหมด ไทยอาจต้องผ่อนปรนทุกมาตรการและผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น นั่นเป็นสถานการณ์ที่แย่ที่สุด”