posttoday

พิษโควิดทำอินโดหมดหวังเป็นประเทศพัฒนา

14 กรกฎาคม 2564

ไทยดูไว้ อินโดนีเซียถูกลดสถานะประเทศรายได้ปานกลางหลังเศรษฐกิจพังเพราะโควิด-19

บลูมเบิร์กรายงานว่าอินโดนีเซียสูญเสียสถานะการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper Middle-Income) เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนี้ ส่งผลให้ความยากจนและการว่างงานเพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ธนาคารโลกจึงปรับลดสถานะอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำ (Lower Middle-Income) เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ด้วยรายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ 3,870 เหรียญสหรัฐ

รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหดตัว 2.1% ในปีที่แล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจต้องเผชิญกับภาวะถดถอยครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตการเงินในเอเชียเมื่อ 20 กว่าปีก่อน

Febrio Kacaribu หัวหน้าสำนักงานนโยบายการคลังของกระทรวงการคลังอินโดนีเซียกล่าวว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2020 เกือบทุกประเทศติดลบ ดังนั้นการลดลงของรายได้ต่อหัวของอินโดนีเซียจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากเร่งฉีดวัคซีนได้ในอัตราที่สูงอินโดนีเซียอาจสามารถไต่ขึ้นสู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงได้ภายในสิ้นปีนี้

กับดักรายได้ปานกลาง

ในปีที่แล้วอินโดนีเซียเข้าสู่สถานะประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงด้วยรายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ 4,050 เหรียญสหรัฐ

ก่อนที่จะเผชิญกับโรคระบาด ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ของอินโดนีเซียตั้งเป้าว่าจะทำให้ประเทศหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางโดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและดึดดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

แต่เมื่อมีการเข้ามาของโควิด-19 ธุรกิจหลายแห่งต้องปิดตัวลง นำไปสู่การลดค่าจ้างและการตกงาน โดยมีผู้ว่างงานเนื่องจากโควิด-19 ถึง 1.6 ล้านคน ส่งผลให้จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 8.75 ล้านคน ณ เดือนกุมภาพันธ์

ชาวอินโดนีเซียถึง 2.75 ล้านคนอยู่ใต้เส้นความยากจนเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ความพยายามของประเทศในการรักษาอัตราความยากจนด้วยหัวเลขหลักเดียวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาถูกทำลายลง เนื่องจากอัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 10.19% จาก 9.22% ในปีก่อนหน้า

"การระบาดใหญ่ยังสร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจ ดังนั้น ในตอนนี้รัฐบาลจะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อควบคุมการระบาดของโรคต่อไป เพื่อให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินต่อไปได้" Kacaribu กล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารโลกกำหนดเกณฑ์สำหรับปี 2021 ถึง 2022 ดังนี้

  • ประเทศรายได้สูงต้องมีรายได้ประชาชาติต่อหัวมากกว่า 12,695 เหรียญสหรัฐ
  • ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงต้องมีรายได้ประชาชาติต่อหัวระหว่าง 4,096 ถึง 12,695 เหรียญสหรัฐ
  • ประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำต้องมีรายได้ประชาชาติต่อหัวระหว่าง 1,046 ถึง 4,095 เหรียญสหรัฐ
  • ประเทศรายได้ต่ำมีรายได้ประชาชาติต่อหัวต่ำกว่า 1,046 เหรียญสหรัฐ

แม้ว่าอินโดนีเซียจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน แต่มีประชากรมากกว่า 200 ล้านคนหรือมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ส่งผลให้รายได้ประชาชาติต่อหัวของอินโดนีเซียค่อนข้างต่ำ

อย่างไรก็ดีนอกจากรายได้ต่อหัวแล้ว การเป็นประเทศพัฒนาแล้วพิจารณาจากอีกหลายปัจจัยด้วยกันไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว รวมถึงดัชนีการพัฒนามนุษย์ซึ่งเป็นการรวมเอามาตรวัดในด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ อายุขัย และการศึกษา

ทำไมไทยต้องระวัง

เนื่องจากเดิมทีไทยและอินโดนีเซียอยู่ในสถานะเดียวกันคือประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง แต่การเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของอินโดนีเซียนั้นแสดงให้เห็นว่ากระทบต่อรายได้และเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างยิ่ง

เช่นเดียวกับประเทศไทยซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกที่มีความรุนแรงมากที่สุด ส่งผลให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมถึงสังเกตได้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อรายได้ประชาชาติต่อหัวของไทย โดยในปี 2019 รายได้ประชาชาติต่อหัวของไทยอยู่ที่ 7,260 เหรียญสหรัฐก่อนที่จะร่วงลงมาเป็น 7,050 เหรียญสหรัฐในปี 2020

นอกจากนี้การแบ่งเกณฑ์รายได้ประเทศของธนาคารโลกในปี 2021 ถึง 2022 นั้นมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งส่งผลให้เกณฑ์รายได้นั้นสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน

เพื่อนบ้านเราอยู่ตรงไหนบ้าง

สำหรับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนนั้นพบว่าประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย และไทย, ประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย และประเทศรายได้สูง ได้แก่ สิงคโปร์

Photo by ADITYA AJI / AFP