posttoday

เจาะสาเหตุทำไมอินโดนีเซียถึงติดโควิดแซงหน้าอินเดีย

14 กรกฎาคม 2564

อินโดนีเซียจัดการ Covid-19 ล้มเหลวจนติดเชื้อแซงหน้าอินเดีย กลายเป็นศูนย์กลางการระบาดในอาเซียน

ดูเหมือนว่าอินโดนีเซียจะออกมาจากสถานการณ์เลวร้ายของ Covid-19 ได้เป็นช่วงสั้นๆ ในเดือน พ.ค. โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันลดลงเกินครึ่งเมื่อเทียบกับช่วงที่ระบาดพีคๆ เมื่อเดือน ก.พ.

ทว่าหลังจากนั้น 2 เดือนตัวเลขผู้ติดเชื้อของอินโดนีเซียกลับแซงหน้าอินเดียที่เคยเจอการระบาดหนักที่สุด และกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากต้องเผชิญกับสายพันธุ์เดลตา

ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันของอินโดนีเซียพุ่งเกิน 40,000 คน 2 วันติดต่อกัน รวมทั้งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 47,899 คนเมื่อวันอังคาร (13 ก.ค.) เพิ่มขึ้นจากวันละไม่ถึง 10,000 คนในช่วง 1 เดือนก่อนหน้า ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ของอินเดียลดลงต่ำกว่า 33,000 คนในวันเดียวกัน

เหตุใดเพื่อนบ้านของไทยจึงเอาไม่อยู่เมื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องรับมือกับสายพันธุ์เดลตา

Bloomberg บอกว่า การแพร่ระบาดในอินโดนีเซียเป็นการตอกย้ำถึงผลที่ตามมาจากการกระจายวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมกันคือ ประเทศร่ำรวยพากันกักตุนวัคซีน ปล่อยให้ประเทศยากจนต้องเผชิญกับการระบาดของสายพันธุ์กลายพันธุ์อย่างเดลตา

เทดรอส อัดฮานอม กรีเบเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงกับเรียกสถานการณ์นี้ว่าเป็น “มหันตภัยความล้มเหลวทางศีลธรรม”

จนถึงขณะนี้อินโดนีเซียฉีดวัคซีนครอบคลุมเพียง 10% ของประชากรทั้งหมด 270 ล้านคน และมีเพียง 5.7% เท่านั้นที่ได้รับครบโดสแล้ว เมื่อประชาชนมีภูมิคุ้มกันน้อยจึงไม่แปลกที่จะมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก

วัคซีนส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียยังมาถึงมือช้า โดยเกือบ 85% เพิ่งได้รับจากจีนเมื่อปลายเดือน มิ.ย. และยังมีความคลางแคลงใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนของ Sinovac โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันสายพันธุ์เดลตา หลังจากบุคลากรทางการแพทย์หลายคนที่ฉีด Sinovac ครบ 2 เข็มแล้วติด Covid-19 และบางรายเสียชีวิต

ถึงอย่างนั้นเจ้าหน้าที่รัฐบาลยังยืนยันว่าวัคซีนจีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการหนักและการเสียชีวิต

ปันดู ริโอโน นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซียถึงกับพูดถึงการระบาดระลอกล่าสุดของอินโดนีเซียว่า “นี่คือความอ่อนแอของระบบที่สะสมพอกพูนขึ้น คุณไม่สามารถโทษไวรัสอย่างเดียว จริงๆ แล้วนี่เป็นปัญหาของพฤติกรรมมนุษย์”

อันที่จริงการรับมือกับโรคระบาดของอินโดนีเซียเต็มไปด้วยปัญหามาตั้งแต่เริ่มแรก กว่าทางการจะยืนยันว่าพบผู้ติด Covid-19 2 รายก็ต้องรอจนถึงวันที่ 2 มี.ค.ปีที่แล้ว ทั้งที่มีตัวบ่งชี้ว่า Covid-19 เข้ามาในประเทศตั้งแต่เดือน ม.ค.

เตราวัน อากัส ปูตรันโด รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นยังโจมตีรายงานของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่บอกว่าอินโดนีเซียอาจมีผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้รายงาน และยืนยันว่าการสวดมนต์ช่วยให้อินโดนีเซียห่างไกล Covid-19 แต่แล้วก็พิสูจน์ได้ว่าการสวดมนต์ช่วยไม่ได้

การระบาดของสายพันธุ์เดลตาและการเดินทางในช่วงเทศกาลอีดิลฟิฏรียิ่งเผยให้เห็นความล้มเหลวที่มีมายาวนานของมาตรการจัดการกับการระบาดของ Covid-19

นักระบาดวิทยาพากันเตือนว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งขึ้นและเรียกร้องให้รัฐบาลจำกัดการเดินทางและการรวมตัวกันในช่วงเทศกาล ในขณะนั้นรัฐบาลกลับสั่งห้ามการเดินทางในช่วงสั้นๆ ส่งผลให้ประชาชนราว 1.5 ล้านคนกระจายตัวอยู่ที่สนามบินและสถานีรถไฟเพื่อเดินทางกลับไปรวมญาติที่บ้านเกิด

ยูดีนา เมลิสซา หัวหน้านักยุทธศาสตร์ของศูนย์ความคิดริเริ่มการพัฒนาเชิงกลยุทธ์อินโดนีเซีย วิจารณ์การจัดการของรัฐบาลอย่างดุเดือดว่า “รัฐบาลลงมือลดอัตราการแพร่เชื้อช้าเกินไป ไร้ความสามารถในการอ่านข้อมูล และละเลยตำเตือนของผู้เชี่ยวชาญ”

ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ลังเลในการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดในช่วงที่มีการระบาดเนื่องจากกลัวว่าจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ ขณะที่กฎที่นำมาใช้ก็ไม่ได้บังคับใช้อย่างเข้มงวด และเมื่อเร็วๆ นี้ทางการยังส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศด้วยโครงการ “ทำงานจากบาหลี” เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและโรงแรมในพื้นที่ โดยเพิ่งยกเลิกเมื่อสัปดาห์แล้วหลังล็อกดาวน์บาหลี

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขวิพากษ์วิจารณ์ว่าข้อความที่รัฐบาลสื่อสารไปถึงประชาชนขัดแย้งกันเองจนสร้างความสับสน และยังล้มเหลวในการยกระดับระบบสาธารณสุขและการเฝ้าระวังในช่วงที่ยังสามารถจัดการการติดเชื้อได้

อินโดนีเซียยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการตรวจหาเชื้อที่ต่ำที่สุดในโลก และแม้ตัวเลขจะขยับขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาแต่ก็ยังห่างไกลจากเป้าของรัฐบาลและไม่ทันกับการระบาด เช่นเดียวกับการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกที่ต่ำไม่แพ้กัน

ขณะที่ ดิกกี บูดิแมน จากมหาวิทยาลัยกรฟฟิธของออสเตรเลียเผยว่า ทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ที่มีการระบาดหนักทำงานในความมืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายพื้นที่บนเกาะชวาที่ไม่รู้ปัญหาเพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางคนยังปกปิดความจริงว่าตัวเองติด Covid-19 ทำให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเสี่ยงติดเชื้อจากผู้ป่วยเหล่านี้ไปด้วย

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อของอินโดนีเซียพุ่งแซงหน้าอินเดียคือ การเคลื่อนที่ของประชาชน จากข้อมูลของ Google พบว่า ชาวอินโดนีเซียเดินทางมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ระหว่างเดือน มี.ค.ถึงต้นเดือน ก.ค.ปีที่แล้วพบว่าการเคลื่อนที่ในร้านอาหารและศูนย์การค้าลดลงเฉลี่ย 28% แต่ช่วงเวลาเดียวกันของปีนี้ที่การระบาดหนักกว่า กิจกรรมเหล่านั้นลดลงเพียง 9.5% เท่านั้น

ขณะที่การล็อกดาวน์บนเกาะชวาและบาหลีซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 3-20 ก.ค.นี้ ไม่ได้ลดการเคลื่อนไหวของประชาชนมากเท่าที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้คือ ลดเพียง 6% เหลือ 16% นับตั้งแต่เริ่มล็อกดาวน์ ขณะที่รัฐบาลต้องการให้การเดินทางลดลง 20%

นอกเหนือจากนี้ Nikkei Asia รายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่รัฐบาลว่า ตอนแรกรัฐบาลท้องถิ่นและชุมชนปฏิเสธการบังคับใช้มาตรการสกัด Covid-19 ที่เข้มงวดขึ้น แต่หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรัฐบาลเหล่านี้มีความเข้าใจมากขึ้นจนยอมประกาศมาตรการ แต่นั่นก็อาจไม่ทันการณ์

ด้านเจ้าหน้าที่อีกรายหนึ่งเผยว่า รัฐบาลกลางต้องการรักษามาตรการสกัด Covid-19 ที่ไม่เข้มงวดไว้จนกว่าจะถึงปลายเดือน มิ.ย. เพื่อที่ตัวเลขจีดีพีของไตรมาสที่สองจะได้ไม่ติดลบ

อย่างไรก็ดี มีการประเมินว่าจุดพีคของอินโดนีเซียยังมาไม่ถึง ตรี ยูนิส มิโก วาฮโยโน นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซียมองว่า หากอัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อจากการส่งตรวจยังอยู่ที่ 30% และรัฐบาลสามารถเพิ่มอัตราการตรวจหาผู้ติดเชื้อรายวันไปอยู่ที่ 400,000-500,000 คน ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจพุ่งไปแตะ 100,000 คน

และคาดว่าตัวเลขนี้จะเกิดขึ้นหลังจากใช้มาตรการฉุกเฉินราว 1 สัปดาห์