posttoday

นักวิทย์เตือนอย่าฉีดข้ามวัคซีน แต่ไทยสวนกระแสใช้วัคซีนผสม

13 กรกฎาคม 2564

ไทยกำลังจะเป็นประเทศแรกที่ใช้วัคซีนผสมในวงกว้างอย่างเป็นทางการ ในขณะที่อนามัยโลกและนักวิทยาศาสตร์เตือนให้เลี่ยง

ประเทศไทยกำลังจะใช้วัคซีนป้องกัน Covid-19 ของ AstraZeneca เป็นวัคซีนเข็มที่ 2 ให้กับผู้ที่ฉีดวัคซีนของ Sinovac เป็นเข็มแรก เพื่อเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันหลังมีความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนของ Sinovac ในระยะยาว

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศแผนการผสมวัคซีนของจีนและของตะวันตก และไทยยังเป็นที่แรกที่ผสมวัคซีนแบบนี้อย่างเป็นทางการในวงกว้าง ขณะที่ยังไม่เคยมีผลการวิจัยเกี่ยวกับการผสมวัคซีนของ Sinovac และ AstraZeneca เผยแพร่มาก่อนเลย

ส่วนข้อมูลงานวิจัยเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้มีเฉพาะการใช้วัคซีนแบบผสมระหว่าง AstraZeneca และ Pfizer-BioNTech ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังมีความเห็นแตกต่างกันว่าควรหรือไม่ควรใช้

บทความของเว็บไซต์ข้อมูลงานวิจัย Nature เมื่อเดือน พ.ค. บอกว่า การใช้วัคซีนต่างชนิดกันช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีเท่าๆ กับ หรือดีกว่าการใช้วัคซีนยี่ห้อเดียวกัน 2 เข็ม โดยอ้างงานวิจัยของสเปน อังกฤษ และเยอรมนี

เมื่อเดือน เม.ย.ทีมนักวิจัยจากสถาบันสุขภาพการ์ลอสที่ 3 ในกรุงมาดริดของสเปนทำการทดลองวัคซีนผสมในกลุ่มอาสาสมัคร 663 คนที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด adenovirus เข็มแรก โดย 2 ใน 3 ของคนกลุ่มนี้จะได้รับวัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer เป็นเข็มที่ 2 เว้นระยะห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 8 สัปดาห์

ผลการวิจัยของโครงการ CombiVacS ที่ประกาศเมื่อเดือน พ.ค.พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer-BioNTech เป็นเข็มที่ 2 มีภูมิคุ้มกันดี และในการทดลองในห้องวิจัยยังพบอีกว่า กลุ่มที่ได้รับวัคซีนแบบผสมสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีได้มากกว่าถึง 37 เท่า และสร้าง T-cell ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการหาเซลล์ที่ติดเชื้อหรือเชื้อโรค?ต่าง ๆ และกำจัดทิ้งได้มากกว่า 4 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca เข็มเดียว

ต่อมาในเดือน มิ.ย. ก็มีผลการศึกษาออกมาเพิ่มเติมซึ่งได้ผลคล้ายคลึงกัน คือของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชาริเทในกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี ที่ศึกษากลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 340 คน ที่ฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech ทั้งสองเข็ม และฉีด AstraZeneca เข็มแรกแล้วตามด้วย Pfizer-BioNTech เป็นเข็ม 2 ซึ่งทั้งสองรูปแบบนี้กระตุ้นทั้งภูมิคุ้มกันและ T-cell ได้ดี

เช่นเดียวกับผลวิจัยของมหาวิทยาลัยซาร์ลันด์ในฮอมบวร์กของเยอรมนีที่พบว่าการฉีดวัคซีนผสมระหว่าง AstraZeneca และ Pfizer-BioNTech กระตุ้มภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าการฉีดวัคซีน AstraZeneca ทั้งสองเข็ม และยังดีเท่ากับหรือดีกว่าการฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech ของเข็ม

และเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. โครงการวิจัยวัคซีนแบบผสม Com-COV ของอังกฤษเผยแพร่ผลการวิจัยก่อนที่จะตีพิมพ์กับวารสารทางการแพทย์แสดงให้เห็นว่าวัคซีนแบบผสมสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีทั้งในกลุ่มที่ฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech เป็นเข็มแรก และที่ฉีด AstraZeneca เป็นเข็มแรก

อย่างไรก็ดี อีกบทความหนึ่งของเว็บไซต์ Nature ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 ก.ค. บอกว่านักวิทยาศาสตร์ยังต้องการคำตอบเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนผสมจากการใช้งานจริง รวมทั้งผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากการวิจัยข้างต้นยังเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ และจำเป็นต้องติดตามผลข้างเคียงในระยะยาวต่อไป

มาร์ตินา เซสเซอร์ (Martina Sester) นักภูมิคุ้มกันวิทยาซึ่งเป็นแกนนำโครงการวิจัยวัคซีนผสมของมหาวิทยาลัยซาร์ลันด์ในฮอมบวร์กของเยอรมนีเผยกับ Nature ว่า “ตราบใดที่คุณยังไม่มีงานวิจัยในระยะยาวหรือการศึกษาติดตามผลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ มันก็ยากที่จะบอกเกี่ยวกับระดับหรือระยะเวลาในการป้องกัน”

อีกหนึ่งข้อจำกัดของงานวิจัยเท่าที่มีอยู่คือ การเปรียบเทียบรูปแบบการผสมวัคซีนของแต่ละการศึกษาไม่ใช่เรื่องง่าย การศึกษาประสิทธิภาพในสเกลใหญ่ๆ ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เป็นเพราะว่าเมื่ออัตราการติดเชื้อลดลง ตัวเลขของอาสาสมัครในการวิจัยจะต้องเพิ่มขึ้น เพื่อตรวจหาความแตกต่างของอัตราการติดเชื้อและโรค

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนผสม โดย ไลฟ์ อีริค ซันเดอร์ (Leif Erik Sander) นักภูมิคุ้มกันวิทยาจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชาริเทซึ่งร่วมทีมวิจัยวัคซีนผสมด้วยเผยว่า “คุณกำลังผสมวัคซีนต่างชนิดกัน 2 ตัว ซึ่งทั้งสองตัวอาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียงแตกต่างกันไปซึ่งอาจทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น”

โครงการ Com-COV ของอังกฤษพบว่า คนที่ฉีดวัคซีนแบบผสมมีอาการข้างเคียงจากการฉีดมากกว่าคนที่ฉีดยี่ห้อเดียวกัน  อาทิ เป็นไข้ ขณะที่โครงการ CombivacS ของสเปนพบว่าผู้ฉีดวัคซีนผสมมีอาการข้างเคียงเล็กน้อยเช่นเดียวกับผู้ที่ฉีดวัคซีนตามปกติ

จนถึงตอนนี้การวิจัยยังทำในอาสาสมัครเพียงไม่กี่ร้อยคน นั่นหมายความว่ายังเป็นกลุ่มเล็กเกินไปที่จะพบภาวะที่เกิดขึ้นได้ยาก อาทิ ลิ่มเลือดอุดตันซึ่งจากการคาดการณ์ล่าสุดพบว่าเกิดขึ้นกับผู้ฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็มแรก 1 ใน 50,000 คน และน้อยกว่า 1 ใน 1.7 ล้านคนหลังจากฉีดเข็ม 2

ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะพบอาการข้างเคียงที่มีโอกาสเกิดขึ้น 1 ใน 1,000 คน ยังไม่ต้องพูดถึงอาการข้างเคียงที่มีโอกาสเกิด 1 ใน 50,000 คน ในการวิจัยกลุ่มเล็ก

ความเป็นไปได้ที่ยังคงมีอยู่ของผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ยากเป็นเหตุผลหนึ่งที่นักวิจัยบางคนแนะนำให้ยึดมาตรฐานเดิมคือ ฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันทั้งสองเข็มมากกว่าใช้วัคซีนแบบผสม

สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในขณะนี้ โดย โสมญา สวามินาธาน (Soumya Swaminathan) หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลกออกโรงเตือน "ประชาชนทั่วไป" ว่าไม่ควรฉีดวัคซีนแบบผสมด้วยตนเอง โดยระบุว่าการฉีดวัคซีนแบบผสมกำลังเป็น “เทรนด์อันตราย” เนื่องจากมีข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพ

สวามินาธานย้ำว่า สิ่งสำคัญในเวลานี้คือต้องให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด 

Photo by Madaree TOHLALA / AFP