posttoday

เมื่อประชาชนอยากเปลี่ยนผู้นำระหว่าง "สงคราม"

12 กรกฎาคม 2564

รัฐบาลที่ชนะสงคราม อาจไม่ชนะใจประชาชน เราจะเปลี่ยนผู้นำกลาง "สงคราม" ได้ไหม และหากฝ่ายค้านปล่อยให้รัฐบาลชนะสงครามโควิดพวกเขาจะแพ้คะแนนนิยมของรัฐบาลหรือไม่ ประวัติศาสตร์จากต่างประเทศมีตัวอย่าง

มีการวิเคราะห์ (ที่ค่อนข้างหมิ่นเหม่จะเป็นทฤษฎีสมคบคิด) ที่ว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพยายามที่จะไม่ให้รัฐบาลประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดเพราะหากทำสำเร็จเท่ากับรัฐบาลจะได้หน้าครั้งใหญ่และเท่ากับตอกฝาโลงฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไป

อย่างที่บอกว่ามันหมิ่นเหม่กับการเป็นทฤษฎีสมคบคิด ดังนั้นผู้อ่านไม่ต้องไปจริงจังกับมันมาก เพราะผู้เขียนแค่ยกมันเป็นสมมติฐานขึ้นมาเท่านั้นว่าต่อให้มีแผนสมคบแบบนี้จริงๆ "ก็ใช่ว่ารัฐบาลที่ชนะสงคราม จะชนะใจประชาชนเสมอไป"

ยกตัวอย่างในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วินสตัน เชอร์ชิล เป็นนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรที่นำรัฐนาวาฝ่าหายนะของสงครามและความแร้นแค้นมาได้ เป็นทั้งผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และเด็ดขาด มีสุทนรพจน์ที่ทรงพลังชักนำให้ประชาชนมีหวังสู้ต่อไป เขาจึงถือเป็นวีรบุรุษตลอดกาลของคนบริเตนและฝ่ายสัมพันธมิตร

เชอร์ชิลยังมี "คาริสมา" หรือบารมีทางการเมืองสามารถชวนฝ่ายตรงข้ามจากพรรคต่างๆ มาฟอร์ม "รัฐบาลแห่งชาติ" หรือคณะรัฐมนตรีสงคราม (Churchill war ministry) ประกอบด้วยรัฐบาลฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายค้านพรรคแรงงาน ร่วมกันผนึกกำลังนำพาประเทศฝ่าวิกฤตมาได้

แบบนี้เชอร์ริลเป็นพระเอกเห็นๆ และมีแต้มต่อในมือพอที่จะเป็นรัฐบาลต่อไปได้อีกยาว

แต่แล้วเมื่อสิ้นสงครามถึงเวลาสลายรัฐบาลแห่งชาติ พรรคฝ่ายค้านบอกว่าจะขอเลือกตั้งเลยทั้งๆ ที่สงครามในฝั่งยุโรปเพิ่งจะจบและสหราชอาณาจักรยังพัวพันกับสงครามกับญี่ปุ่นที่ตะวันออกไกล เชอร์ชิลกับพรรคพวกอยากถ่วงเวลาให้สงครามในเอเชียบูรพาจบลงเสียก่อน แต่สุดท้ายก็ยอมสละอำนาจและจัดเลือกตั้ง

ปรากฎว่าแทนที่เชอร์ชิลผู้ชนะสงครามกับฮิตเลอร์จะกำชัยชนะในครั้งอีก เขากลับพ่ายให้กับคลีเมนต์ แอตลีย์แห่งพรรคแรงงานแบบเหนือความคาดหมาย และเป็นการพ่ายแบบ "แลนด์สไลด์" เสียด้วย

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

เพราะถึงเชอร์ชิลจะนำประเทศชนะสงครามมาได้ แต่เขาไม่ได้คิดเรื่องหลังสงคราม ประชาชนที่เหนื่อยกับสงครามมาหลายปีต้องการความหวังในชีวิตซึ่งเชอร์ชิลไม่รู้จะให้อย่างไรเพราะมัวแต่โฟกัสที่ความสำเร็จจากสงคราม

ขณะที่พรรคแรงงานของแอตลีย์สนใจว่าจะพลิกฟื้นสังคมขึ้นมาใหม่อย่างไร จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีกินมีใช้และมีความหวังใหม่ในชีวิต แผนการของพรรคแรงงานนั้นจับต้องได้โดยเน้นที่การปฏิรูปซึ่งในยุคหลังสงครามนั้นไม่มีคำๆ ไหนให้ความหวังคนเท่ากับ "การปฏิรูป" เพระคนเบื่อชีวิตเดิมๆ แล้ว

การปฏิรูปที่ได้ใจประชาชน ไม่ใช่การปฏิรูปทางการเมือง เพราะไม่ใช่เวลามาแก้ระบอบ แต่เป็นการซื้อใจประชาชนที่ไม่มีจะกิน ไม่มีงานทำ ไม่มีสวัสดิการดีๆ พรรคแรงงานเน้นจุดนี้ พวกเขาจึงได้คะแนนเสียงจากประชาชนแบบถล่มทลาย

เชอร์ชิลนั้นหวังจะกินบุญเก่าอย่างเดียว หาได้ตระหนักว่าเมื่อสิ้นสงครามแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมี "ขุนศึก" อีก ภาษิตที่ว่า "เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล" ใช้ได้ดีกับเชอร์ชิล เพียงแต่คนที่ฆ่าขุนศึกไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าเขา แต่เป็นประชาชนนี่เอง

หันมาดูที่ประเทศไทยเราตอนนี้ ฝ่ายที่ต้องการล้มรัฐบาลประยุทธ์ไม่ว่าจะมีแผนการสมคบคิดในใจหรือไม่ก็ตาม ไม่จำป็นต้องกลัวว่าหากรัฐบาลนี้ควบคุมโรคได้จะได้ใจประชาชน เพราะเมื่อควบคุมสถานการณ์ได้ ประชาชนจะมองไปในอนาคตได้อีกครั้ง เมื่อเขาเห็นว่ารัฐบาลนี้ไม่สามารถมอบอนาคตให้ได้ เขาก็จะไม่เลือกอีก

สิ่งที่ฝ่ายต่างๆ ต้องทำในเวลานี้ก็คือควรทำแบบคลีเมนต์ แอตลีย์ หากไม่อยากจะสังฆกรรมกับรัฐบาลเพราะรู้สึกอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ อย่างน้อยก็ทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่มีเกียรตินั่นคือวิจารณ์ความบกพร่องของรัฐบาลอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน และลงมือช่วยประชาชนอีกแรงหนึ่ง

ฝ่ายค้านของประเทศไทยในเวลานี้คุณภาพย่ำแย่อย่างที่สุด เพราะรัฐบาลว่าแย่แล้วฝ่ายค้านไม่สามารถชี้จุดบกพร่องแบบที่ทำให้รัฐบาลจนแต้มได้ ดังนั้นควรจะไปทำงานอย่างอื่นที่พิจารณาแล้วว่าสร้างสรรค์กว่า

พรรคแรงงานของแอตลีย์ไม่เสียเวลากับสิ่งที่คิดว่าทำไปก็ไม่สำเร็จคือโค่นรัฐบาลเชอร์ชิลระหว่างสงคราม แต่พวกเขาใช้เวลานี้ประคับประคองประเทศร่วมกับฝ่ายตรงข้ามไปพลางๆ แล้วศึกษาโอกาสที่จะมาถึงหลังสงคราม โอกาสที่พวกเขามองเห็นคือ Beveridge Report

Beveridge Report เป็นรายงานที่รัฐบาลสั่งทำขึ้นในปี 1942 ที่เสนอให้มีการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม (ผู้เสนอก็มาจากพรรคแรงงานในรัฐบาลแห่งชาตินั่นเอง) รายงานฉบับนี้ถูกใจประชาชนมาก เพราะเสนอให้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน

เพราะในช่วงสงครามสังคมอังกฤษเปลี่ยนแปลงไปแบบย้อนกลับไม่ได้ ประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมกันใช้ระบบปันส่วนอาหารที่ขาดแคลน รัฐบาลช่วยเหลืออุดหนุนสิ่งของจำเป็นต่างๆ ทำให้มันใกล้เคียงกับรัฐสวัสดิการกลายๆ หลังจากสงครามแล้วจะให้ประชาชนยอมให้เสียประโยชน์ส่วนนี้คงไม่ได้

พรรคแรงงานของแอตลีย์ใช้ประโยชน์จากรายงานชุดนี้จนซื้อใจประชาชนได้และนำรายงานมาปรับใช้จริง ทำให้สหราชอาณาจักกลายเป็นรัฐสวัสดิการไป (จนกระทั่งนางแทตเชอร์มาล้มล้างให้เป็นระบบนายทุน)

พรรคฝ่ายค้านในไทยที่สนับสนุนรัฐสวัสดิการก็มีอยู่ แต่น่าเสียดายว่าไปโฟกัสที่เรื่องการเมืองมากกว่าจะผลักดันรัฐสวัสดิการจริงๆ จังๆ โดยคิดว่าแก้การเมืองแล้วจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้

ยังมีอีกข้ออ้างเรื่อง "อย่าเปลี่ยนขุนศึกขณะรบพัวพัน"

เท่าที่เห็นมานี่เป็นข้อโต้แย้งของฝ่ายสนับสนุน "รัฐบาลลุงตู่" เสียเป็นส่วนใหญ่

แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับเหตุผลนี้นัก เพราะหากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนรัฐบาลกลางคันก็ต้องเปลี่ยนไป หรือหากนายกฯ กับรัฐบาลหมดสภาพแล้วถึงจุดที่อยู่ต่อไม่ได้อีกก็ควรจะลาออกไปโดยไม่ต้องกังวลว่า "ขุนศึกอย่างเราสละทัพกลางคัน บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร?"

ไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้ เพราะการรบกับเชื้อโรคไม่เหมือนการรบกับมนุษย์ ต่อให้เปลี่ยนรัฐบาล แต่ทิศทางการทำงานของรัฐบาลใหม่ไม่อาจเปลี่ยนได้ เพราะ 1. คนทำงานคือข้าราชการและเทคโนแครต 2. สงครามนี้มีเป้าหมายเดียวเท่านั้นคือสู้กับโรคระบาด

การรบกับมนุษย์นั้นต้องอาศัยเล่ห์เหลี่ยมของผู้นำต่อผู้นำ แต่การรบกับเชื้อโรคต้องอาศัยความรู้ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเท่านั้น ดังนั้นจะเปลี่ยนหัวหน้าสักกี่หัวยังไม่เท่ากับเปลี่ยน "กุนซือ" คือผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย

การเปลี่ยนขุนศึกกลางคันยังเคยมีมาแล้วก่อนที่สงครามโลกครั้ง 2 จะสิ้นสุดลงด้วยซ้ำคือกรณีของสหราชอาณาจักรที่ยังรบพัวพันในตะวันออกไกลก็ยังเปลี่ยนจากเชอร์ชิลมาเป็นแอตลีย์ได้ ขณะที่สหรัฐเองเสียประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ไปตอนที่สงครามกับญี่ปุ่นยังไม่จบเช่นกัน

คนที่ขึ้นมาแทนคือ แฮร์รี่ เอส. ทรูแมน ผู้เป็นรองประธานาธิบดีของรูสเวลท์ได้แค่ 82 วัน (รูสเวลท์อยู่ในตำแหน่งรวม 4 สมัย 12 ปี) ทั้งรูสเวลท์กับทรูแมนเจอกันลำพังแค่ 2 ครั้งเท่านั้นตอนที่ดำรงตำแหน่งร่วมกัน

การผลัดขุนศึกของสหรัฐในยุคนั้นอยู่ในสถานการณ์คาบลูกคาบดอกมากแถมหัวหน้าคนใหม่ยังมีที่มากันคนละทางกับคนก่อน แต่ทรูแมนก็นำพาประเทศผ่านสงครามมาได้ และเมื่อมีการเลือกตั้งประธานนาธิบดีอีกครั้ง ทรูแมนที่ใครๆ มองเป็นตัวสำรองและม้าตีนปลายกลับชนะเสียอย่างนั้น

สถานการณ์ของเขาจึงคล้ายกับกรณีคลีเมนต์ แอตลีย์อยู่พอสมควรแถมยังคล้ายกันตรงที่ทรูแมนใช้นโยบายรัฐสวัสดิการกระตุ้นความหวังของผู้คนที่ในยุคข้าวยากหมากแพงหลังสงครามจนชนะเลือกตั้งสมัยที่สองทั้งคนบอกว่าต้องแพ้แน่ๆ 

ที่ยกตัวอย่างยืดยาวขนาดนี้ก็เพื่อชี้ว่าการเปลี่ยนรัฐบาลกลางสถานการณ์แบบนี้เป็นไปได้ แต่หากมันยังเป็นไปไม่ได้ทุกฝ่ายจะต้องมีศัตรูสูงสุดร่วมกันไม่แย่งกันเป็นศัตรูเสียเอง

เพราะหากเล่นการเมืองมากเกินไปการสู้กับสงครามครั้งนี้ก็ยืดเยื้อ ยิ่งยืดเยื้อพื้นฐานประเทศยิ่งพัง ประเทศยิ่งพังคนที่จะลำบากคือคนไทยทุกคน แม้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทางการเมืองจะได้เก้าอี้รัฐบาลมาครองก็ได้แต่ซากเมืองที่พังพินาศและประชาชนที่หมดพลังชีวิต

ขอเสนอแนะว่า ไม่ว่ารัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ตาม หลังจากสงครามแล้วคนที่เราต้องการมากที่สุดไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ (เพื่อสู้กับโรคระบาด แต่ยังจำเป็นเรื่องการเยียวยาชีวิต) แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจเก่งๆ เพื่อแก้ปัญหาปากท้องประชาชน

ใครที่มีคนเก่งในมือก็เหมือนแอตลีย์ที่มีรายงาน Beveridge Report เป็นแผนที่นำทางชัยชนะให้เขา และรู้จักใช้นักเศรษฐศาสตร์ระดับพระกาฬอย่างจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์และวิลเลียม บีเวอริดจ์เพื่อฟื้นฟูประเทศชาติ สร้างสังคมที่ประชาชนมีสวัสดิการที่ดี

เคนส์และบีเวอริดจ์ผู้วางรากฐานรัฐสวัสดิการของสหราชอาณาจักรนั้นไม่ใช่ทั้งคนของพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษ์นิยม แต่เป็นคนของพรรคเสรีนิยม ทว่าความสามารถทางเศรษฐศาสตร์ของพวกเขาเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลพรรคแรงงานอย่างมากจนชนะเลือกตั้งและทำการปฏิรูปให้พวกเขาอยู่ในอำนาจได้นานถึง 6 ปี

ดังนั้น ขอผู้มีอำนาจในบ้านเมืองโปรดดูสถานการณ์ในอดีตของสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่าง

กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Madaree TOHLALA / AFP