posttoday

สีจิ้นผิงส่งซิกถึงยุโรป "อย่าเข้าข้างสหรัฐ"

06 กรกฎาคม 2564

โลกทุกวันนี้แตกแยกจนประสานได้ยาก ไม่ใช่แค่ในประเทศทะเลาะกันเอง แต่ในระดับโลกก็แบ่งฝักฝ่ายชัดขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่สังคมประเทศอื่นๆ ค่อนข้างขัดแย้งกันรุนแรง ส่วนหนึ่งเพราะการเมืองแบบเลือกข้างและโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เปิดเวทีให้คนทะเลากัน (และให้ AI ปั่นหัวมนุษย์) แต่จีนค่อนข้างมีเอกภาพสูง กระแสหลักในจีนตอนนี้คือกระแสชาตินิยม (Nationalism) หรืออย่างน้อยๆ ก็รักชาติอย่างเข้มข้น (Patriotism)

คนส่วนใหญ่ในจีนล้วนแต่ไปตามกระแสนี้ มีเพียงบางส่วนที่มองดูเอกภาพในจีนด้วยความเป็นห่วงและกังวล คือพวกปัญญาชนทั้งหลาย เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยที่มักจะวิจารณ์สวนกระแสเป็นปกติ แต่คนเหล่านี้สวนอะไรไม่ได้แล้ว หากสวนขึ้นมาจะถูกตราหน้าว่า "ไม่รักชาติ" ดังนั้นในจีนตอนนี้พวกปัญญาชนที่เห็นต่างจะอยู่ยากสักหน่อย

โดยรวมก็คือจีนมีเอกภาพสูงในหมู่ประชาชน ยิ่งภายนอกโจมตีจีน คนจีนยิ่งรวมพลังเหนียวแน่นขึ้น เหมือนเหล็กดียิ่งทุบยิ่งเนื้อเหนียว ยิ่งตียิ่งเป็นดาบคม

คนจีนเวลานี้หากถูกกระทุ้งจากโลกภายนอกนิดเดียว จะกรูกันเข้ามาปกป้องประเทศตัวเองอย่างเดือดดาลจนเป็นเหตุการณ์ปกติไปแล้ว ยิ่งหากคนจีนกันเองแสดงอาการ "ไม่รักชาติ" ขึ้นมา แทบจะอยู่กันไม่ได้เลย

สีจิ้นผิงปลุกกระแสนี้ขึ้น และเกาะกระแสนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายในบ้านของเขาเองจึงไม่ต้องกังวลอะไร ภารกิจเร่งด่วนคือการสร้างความแข็งแกร่งนอกบ้าน

วันที่เขียนบทความนี้ มีความเคลื่อนไหวจากสีจิ้นผิงซึ่งต่อสายคุยกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง และนายกรัฐมนตรีเยอรมัน อังเกลา แมร์เคิล ผ่านวิดีโอลิงค์

ประเด็นสำคัญๆ ที่พูดกันคือย้ำเรื่องความร่วมมือระหว่างจีนกับยุโรป จีนย้ำให้ยุโรปอย่าเลือกปฏิบัติกับธุรกิจจีนเพราะจีนก็มุ่งมั่นเดินหน้าปฏิรูปและเปิดกว้างประเทศอยางต่อเนื่อง ขอให้ยุโรปร่วมกันปกป้องระบบพหุภาคีที่แท้จริงและระบบระหว่างประเทศโดยมีองค์การสหประชาชาติ (UN) เป็นแกนหลัก เรียกร้องให้ประเทศในยุโรปร่วมกันนำการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) ในทิศทางที่ถูกต้อง

ข้อเรียกร้องของสีจิ้นผิงเหล่านี้ไม่บอกก็เห็นได้ชัดว่าต้องการให้ยุโรปอย่าคล้อยตามสหรัฐที่เล่นงานจีนนอกระบบ เช่น เปิดฉากสงครามการค้าโดยไม่แยแสกติกาค้าโลก และสหรัฐยังเพยายามฟอร์มพันธุมิตรเพื่อเปิดเกมกับจีนนอกระบอบสหประชาชาติ พูดง่ายๆ ก็คือจีนมองว่าสหรัฐกำลัง "บูลลี่" จีนด้วยการเล่นนอกกติกา

สีจิ้นผิงย้ำเรื่องไม่ยอมให้ใครมาบูลลี่เมื่อไม่กี่วันก่อนตอนฉลอง 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน มาตอนนี้ย้ำกลายๆ กับมหาอำนาจในยุโรปอีกครั้ง

สีจิ้นผิงยังบอกว่า "สิ่งที่จีนต้องการมากที่สุดคือการพัฒนาตนเองให้ดี ไม่ใช่เพื่อแทนที่ผู้อื่น" คำกล่าวนี้ตอกกลับไปยังสหรัฐและชาติตะวันตกที่มองว่าจีนผงาดขึ้นมาเพื่อท้าทายพวกตนและจะมาเป็นใหญ่แทนพวกตน

ข่าวการหารือของสีจิ้นผิงกับมหาอำนาจยุโรปนี้ถูกรายงานด้วยมิติที่แตกต่างกันไป สื่อจีนรายงานแบบโอภาปราศรัย (สีจิ้นผิง วอนความร่วมมือกับฝรั่งเศส เยอรมนีเพื่อร่วมกันรับมือกับความท้าทายต่าง - CGTN) ขณะที่สื่อต่างประเทศตีความสีจิ้นผิงกำลังเตือนยุโรปไม่ให้เลือกข้าง (สีจิ้นผิงวอนฝรั่งเศส เยอรมนีอย่าเข้าข้างสหรัฐ - Kyodo )

เอาแค่สาส์นที่ส่งไปถูกตีความไปคนละมุมแบบนี้ คงจะยากที่แต่ละฝ่ายจะคุยกันดีๆ ได้ แต่ก็นั่นแหละ เป้าหมายของสีจิ้นผิงไม่ใช่ให้อีกฝ่าย "เข้าอกเข้าใจ" แต่บอกเป็นนัยๆ ว่า "อย่าเปิดศึกกันเลย"

ภาษที่ใช้ดูเหมือนจะไม่แข็งกร้าว แต่หากมองจากบริบทแวดล้อมจะรู้ว่ามันน้ำเสียงแข็งๆ ซ่อนอยู่

บริบทแวดล้อมก็คือเมื่อสหภาพยุโรปเริ่มจะคล้อยตามสหรัฐมากขึ้นในการสกัดกั้นอิทธิพลของจีน เช่น ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรปและเยอรมนีต่างก็ผ่านกฎหมายที่จะทำให้หน่วยงานของจีนลงทุนได้ยากขึ้น และเมื่อเดือนมีนาคมเอกอัครราชทูตจีนประจำฝรั่งเศสไม่ยอมไปปรากฏตัวตามการถูกเรียกตัวอยางเป็นทางการ (summoned) โดยอ้าง “เหตุผลเรื่องวาระ”

ขณะที่รัฐบาลอิตาลีเปลี่ยนจากผู้สนับสนุนโครงการ Belt and Road Initiative ของสีจิ้นผิงก็กลายมาเป็นผู้ขัดขวางการเข้าซื้อกิจการตามแผนของบริษัทจีนที่เข้าไปลงทุนในอิตาลี สาเหตุเนื่องจากเปลี่ยนจากรัฐบาลที่คุยกับจีนได้ดี (รัฐบาลคอนติ) เป็นรัฐบาลนิยมตะวันตกอิงสหรัฐ (รัฐบาลดรากี)

ที่สำคัญทั้งเยอรมมนี ฝรั่งเศส และอิตาลีต่างก็คว่ำบาตรจีนจากกรณีซินเจียง ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศนี้ง่อนแง่นอย่างมาก จะขอยกตัวอย่างอิตาลีที่เปลี่ยนจากจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ล่าสุดตอนที่นายกรัฐมนตรีอิตาลี มาริโอ ดรากี ประชุมสุดยอดกับโจ ไบเดนหลังประชุม G7 เขายังใช้วาจาที่รุนแรงเมื่อพูดถึงจีนว่า "จีนและโดยทั่วไปแล้วรวมถึงระบอบเผด็จการทั้งหมด...ซึ่งใช้ข้อมูลเท็จ...หยุดเครื่องบินทั้งๆ ที่ยังบินอยู่ ลักพาตัว ลงมือฆ่า ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน ใช้แรงงานบังคับ"

จีนอาจจะงงๆ ว่าดรากีไปเอามาจากไหนที่บอกว่าจีน "หยุดเครื่องบินทั้งๆ ที่ยังบินอยู่" ซึ่งเข้าใจว่าเข้าเหมารวมเอาพฤติกรรมของรัสเซียกับเบลารุส (กรณีที่เบลารุสดักเครื่องบินฝ่ายต่อต้านรัฐบาลให้ลงจอดในประเทศ) มาใช้กับจีนด้วย คำพูดนี้แสดงให้เห็นว่าดรากีชิงชังจีนขนาด "ตู่" และเหมาด่ากันเลทีเดียว

รัฐมนตรีต่างประเทศในัรฐบาลดรากีก็ยิ่งย้ำชัดเมื่อไม่กี่วันก่อน ลุยจิ ดิ มาโยแถลงระหว่างการประชุมกับแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐว่าความสัมพันธ์ระหว่างอิตาลีกับสหรัฐนั้นสำคัญกว่าจีน โดยบอกว่า “เราเป็นหุ้นส่วนการค้าที่แข็งแกร่งกับจีน เรามีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ แต่ไม่สามารถเปรียบเทียบได้อย่างแน่นอน และไม่อาจแทรกแซงความเป็นพันธมิตรแห่งค่านิยมที่เรามีกับสหรัฐ”

พูดง่ายๆ ก็คือ เรายังค้าขายกับจีนอยู่นะ แต่ไม่ยอมเป็นเพื่อนด้วยหรอก

เกรงว่ายุโรปในเวลานี้จะมีท่าทีกับจีนแบบเดียวกันหมด ในยุโรปนั้นจีนยังพอมีเพื่อนอยู่บ้าง แต่ก็น้แอยลงเต็มที เพราะสหรัฐเดินเกมบีบให้เลือกข้างชัดเจน

เรื่องการเลือกข้างแบบไม่ต้องคิดมากของยุโรป ยังเกี่ยวกับการที่รัสเซียแสดงท่าทีคุกคามมากขึ้นถึงขั้นแทรกแซงกิจการในยุโรปกันเห็นๆ ความที่รัสเซียกับจีนเป็น "พันธมิตร" กันทำให้จีนถูกเหมาะไปด้วยว่าคบไม่ได้ ดังที่เราจะเห็นได้ว่าดรากีเหมาว่ารัสเซียทำยังไง จีนก็คงทำแบบเดียวกัน

จีนเหลือเพื่อนที่ไหนบ้าง?

ระหวางกับคุยกับมาครงและแมร์เกิล สีจิ้นผิงเน้นเรื่องแอฟริกาเป็นประเด็นหลักด้วยโดยบอกวาจีนช่วยแบ่งเบาแอฟริกาเรื่องภาระหนี้และช่วยเรื่องวัคซีนด้วย และผู้นำทั้ง 3 คนเห็นว่า "แอฟริกาเป็นทวีปที่มีประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากที่สุด แต่ก็มีศักยภาพในการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเช่นกัน

แอฟริกามีการลงทุนจากจีนเป็นจำนวนมาก แต่ถูกชาติตะวันตกโจมตีว่าจีนกำลังลวงให้ประเทศแอฟริกาติด "กับดักหนี้" ของจีน นั่นคือการกลาวหาวาจีนเสนอให้ประเทศในแอฟริกากู้เงินจากจีนมาพัฒนาสาธารณูปโภคประเทศนั้นๆ แต่ฏโครงการพัฒนาตางๆ เป็นของจีนรวมถึงคนงานบางส่วน เงินจึงหมุนเวียนในกระเป๋าจีน

นี่เป็นประเทศหนึ่งที่จีนถูกชาติตะวันตกโจมตี สื่อในฝรั่งเศสเองก็รายงานโจมตีจีนในทำนองนี้ราวกับว่า "จีนกำลังล่าอาณานิคมในแอฟริกา"

แต่ปรากฎว่าคนแอฟริการู้ทัน อย่างในสกู๊ปของ FRANCE 24 English เรื่อง Zambia: Under Chinese influence ที่ทำราวกับจีนต้องการเขมือบประเทศแซมเบีย ความเห็นใต้คลิปสกู๊ปนี้ไปคนละทาง เช่น ความเห็นที่มีคนไลค์กันมากๆ ความเห็นหนึ่งบอกว่า "ฝรั่งเศสควรเป็นประเทศสุดท้ายที่พูดถึง "อิทธิพลในแอฟริกา" โดยเหตุที่ประเทศในแอฟริกาอยู่ภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศสเป็นเวลาหลายปี"

อีกความเห็นบอกว่า "ทำวิดีโออื่นแล้วให้ชื่อว่า แคเมอรูน กาบอง กินี เซเนกัล แอลจีเรีย ไอวอรี่โคสต์ ดาโฮเมย์ ภายใต้การควบคุมของฝรั่งเศสสิ" และอีกความเห็น "ผู้ล่าอาณานิคมที่ใหญ่ที่สุดของแอฟริกาที่เคยกดขี่ครึ่งหนึ่งของทวีปต้องพยายามอย่างมากที่จะป้ายสีจีนซึ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โรงเรียนและโรงพยาบาล แทนที่จะฆ่าชาวบ้าน"

คลิปข่าวนี้ไม่ใช่รายงานข่าวเดียวที่ชาติตะวันตกโจมตีจีนเรื่องแอฟริกาและไม่ใช่ที่เดียวที่มีคอมเมนต์สวนกลับแรงๆ แบบนี้

ที่เป็นเช่นนี้เพราะแม้จีนจะใช้วิธีอัฐยายซื้อขนมยาย แต่ก็ยังน่าต้อนรับว่าชาติตะวันตกที่ทำหายนะมาให้ทั้งอดีตและปัจจุบัน ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนีนั้นทำลายแอฟริกาอยางย่อยยับเมื่อศตวรรษก่อนๆ

เมื่อเดือนพฤษภาคม เยอรมนีเองก็เพิ่งจะยอมรับต่อการกระทำอันเหี้ยมโหดกับคนพื้นเมืองในนามิเบียตอนที่เยอนมนีครอบครองนามิเบียป็นอาณานิคม เรียกได้ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) กันก็ว่าได้

แต่เยอรมนีแค่ยอมรับอย่างเป็นทางการ (Officially Recognises) ต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนั้นและบอกว่าจะจ่ายค่าชดเชย 1,100 ล้านยูโรให้เป็นระยะเวลา 30 ปี และคนท้องถิ่นก็บอกว่าแค่นี้ไม่พอหรอก

สีจิ้นผิงมองออกว่าชาติตะวันตกพยายามแยกจีนออกจากแอฟริกาเพื่อโดดเดี่ยวจีน จึงยกประเด็นแอฟริกาขึ้นมาโดยที่ไม่ได้ตอกย้ำให้เยอรมนีกับฝรั่งเศสเสียหน้าว่าพวกยุโรปทำเลวร้ายอะไรกับทวีปนี้มาบ้าง

แค่เตือนนิ่มๆ ว่า "อย่ามายุ่งกับเพื่อนของอั๊วะนะเว้ย"

กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Nicolas ASFOURI and NICOLAS ASFOURI / POOL / AFP