posttoday

Novavax วัคซีนน้องใหม่จากสหรัฐ ทำไมโลกถึงตั้งตารอ

23 มิถุนายน 2564

วัคซีนต้านโควิด-19 จาก Novavax มีดีอย่างไร ผลข้างเคียงมีหรือไม่

หลังจากทีสัปดาก่อน Novavax ผลการทดลองวัคซีนระยะที่ 3 ที่ทำการทดลองในสหรัฐและเม็กซิโก พบว่ามีประสิทธิภาพในการในการต้านโควิด-19 สูงถึง 90.4%

ด้วยประสิทธิภาพจากการทดลองที่สูงพอๆ กับวัคซีนชนิด mRNA จาก Pfizer และ Moderna ท่ามกลางความต้องการวัคซีนจำนวนมากจากทั่วโลกทำให้ Novavax วัคซีนน้องใหม่จากสหรัฐเป็นวัคซีนอีกหนึ่งตัวที่หลายประเทศกำลังตั้งตารอ และยังได้ร่วมมือกับบรรดาผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ เพื่อเตรียมผลิตวัคซีนในต่างแดนแม้จะยังไม่ได้รับการอนุมัติใช้อย่างเป็นทางการ

รู้จัก Novavax

• Novavax (NVX-CoV2373) เป็นวัคซีนต้านโควิด-19 ตัวที่ 4 จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยบริษัท Novavax โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI)

• บริษัท Novavax ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1987 เพื่อผลิตวัคซีนสำหรับรักษาโรคติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ อีโบลา ไวรัสอาร์เอสวี และโรคอุบัติใหม่อื่นๆ รวมถึงโควิด-19

• วัคซีนต้านโควิด-19 จาก Novavax ได้ทำการทดลองในผู้ที่มีอายุ 18 ถึง 84 ปี โดยวัคซีนที่ต้องฉีด 2 เข็มห่างกัน 21 วัน และเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นทดลองระยะที่ 3

• ทั้งนี้ Novavax วางแผนที่จะขออนุมัติใช้วัคซีนในสหรัฐ ยุโรป และประเทศอื่นๆ ภายในสิ้นเดือนกันยายนปีนี้ และตั้งเป้าผลิตวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสต่อเดือน

เทคโนโลยีในการผลิต

• Novavax เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยใช้โปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein subunit vaccine) เช่นเดียวกับวัคซีน Corbevax จากอินเดีย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่แตกต่างจากวัคซีนต้านโควิด-19 ตัวอื่นๆ ในตลาด

• อย่าง Pfizer และ Moderna เป็นวัคซีนชนิดสารพันธุกรรม (mRNA) ขณะที่ AstraZeneca, Covishield, Johnson & Johnson และ Sputnik V เป็นวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant viral vector vaccine) และ Covaxin, Sinovac และ Sinopharm เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine)

• ทั้งนี้ เทคโนโลยีการใช้โปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อเคยนำไปใช้ในการพัฒนาวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี และไข้หวัดใหญ่มาก่อนแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกๆ ที่ใช้กับวัคซีนโควิด-19

การทดลองและประสิทธิภาพ

• Novavax เริ่มทดลองระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 ในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะทดลองในระยะที่ 2 และ 3 ในต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย และเม็กซิโก

• เมื่อวันที่ 28 มกราคม Novavax รายงานผลการทดลองเบื้องต้นในอังกฤษพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 กว่า 89% ขณะที่ผลการทดลองในแอฟริกาใต้ซึ่งมีการแพร่ระบาดของสายพันธ์เบตาแสดงประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าอยู่ที่ประมาณ 50-60%

• เมื่อวันที่ 12 มีนาคม Novavax เผยผลการทดลองอีกครั้งว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม 96.4% และมีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์อัลฟาอยู่ที่ 86% และประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์เบตา 55% ขณะที่สามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงได้ 100%

• ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนบริษัทเผยประสิทธิภาพโดยรวมของการทดลองระยะที่ 3 อยู่ที่ 90.4% จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 29,960 คนใน 119 แห่งในสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก และมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยรุนแรง 100%

• สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงหรือผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไปบริษัทประกาศประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 91%

• รวมถึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่กำลังเป็นที่น่ากังวลไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อัลฟาที่พบครั้งแรกในประเทศอังกฤษ, สายพันธุ์แกมมาที่พบครั้งแรกในบราซิล, สายพันธุ์เบตาที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ และสายพันธุ์เดลตาที่พบครั้งแรกในอินเดีย

อาการข้างเคียง

• สำหรับผลข้างเคียงที่พบในกลุ่มตัวอย่างจากการทดลองวัคซีนเป็นผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปและมักไม่รุนแรง อาทิ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยล้า เป็นต้น

โลกตั้งตารอ

• ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังรุนแรงประกอบกับความกังวลในการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์กลายพันธุ์ และการขาดแคลนวัคซีนในหลายพื้นที่ทั่วโลกส่งผลให้หลายฝ่ายต้องการให้มีวัคซีนรายอื่นๆ เพื่อมาเพิ่มปริมาณการกระจายวัคซีนไปทั่วโลก และเพิ่มทางเลือกในการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้สูง รวมถึง Novavax

• สำหรับที่ที่มีปริมาณวัคซีนเพียงพอแล้วอย่างเช่นสหรัฐ ผู้เชี่ยวชาญมองว่านอกจากจะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการฉีดวัคซีนแล้วยังอาจนำ Novavax มาใช้เป็นบูสเตอร์ (booster) หรือวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีนที่ฉีดไปแล้ว 2 เข็มก่อนหน้า เพื่อเพิ่มการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

• ทั้งนี้ Novavax ได้ยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนในต่างประเทศอย่างเช่นสภาพยุโรป อังกฤษ อินเดีย และเกาหลีใต้ โดยอาจมีความเป็นไปได้วัคซีนดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติใช้ในต่างต่างประเทศก่อนในสหรัฐ

• นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับบรรดาผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ เพื่อผลิตวัคซีนในต่างประเทศ โดยจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาประกาศว่าได้เซ็นสัญญาเบื้องต้นกับ Novavax เพื่อผลิตวัคซีนในเมืองมอนทรีออล เมื่อวัคซีนดังกล่าวได้รับการอนุมัติโดยกระทรวงสาธารณสุขแคนาดา

• ด้านรัฐบาลอังกฤษเผยเมื่อเดือนมีนาคมว่าได้สั่งซื้อวัคซีนดังกล่าวจำนวน 60 ล้านโดส ซึ่งจะผลิตเองในอังกฤษ ขณะที่สถาบันเซรั่มแห่งอินเดีย (SII) ก็จะผลิตวัคซีน Novavax ภายใต้ชื่อว่า Covovax ในอินเดียเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอินเดีย

Photo by JUSTIN TALLIS / AFP