posttoday

โลกขาดแคลนวัคซีนโควิดเพราะผู้ผลิตรายใหญ่สะดุด

09 มิถุนายน 2564

ปัญหาของสถาบันเซรั่มผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลกในอินเดียทำให้ส่งมอบวัคซีนไม่ทันตามกำหนด กระทบทั้ง COVAX และประเทศกำลังพัฒนา

ขณะนี้โครงการฉีดวัคซีนของหลายประเทศทั่วโลก ไล่ตั้งแต่บังกลาเทศ เนปาล ไปจนถึงรวันดา กำลังล่าช้า เนื่องจากไม่มีวัคซีน และปัญหานี้มีต้นตอมาจากบริษัทที่ชื่อว่า สถาบันเซรั่มแห่งอินเดีย (SII)

SII เป็นผู้ผลิตวัคซีนเจ้าใหญ่ที่สุดในโลกและเมื่อปีที่แล้วยังอยู่ในลิสต์ผู้จัดหาวัคซีนรายต้นๆ ให้กับโครงการแจกจ่ายวัคซีน COVAX ขององค์การอนามัยโลก (WHO) แต่เมื่อเร็วๆ นี้ SII ประสบปัญหาทั้งรัฐบาลอินเดียห้ามส่งออกวัคซีนและไฟไหม้โรงงาน ทำให้ผลิตวัคซีนไม่ได้ตามเป้า

โครงการ COVAX ให้คำมั่นว่าจะส่งมอบวัคซีนต้าน Covid-19 แก่ 92 ประเทศ แต่จนถึงขณะนี้ COVAX ได้รับวัคซีนจาก SII เพียง 30 ล้านโดสจาก 200 โดส

ปัญหาของ SII จึงกลายเป็นความล้มเหลวในการฉีดวัคซีนต้าน Covid-19 ของประเทศกำลังพัฒนา และชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการพึ่งพาผู้ผลิตรายเดียวมากเกินไปท่ามกลางวิกฤตทั่วโลก

การขาดแคลนวัคซีนยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่องค์การอนามัยโลกและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเตือนว่าอัตราการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างต่ำในประเทศยากจนอาจทำให้เชื้อสายพันธุ์อันตรายอุบัติขึ้นและทำให้การแพร่ระบาดทั่วโลกกินเวลานานขึ้น

แม้ว่าผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นจะไม่สามารถผลิตวัคซีนต้าน Covid-19 ได้ตามเป้าเหมือน SII ทว่ากรณีของ SII เป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจาก COVAX และประเทศกำลังพัฒนาต้องพึ่งพา SII

SII ไม่สามารถส่งวัคซีนไปต่างประเทศตั้งแต่เดือน เม.ย. หลังรัฐบาลมีคำสั่งห้ามส่งออกวัคซีน เนื่องจากอินเดียกำลังต้องการใช้อย่างหนัก ทว่านี่ไม่ใช่ปัญหาเดียวของ SII

เมื่อปีที่แล้ว อะทาร ปูนาวาลา (Adar Poonawalla) ซีอีโอของ SII ให้คำมั่นว่าสถาบันสามารถผลิตวัคซีน Covishield ของ AstraZeneca ส่งมอบให้ประเทศรายได้ปานกลางและต่ำได้ 400 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ แต่เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เขากลับบอกว่าผลิตวัคซีนได้เพียง 70 ล้านโดส โดยอ้างว่าบริษัทไม่แน่ใจว่าจะได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลอินเดียเมื่อใดและมีพื้นที่เก็บไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ หลายประเทศยังหันมาทำสัญญาซื้อวัคซีนโดยตรงจาก SII และขณะนี้กำลังหาผู้จัดหาวัคซีนรายใหม่ อาทิ เนปาล ที่เผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างหนักลุกลามไปถึงเบสแคมป์ของเทือกเขาเอเวอเรสต์ ได้รับวัคซีนจาก SII เพียง 1 ล้านโดสจาก 2 ล้านโดสที่สั่งซื้อ

ด้าน เซธ เบิร์กลีย์ ซีอีโอ Gavi ซึ่งช่วย COVAX จัดหาวัคซีนเผยว่า การตัดสินใจเลือก SII เป็นซัพพลายเออร์หลักของ COVAX มาจากกำลังการผลิตจำนวนมหาศาลของบริษัท ความสามารถในการส่งมอบด้วยต้นทุนที่ต่ำ และเนื่องจากวัคซีนดังกล่าวได้รับการอนุมัติจาก WHO ให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเป็นตัวแรกๆ

เบิร์กลีย์เผยว่า แม้ขณะนี้ความสามารถในการผลิตของ SII จะขยายเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลดีกับอินเดีย แต่ COVAX และประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศกำลังดิ้นรนเพื่อหาแหล่งวัคซีนใหม่หลังจาก SII เผยว่าจะไม่กลับมาส่งออกจนถึงสิ้นปีนี้

Bloomberg ระบุว่า ผู้ผลิตวัคซีนจากจีน อาทิ Sinovac Biotech และ Sinopharm Group สามารถเข้ามาเติมเต็มช่องว่างนี้ได้ เนื่องจากทั้งสองเจ้าเพิ่งได้รับการรับรองจาก WHO

นอกจากนี้ ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาปูนาวาลายังอ้างว่าความล่าช้าในการผลิตยังเกิดจากนโยบายของสหรัฐที่ห้ามส่งออกวัตถุดิบสำคัญในการผลิตวัคซีน

ประกอบกับเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เกิดไฟไหม้ที่โรงงานแห่งหนึ่งของ SII ซึ่งขณะนั้นบริษัทเผยว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตวัคซีน ส่วนปูนาวาลาทวีตสำทับอีกครั้งว่าไม่ทำให้การผลิตล่าช้า

แต่แหล่งข่าวในบริษัทเผยว่าเหตุไฟไหม้นำมาสู่การสูญเสียอุปกรณ์และความล่าช้าในการวางสายการผลิตเพิ่มเติม และเป็นอุปสรรคต่อการขยับขยาย

นอกจากนี้ แหล่งข่าวยังเผยว่า SII ยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก โดยหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้ไม่สามารถผลิตวัคซีนได้ตามเป้าคือ ภูมิภาพของวัคซีนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อาทิ การเปลี่ยนแปลงกฎข้อบังคับของอินเดีย การอนุมัติและการควบคุมของรัฐบาลอื่นๆ

แหล่งข่าวระบุว่า มือของ SII ถูกมัดไว้ด้วยคำสั่งห้ามส่งออกของรัฐบาลอินเดียและข้อบังคับอื่นๆ ของรัฐบาล

ขณะที่ในอินเดียเองก็ขาดแคลนซีนวัคเช่นกัน ช่วงแรกความท้าทายในการจัดหาวัคซีนยังไม่ชัดเจน เนื่องจากอินเดียเริ่มแคมเปญฉีดวัคซีนล่าช้า อีกทั้งรัฐบาลยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะสั่งวัคซีนจาก SII เท่าใด ทำให้บริษัทไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะต้องผลิตเท่าใด

อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตรายอื่นก็ไม่สามารถผลิตวัคซีนได้ตามเป้าหมายเช่นเดียวกับ SII เช่น AstraZeneca ไม่สามารถส่งมอบวัคซีนให้สหภาพยุโรปได้ตามกำหนดเนื่องจากมีปัญหาด้านการผลิต ส่วน Bharat Biotech International ส่งมอบได้เพียง 27 ล้านโดสจากที่ให้คำมั่นว่าจะผลิตได้ 1,000 ล้านโดส

ขณะที่ความต้องการวัคซีนสูงกว่าปริมาณที่ผู้ผลิตสามารถผลิตได้

Photo by JOEL SAGET / AFP