posttoday

คุณอาจรักของประเทศคุณ แต่เกลียดรัฐบาล

07 มิถุนายน 2564

ชังชาติ รักชาติ คลั่งชาติ อาจเป็นปัญหาได้ทั้งนั้น แต่ปัญหาจริงๆ อยู่ที่ประเทศชาติหรืออยู่ที่ใครกันแน่?

เช้าวันที่ 7 มิถุนายน 2021 เปาลู กูเวลยู (Paulo Coelho) นักเขียนชื่อดังชาวบราซิลโพสต์ข้อความสั้นๆ ในเฟซบุ๊คของเขาว่า You may love your country And Hate your government ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงมันมีคนไลค์นับแสนคนและแชร์ออกไปหลักหมื่นซึ่งไม่ใช่เรื่องปกตินักสำหรับเฟซบุ๊คโพสต์หนึ่ง

"คุณอาจรักประเทศของคุณ แต่เกลียดรัฐบาลของคุณ" เป็นข้อความที่กระทุ้งจิตใจของหลายๆ คนในตอนนี้และดูเหมือนว่าเปาลู กูเวลยูจะกระแทกไปถึงประเทศบราซิลของเขาเองเพราะในช่องคอมเมนต์เขาเพิ่มเติมว่า "รัฐบาลบราซิลประกอบด้วยพวกคลั่งสุดโต่งทำลายประเทศของผม เราอาจจบลงด้วยเผด็จการ แต่ผมเงียบไม่ได้"

รัฐบาลบราซิลในเวลานี้นำโดยประธานาธิบดีขวาสุดขั้วที่มักคิดและทำอะไร คล้ายกับโดนัลด์ ทรัมป์ แต่เขาแย่กว่าทรัมป์ตรงที่ยังคงอยู่ในตำแหน่งใน้วลาที่บราซิลพบกับการระบาดของโควิด-19 ที่ร้ายแรงที่สุดในโลก

เปาลู กูเวลยูรักประเทศบราซิลของเขา แต่ก็เหมือนกับเราอีกหลายคนที่รักประเทศตัวเองทว่ารักรัฐบาลที่บริหารประเทศไม่ลงจริงๆ อย่าว่าแต่มอบความรักให้เลย บางคนอาจจะรู้สึกว่าแม้แต่จะชมเชยก็ยังรู้สึกเสียดายเวลา แน่ล่ะ บางคนที่ใจดีสักหน่อยอาจจะไม่รัก แต่ก็ยอมชมบ้างถ้ารัฐบาลมีผลงาน "โอเค"

ปัญหาก็คือเราหลายๆ คนเกลียดรัฐบาลแต่พาลเกลียดประเทศตัวเองไปด้วย เพราะแยกไม่ออกระหว่างรัฐบาลกับประเทศชาติ ทั้งๆ ที่มันคนละองคาพยพกันเหมือนเท้ากับลำตัวฉะนั้น พอเท้าเดินเป๋ก็เหมาโทษลำตัวไปด้วยเสียอย่างนั้น

การเหมารวมแบบนี้ทำให้เกิดผลสะเทือนได้ยาก เพราะแทนจะตำหนิ (หรือไล่) รัฐบาล กลับไปงอแงกับอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าหรือสิ่งที่ไล่ไม่ได้ นอกจากจะอัปเปหิตัวเองออกไป เหมือนไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่บทความนี้จะเขียนขึ้นมีแคมเปญย้ายประเทศในหมู่ชาวเน็ตไทย ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นการสะท้อนความสิ้นหวังของคนไทยจำนวนหนึ่งต่อรัฐบาล แต่ก็สะท้อนด้วยว่าพวกเขาไม่แยกระหว่างการไล่รัฐบาลซึ่งง่ายกว่ากับการย้ายประเทศที่เกินความสามารถของหลายๆ คน

การเหมารวมแบบนี้ทำให้สิ้นหวังกับประเทศตัวเองแทนที่จะสิ้นหวังแค่ผู้บริหารประเทศ นานๆ เข้าก็สั่งสมกลายเป็นความเกลียดชังบ้านเมืองตัวเอง กระทั่งไปพาลกับคนที่รักประเทศว่าเป็นพวกสนับสนุนรัฐบาล หรือเย้ยหยันคนรักประเทศ - นี่เป็นเพราะ "ไม่รู้จักแยกแยะ"

ไม่ใช่ทุกคนที่ไม่รู้จักแยกแยะ หลายคนแยกออกว่าควรเกลียดใคร แต่ที่รักประเทศตัวเองไม่ลงเพราะพวกเขาเห็น "โครงสร้าง" บางอย่างที่บัญชาให้ประเทศเดินโซซัดโซเซเหมือนไม่มีเป้าหมาย ทำให้ประเทศที่สวยงามหมดสิ้นความน่ารักไปจนหมดในสายตาพวกเขา

แต่การใช้คำว่า "โครงสร้าง" หรือคำศัพท์แสงออกวิชาการเพื่อแสดงความเกลียดชังรัฐบาล/ประเทศ ดูเหมือนจะกลายเป็นคำดาดๆ เชยๆ (Cliche) ไป เพราะคนใช้ไม่สามารถอธิบายได้ว่า "โครงสร้าง" ที่ว่านี้เป็นปัญหาอย่างไร ที่สำคัญคือน้อยคนจะบอกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร? การวิจารณ์ที่ไม่สร้างสรรค์นี้สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการด่ากราดไปเรื่อยๆ โดยรัฐบาลที่พวกเขาเกลียดก็ยังอยู่ที่เดิมไม่ไปไหน

ผู้เขียนเชื่อว่ารัฐบาลไทยมีแนวโน้มจะฟังเสียงวิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าและคงไม่เสียเวลาฟังเสียงด่าฉอดๆ เป็นแน่ มันไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าสัญชาติญาณมนุษย์ทั่วไปที่ไม่ชอบฟังถ้อยคำที่อัปลักษณ์

ดังนั้นแทนที่จะด่าหรือยกคำวิชาการมาบ่นแบบไร้ทางออก บางทีการแสดงความรู้สึกอัดอั้นตันใจด้วยการอธิบายง่ายๆ ดูเหมือนจะทรงพลังกว่า

ในโพสต์ของเปาลู กูเวลยู มีผู้แสดงความเห็นในทำนองนี้หลายคน เช่น Kehinde Phillips Oyewole ที่บอกว่า "จริงแท้แน่นอน แต่ที่นี่ในไนจีเรีย เราถูกบังคับให้อยู่โดยปราศจากความรัก พวกเขาทำให้ประเทศอยู่ไม่ไหวจนยากที่จะแสดงความรัก และถ้าคุณบอกว่าคุณรักประเทศและแสดงผ่านการกระทำของคุณ ชีวิตของคุณจะสั้นลง"

Anna George จากอินเดียบอกว่า "ฉันรู้สึกเศร้าใจที่มีหลายประเทศ มีพลเมืองจำนวนมากที่รักประเทศของตน รู้สึกว่ารัฐบาลของตนได้โยงตัวเองเข้ากับประเทศ การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคือการเกลียดชังประเทศของคุณในหลายประเทศๆ - ตามความคิดเห็นเหล่านี้ ฉันขอแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับเพื่อนๆ ทุกท่าน หวังว่าสักวันหนึ่งเราจะมีรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบอบประชาธิปไตยของเราจะได้รับการแก้ไข"

ความเห็นจากอินเดียมีแง่มุมที่น่าคิดเพราะเหมือนจะบอกว่าการไม่รักรัฐบาลเท่ากับไม่รักชาติ ซึ่งเรื่องนี้มีส่วนจริงในอินเดียซึ่งบริหารประเทศโดยรัฐบาลพรรคภารตียชนตาที่เป็นพรรคชาตินิยมฮินดู ซึ่งชื่อก็บอกชัดแล้วว่าพรรคนี้โยงตัวเองกับเสาหลักความเป็นประเทศอินเดียคือศาสนาฮินดูและยังบอกว่าตัวเป็นชาตินิยมด้วย

การตั้งชื่อพรรคและมีอุดมการณ์แบบนี้ทำให้พรรครัฐบาลอินเดียถูกผู้สนับสนุนมองว่าเป็นผู้รักชาติ เป็นผู้ปกป้องศาสนาฮินดู และใครที่ตำหนิรัฐบาลก็เท่ากับตำหนิชาติและศาสนา

นี่คือตัวอย่างที่ประเทศไทยไม่ควรทำตาม รัฐบาลใดๆ ก็ตามย่อมรักชาติได้ แต่ไม่ควรผูกขาดความรักชาติไว้กับตัวเอง เพราะพรรคการเมืองมีแนวโน้มจะใช้เล่เพทุบายเพื่อชิงอำนาจ เพื่อที่จะกุมอำนาจพวกเขาอาจอ้างว่ารักชาติได้และป้ายสีฝ่ายตรงข้ามว่าชังชาติ

เหมือนอย่างในประเทศจีนตอนนี้ที่สุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง จีนนั้นถูกคุกคามจากภายนอกอย่างหนักโดเฉยพาะจากชาติตะวันตก ทำให้ความรู้สึกรักชาติรุนแรงมาก ซึ่งพรรครัฐบาลคอมมิวนิสต์ดูเหมือนจะใช้ประโยชน์จากจุดนี้เพื่อพยุงสถานะของตัวเองเช่นกัน (สถานะของรัฐบาลจีนก็ใช่ว่าจะดีนักหลังการรระบาดของโควิด-19)

แต่กระแสรักชาติในจีนขึ้นสูงเกินไปจนกระทั้งเกิดการไล่ล่า "คนที่รักชาติไม่พอ" หรือ "แดงไม่พอ" หมายถึงคนที่ถูกใส่ไคล้ว่าไม่ค่อยจะสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ เราจะเห็นปรากฎการณ์นี้ในโซเชียลเน็ตเวิร์กของจีน คล้ายๆ กับการไล่กระทืบคนเห็นต่างในโลกโซเชียลของไทย

แต่ความคลั่งนี้รุนแรงจนกระทั่งลามไปถึงคนนักคิดนักวิชาการ คนเด่นคยนดัง และคนในรัฐบาล ที่ถูกชาวเน็ตจีนตราหน้าว่ารักชาติไม่พอ ทำให้การวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ทำไม่ได้เพราะทำขึ้นมาก็จะถูกคนพวกนี้ลากมาขึงพืดด้วยข้อหา "ไม่รักชาติ"

ความรักชาติแบบหน้ามืดตามัวนี้อาจเข้าข่าย "คุณอาจรักประเทศของคุณ แต่เกลียดรัฐบาลของคุณ" ได้เหมือนกัน แต่มันมีเงื่อนไขให้เป็นหายนะต่อประเทศจีนและรัฐบาลจีนได้ในภายภาคหน้าได้ด้วย

โดย กรกิจ ดิษฐาน