posttoday

"ธัมมะโลกะ" พระฝรั่งรุ่นแรกของโลกผู้ต่อสู้เพื่อชาวพุทธพม่า

06 มิถุนายน 2564

ท่านเป็นผู้ก่อตั้ง "พุทธสมาคมแห่งสยาม" และเดินทางไปทั่วเอเชียเพื่อคัดค้านการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ของ "นายฝรั่ง" ที่ล่าอาณานิคมในเอเชีย

ท่านธัมมะโลกะ (Dhammaloka) ชาวไอริช คาดว่าเป็นชาวตะวันตกคนแรกในยุคสมัยใหม่ที่บวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา (เท่าที่หลักฐานพอจะยืนยันได้) ท่านเกิดที่กรุงดับลิน ต่อมาเดินทางไปเป็นกรรมกรทั่วสหรัฐอเมริกา จากนั้นขึ้นเรือไปญี่ปุ่น แล้วต่อเรือมายังพม่าก่อนที่อังกฤษจะผนวกพม่าเป็นอาณานิคมเต็มรูปแบบหลังสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 3

ที่พม่าท่านทำงานเป็นเสมียนห้างทำไม้ ต่อมาสนใจพุทธศาสนา จึงอุปสมบทที่ย่างกุ้งเมื่อก่อนปี 2442 ได้ฉายาว่า "ธัมมะโลกะ" ด้วยความที่ท่านต่อต้านศาสนาคริสต์ เป็นพวกนักคิดเสรี (Freethinker) หรือพวกไม่เชื่อในพระเจ้า (Atheist) เมื่อพบศาสนาพุทธแล้วท่านก็โจมตีศาสนาคริสต์อย่างหนัก ไม่เฉพาะแต่หลักคำสอน แต่รวมถึงการที่อังกฤษผูกศาสนาเข้ากับการล่าอาณานิคม ท่านโจมตีมิชชันนารีว่ามือหนึ่งถือคัมภีร์มือหนึ่งถือปืน

ท่านออกเดินทางตักเตือนคนพม่าให้ระวังฝรั่งพวกหมอสอนศาสนา และท่านยังเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจชาวอังกฤษ-อินเดียนนอกหน้าที่จะสวมรองเท้าเข้าไปยังพระเจดีย์ชเวดากองในกรุงย่างกุ้งในปี 2445ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในพม่าเนื่องจากชาวพุทธในพม่าจะไม่สวมรองเท้าในบริเวณเจดีย์แต่ฝรั่งก็ไม่ยอมถอดรองเท้าเหมือนกัน ทำให้คนพม่าเจ้าของแผ่นดินกับ "นายฝรั่ง" ต้องทะเลาะกันเนืองๆ (และเป็นชวนของขบวนการต่อต้านนักล่าอาณานิคมด้วย)

เรื่องที่เกิดขึ้นนี้คู่กรณีของท่านเป็นชาวอินเดีย ชาวอินเดียถูกนายฝรั่งจ้างมาทำงานรักษาความสงบในพม่าคนอินเดียก็เหมือนคนเอเชียอื่นๆ ที่ชอบเดินเท้าเปล่าและเมื่อเข้าไปไหว้พระเจ้าในศาสนสถานก็ถอดรองเท้า แต่นอกเวลางานตำรวจแขกเยี่ยมชมเจดีย์พม่ากลับใส่รองเท้าบู๊ต ซึ่งถือเป็นดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างร้ายแรง ทำให้ท่านธัมมะโลกะต้องเผชิญหน้ากับคนเหล่านี้เพื่อรักษาเกียรติของชาวพุทธพม่า

ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ของอังกฤษพยายามตั้งข้อหายุยงปลุกระดมให้กับกับท่านธัมมะโลกะและขอให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลพระเจดีย์ไม่ให้ท่านเข้าไปในเขตพระเจดีย์ แต่พวกอังกฤษทำไม่สำเร็จ ทำให้ชื่อเสียงของท่านเป็นที่รู้จักมากขึ้น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ท่านทะเลาะกับฝรั่งและคนอินเดียที่รับใช้ฝรั่ง ในหนังสือ A Vagabond journey around the world ของ Harry Alverson Franck (ปี 1910) เล่าเหตุการณ์ที่ชวนหัวครั้งหนึ่งว่า

"... ยามบ่ายคล้อย ชาวฮินดู (ในสมัยนั้นหมายถึงชาวอินเดียไม่ได้หมายถึงผู้นับถือศาสนาฮินดู) ตัวจิ๋วซึ่งมีหน้าตาอ่อนโยนและเหมือนเด็กๆ ปรากฏตัวขึ้นบนเรือ และเดินโซเซเข้าออกตามตรอกซอกซอยด้วยขาไม้ที่งุ่มง่าม ลงมาแจกจ่ายแผ่นพับที่เขาถืออยู่ใต้ซอกแขนข้างหนึ่ง ชุดของเขาบ่งบอกว่าเขาเป็นมิชชันนารีคริสเตียนพื้นเมือง ทันใดนั้น สายตาของเขาจับจ้องไปที่ธัมมะโลกะและเขาก็นิ่งงันไปโดยอ้าปากค้าง

“นายเป็นอะไรหรือซาฮิบ” เขาพึมพำด้วยน้ำเสียงสงสัย (ซาฮิบเป็นคำเรียกอย่างสุภาพอาจแปลว่าสหาย, คุณ หรือนายท่านก็ได้)

"อย่างที่โยมเห็น" ชาวไอริชตอบ "อาตมาเป็นนักบวชในศาสนาพุทธ"

“ตะ.. แต่ว่านายมาจากประเทศอะไร?”

"อาตมามาจากไอร์แลนด์"

บนใบหน้าของชนพื้นเมืองแสดงอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ราวกับเกิดความสงสัยครั้งใหญ่ครอบงำจิตใจว่ามิชชันนารีที่เป็นหนี้บุญคุณช่วยเขาเปลี่ยนศาสนาได้หลอกลวงเขาเสียแล้ว ประหนึ่งรู้สึกจุกอกแน่นในหัวใจของเขา

“ไอร์แลนด์?” เขาร้องอย่างสั่นเครือว่า “ถ้าอย่างนั้นนายก็ไม่ใช่ชาวพุทธ! ชาวไอริชเป็นคริสเตียน ซาฮิบทุกคนเป็นคริสเตียน” และเขาเหลือบมองอย่างประหม่าไปที่ชาวพม่าที่กำลังยิ้มๆ มองมาที่เรา

“โถ่ นั่นมันที่พวกคริสเตียนจอมปลอมหลอกโยมแล้ว” ชาวไอริชแย้งขึ้น “นั่นที่โยมได้มาน่ะหรือ?”

แขกอินเดียพลิกเอกสารหลายๆ แผ่น เป็นบทต่างๆ ของคัมภีร์ไบเบิลพิมพ์ในภาษาอังกฤษและภาษาฮินดูสถาน (หมายถึงภาษาอูรดู/ฮินดี)

“บ๊ะ!” ธัมมะโลกะเอ่ยขึ้น “นี่ก็แย่พอแล้วที่เห็นคริสเตียนคนขาว แต่คนที่กินน้ำลายซาฮิบมิชชั่นนารีที่เอายัดใส่ให้ นี่มันน่าขยะแขยง ในเมื่อศรัทธาที่แท้จริงอยู่ไกลไม่ถึงวันก็พบแล้ว โยมควรจะลายแก่ใจ”

“ศาสนานี้ดีทีเดียวนา” คนเข้ารีตพึมพำ

“งั้นก็พิสูจน์สิ” ชาวไอริชเถียง

ชาวฮินดูยอมรับการท้าทายนี้ และในครึ่งชั่วโมงต่อมา เราได้เห็นปรากฏการณ์ใหม่ที่นายฝรั่งปกป้องความเชื่อของตะวันออกอย่างแข็งขันต่อคนพื้นเมืองผู้นับถือศาสนาตะวันตก น่าเสียดายที่ขาไม้ของเขาไม่เหมาะกับนักบวชผู้รอบรู้ เขาเริ่มต้นด้วยการพูดซ้ำซากเหมือนนกแก้วนกขุนทองถึงคำสอนของคริสเตียนและเมื่อพูดบทของเขาแล้วยืนทำอะไรไม่ถูกต่อหน้าปฏิปักษ์ของเขา แม้แต่เด็กนักเรียนคงจะนำเสนอข้อโต้แจ้งได้อย่างน่าเชื่อถือมากกว่านี้เสียอีก ชาวไอริชผู้รู้พระคัมภีร์ด้วยหัวใจ ยกคำอ้างอย่างแจ่มชัดตั้งแต่บทปฐมกาลถึงวิวรณ์ อ้างจากพระคัมภีร์อย่างไม่ติดขัดเพื่อสนับสนุนข้อโต้แย้งของเขา และเมื่อชาวฮินดูตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อความหนึ่ง เขาก็จะหยิบแผ่นพับขึ้นมาเล่มหนึ่งแล้วพลิกไปโดยไม่ลังเลแม้แต่น้อยถึงหน้าที่ข้อความถูกระบุไว้

เมื่ออีรุงตุงนังกับตัวบทคัมภีร์และความไม่รู้ของเขาเอง ในไม่ช้าชาวพื้นเมืองก็กลายเป็นตัวตลกในสายตาชาวพม่าที่มามุงดูกัน เขาพยายามที่จะถอนตัวจากการโต้เถียงโดยอ้างว่าเขาไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ (เป็นภาษาแม่) ธัมมะโลกะจึงพูดกับเขาด้วยภาษาฮินดูสถาน เขาแสร้งทำเป็นลืมภาษาแม่และฉวยเอาแผ่นพับที่อยู่ในมือของพระไปอย่างเด็กๆ เมื่อวิธีการอื่นๆ ล้มเหลว เขาก็กลับไปใช้อุบายสุดท้ายของชาวฮินดู และเริ่มร้องไห้ ท่ามกลางเสียงหัวเราะ เขากำแผ่นพับที่ชาวไอริชยื่นออกมาให้เขา และน้ำตาก็ไหลอาบแก้ม เดินกะโผลกกะเผลกไป ไม่มองซ้ายมองขวาสบตาใครจนกระทั่งเขาหายตัวไปในหมู่บ้านชายเลน ... " (จาก A Vagabond journey around the world หน้า 365 - 366 )

เรื่องเล่านี้จากประสบการณ์ของ แสดงให้เห็นถึงความรู้เรื่องคัมภีร์ไบเบิลของพระธัมมะโลกะและรู้ที่จะโต้แย้งข้อสงสัยอย่างไร แต่ก็สะท้อนถึงท่าทีที่แข็งกร้าวของท่านต่อศาสนาคริสต์ด้วย

แนวคิดของท่านออกจะรุนแรงแต่ชาวพุทธพม่าศรัทธามาก โดยเฉพาะกลุ่มต่อต้านเจ้าอาณานิคมรักใครท่านอย่างยิ่ง ด้วยท่าทีเช่นนี้ทำให้ท่านธัมมะโลกะถูกดำเนินคดีหลายครั้ง แต่ท่านกลับเคลื่อนไหวหนักขึ้น เดินสายไปทั่วเอเชียทั้งในอาณานิคมบริติชมาลายา ลังกา จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลียที่ท่านแกล้งตายแล้วหนีมาอยู่ที่สยาม

ท่านมาที่สยามหลายรอบ มีข้อมูลว่าท่านจำพรรษาที่วัดบ้านทวาย ซึ่งน่าจะเป็นวัดดอนทวาย (วัดบรมสถล) บ้านทวาย ซึ่งเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวทวายที่อพยพมาจากพม่า ในช่วงที่ธัมมะโลกะมาสยาม แถบบ้านทวายยังคงรักษาอัตลักษณ์คนทวายเอาไว้ และที่ท่านเลือกมาอยู่ที่บ้านทวายอาจเกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาพม่า และเหตุที่ท่านบวชที่วัดทวาย ในเมืองย่างกุ้งมาก่อน

ที่บางกอกท่านตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษให้คนเชื้อชาติต่างๆ (แถบบ้านทวายมีทั้งคนทวาย คนไทยใหญ่ คนลาว ยะวา-มลายู คนไทย คนจีน) ท่านก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งสยาม (Siam Buddhist Society) เสนอตั้งสภาพุทธศาสนิกชนนานาชาติ ตั้งสำนักสงฆ์สำหรับชาวพุทธต่างชาติที่มาสยาม และตั้งพุทธสมาคมแนวคิดเสรีแห่งสยาม (Siam Buddhist Freethought Association) หลังจากนั้นเรื่องของท่านเงียบไป

ไม่มีใครทราบว่าท่านมรณภาพที่ไหน แต่คาดว่าน่าจะที่วัดบ้านทวาย

โดย กรกิจ ดิษฐาน

เรียบเรียงและเพิ่มเติมจากบทความเรื่อง "ท่านธัมมะโลกะ (Dhammaloka)