posttoday

เมื่อธุรกิจกีฬาไม่ปราณีกับ Naomi Osaka

01 มิถุนายน 2564

เมื่อกฎเกณฑ์ของธุรกิจกีฬาสร้างบาดแผลในใจ ไม่เพียงแต่นาโอมิ โอซากะ แต่ยังมีนักกีฬาอีกหลายคนต้องเจ็บปวด

เรียกได้ว่าเป็นข่าวช็อกวงการเมื่อ "นาโอมิ โอซากะ" (Naomi Osaka) นักเทนนิสมือ 2 ของโลกชาวญี่ปุ่นประกาศถอนตัวจากการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลม เฟรนช์ โอเพ่น 2021 พร้อมประกาศขอวางมือจากการแข่งขันเทนนิสสักระยะด้วยสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ของเธอในขณะนี้ และจะกลับมาลงสนามอีกครั้งเมื่อทุกอย่างดีขึ้น

โดยโอซากะเผยว่าเธอมีภาวะซึมเศร้าตั้งแต่ปี 2018 หลังคว้าแชมป์แกรนด์สแลมในปีนั้น เธอมักกังวลทุกครั้งเมื่อต้องให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนจากทั่วโลกหลังจบเกม และปัญหาครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อเธอปฏิเสธการให้สัมภาษณ์หลังเอาชนะแพทริเซีย มาเรีย ทิก จากโรมาเนีย 2 เซ็ตรวดในการแข่งขันเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมาเพราะกลัวว่าจะมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจ

ส่งผลให้โอซากะโดนคาดโทษและถูกปรับเงินจำนวน 15,000 เหรียญสหรัฐหรือกว่า 460,000 บาท ขณะที่ฝ่ายจัดการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการได้ออกแถลงการณ์ว่าโอซากะกระทำผิดกฎที่ระบุว่านักกีฬาต้องพูดคุยกับสื่อมวลชนหลังจบการแข่งขัน และพฤติกรรมดังกล่าวอาจทำให้เธอโดนโทษปรับที่แพงกว่านี้หรืออาจถูกถอดออกจากการแข่งขันเลยก็ได้

ทั้งนี้ ตามกฎของแกรนด์สแลม 4 รายการทั้ง เฟรนช์ โอเพ่น, ยูเอส โอเพ่น, ออสเตรเลีย โอเพ่น และวิมเบิลดันระบุว่าผู้เล่นจะต้องร่วมพูดคุยกับสื่อภายใน 30 นาทีหลังจบการแข่งขันในแต่ละนัดมิเช่นนั้นจะถูกปรับไม่เกิน 20,000 เหรียญสหรัฐเว้นแต่ผู้เล่นจะได้รับบาดเจ็บ

ขณะที่สมาคมเทนนิสหญิง (WTA) แถลงว่าการพูดคุยกับสื่อหลังการแข่งขันเป็นความรับผิดชอบต่อกีฬาและแฟนๆ ของพวกเขา ทำให้พวกเขามีโอกาสแบ่งปันมุมมองและบอกเล่าเรื่องราว อย่างไรก็ตาม WTA ยินดีที่จะพูดคุยกับโอซากะและผู้เล่นทุกคนเพื่อหารือถึงแนวทางที่จะช่วยสนับสนุนนักกีฬา แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อแฟนๆ และสาธารณชน

ในที่สุด โอซากะก็ประกาศถอนตัวออกจากการแข่งขันด้วยตัวเองเพื่อรักษาสภาพจิตใจของเธอแม้ว่าผลการแข่งขันของเธอกำลังไปได้ด้วยดี พร้อมแถลงผ่านทวิตเตอร์ระบุว่าการถอนตัวครั้งนี้เป็นเรื่องที่เธอไม่คาดคิดมาก่อน พร้อมเปิดเผยว่าเธอมีภาวะซึมเศร้ามาตั้งแต่ยูเอส โอเพ่น 2018

"ฉันมีช่วงเวลาที่ยากลำบากมากในการจัดการกับสิ่งนั้น หากใครรู้จักฉันจะรู้ว่าฉันเป็นอินโทรเวิร์ต (Introvert) ใครที่สังเกตฉันในทัวร์นาเมนต์จะเห็นว่าฉันสวมหูฟังตลอดเวลาเพราะมันช่วยลดความวิตกกังวลทางสังคมของฉันได้" โอซากะกล่าว

พร้อมระบุว่านักข่าวใจดีกับเธอเสมอและเธออยากขอโทษกำสิ่งที่เกิดขึ้น เธอไม่ใช่คนชอบพูดในที่สาธารณะและมักเกิดความวิตกกังวลมากมายเมื่อต้องพูดคุยกับสื่อทั่วโลก

"ฉันรู้สึกประหม่ามากและพบว่ามันเครียดที่จะพยายามมีส่วนร่วมและให้คำตอบที่ดีที่สุดกับพวกคุณ"

เธอจึงเลือกที่จะรักษาสภาพจิตใจของตัวเองและปฏิเสธที่จะแถลงข่าวหลังจบการแข่งขัน พร้อมเผยอย่างตรงไปตรงมาว่าเธอไม่เห็นด้วยกับกฎเกณฑ์ที่บังคับให้นักกีฬาต้องให้สัมภาษณ์ต่อสื่อและมองว่ากฎนั้นค่อนข้างล้าสมัย

พร้อมทิ้งท้ายด้วยการขอโทษและจะกลับมาลงสนามอีกครั้งเมื่อสภาพจิตใจของเธอดีขึ้นแล้ว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีแนวทางที่จะทำให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้นได้ทั้งต่อนักกีฬา สื่อมวลชน และแฟนๆ

ด้านโนวัค ยอโควิช นักเทนนิสมือวางอันดับ 1 ของโลกคนปัจจุบันเผยว่าเขาเข้าใจดีว่างานแถลงข่าวอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกใจและสนุกสำหรับทุกคน โดยเฉพาะหากเราแพ้ในแมตช์นั้น แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในทัวร์นาเมนนต์ มันคือสิ่งที่เราจะต้องทำ มิฉะนั้นเราจะถูกปรับ พร้อมมองว่านี่คือเรื่องที่จำเป็นต้องพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกันเพื่อให้ผู้เล่นรู้สึกดีขึ้น

ยอโควิชเองก็เคยโดนโทษปรับ 7,500 เหรียญสหรัฐจากการปฏิเสธที่จะพูดคุยกับสื่อหลังถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันยูเอส โอเพ่น 2019

อย่างไรก็ตามโอซากะไม่ใช่นักกีฬาเพียงคนเดียวที่เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต ยกตัวอย่างเช่น ไมเคิล เฟ็ลปส์ นักว่ายน้ำโอลิมปิกชาวอเมริกันที่ได้รับการยกย่องให้เป็นนักกีฬาว่ายน้ำที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ก็เคยเปิดเผยว่าเขาต่อสู้กับภาวะซึมเศร้าและความคิดที่จะฆ่าตัวตาย และ เควิน เลิฟ นักบาสเก็ตบอลมืออาชีพเคยเกิดอาการแพนิกในระหว่างการแข่งขันเช่นกัน

BizShifts-Trends ได้เปิดเผยบทความด้านมืดของกีฬาโดยระบุว่ากีฬาที่เคยเป็นเรื่องเกม ความสนุก ความบันเทิง ตอนนี้ล้วนกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่สร้างรายได้และอิทธิพลมหาศาล ตามการวิจัยในปี 2019 พบว่าตลาดกีฬาทั่วโลกมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ กีฬาช่วยให้ชาติมีความน่าเชื่อถือและยังจุดประกายความขัดแย้งระหว่างประเทศได้อีกด้วย

โลกของกีฬานั้นทรงอิทธิพลมากกว่าที่เคยโดยบทความเรื่องด้านมืดของกีฬา (Dark Side of Sport) โดยโดมินิก ฮอบสันระบุว่ากีฬาคือสงครามที่ไม่มีการยิง มันเกี่ยวกับการสูญเสีย ซึ่งผูกไว้ด้วยความเกลียดชัง ความอิจฉาริษยา ความโอ้อวด ชัยชนะ การดูหมิ่น ความภาคภูมิใจ ความรักในอำนาจและการครอบงำ จึงเป็นเหตุที่ว่ากีฬามีบางอย่างที่เหมือนกันกับสงคราม

บ่อยครั้งที่การแข่งขันกีฬามีการถุยน้ำลาย สบถ ตะโกน ชกต่อย จ้องเขม็ง หรือแสดงความรุนแรง ซึ่งมันสร้างความเสียหายไม่เพียงแต่ผู้เล่นแต่ผู้ชมก็เช่นกัน

นิวยอร์กไทม์สเปิดเผยข้อมูลจาก Athletes for Hope แสดงให้เห็นว่านักกีฬาระดับหัวกะทิถึง 35% เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตไม่ว่าจะเป็นความเครียด ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความเหนื่อยหน่าย หรือความผิดปกติทางการกิน

Photo by Paul CROCK / AFP