posttoday

เตือนอาจมีโควิด-26 และโควิด-32 หากยังไม่รู้ต้นตอโควิด-19

31 พฤษภาคม 2564

ผู้เชี่ยวชาญเตือนถึงความอันตรายหากยังไม่เร่งหาที่มาของไวรัสโคโรนา พร้อมเรียกร้องกดดันจีนเพื่อเข้าถึงข้อมูลอย่างอิสระ

ดร. ปีเตอร์ โฮเทซ (Peter Hotez) คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งวิทยาลัยแพทยศาสตร์เบย์เลอร์ และผู้อำนวยการร่วมของศูนย์พัฒนาวัคซีนแห่งโรงพยาบาลเด็กรัฐเท็กซัสกล่าวในรายการ Meet The Press ของ NBC ว่าอาจเกิดโควิด-26 และโควิด-32 หากเรายังไม่เข้าใจที่มาของโควิด-19 อย่างถ่องแท้

เนื่องจากก่อนหน้านี้มีโรคระบาดเกี่ยวกับทางเดินหายใจใหม่ๆ กำเนิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อย่างในปี 2002 ถึง 2003 มีการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส ต่อมาในปี 2012 มีโรคเมอร์ส และในปี 2019 ก็มีโควิด-19 ดังนั้นอาจมีโควิด-26 และโควิด-32 ในอนาคตก็เป็นได้เว้นแต่เราจะเข้าใจต้นกำเนิดของโรคอย่างถ่องแท้

ขณะที่รัฐบาลสหรัฐได้มอบมายให้หน่วยข่าวกรองเพิ่มความพยายามในการสืบหาต้นตอของโควิด-19 โดยตรวจสอบว่าไวรัสรั่วไหลจากห้องปฏิบัติการของจีนหรือแพร่จากสัตว์สู่มนุษย์ โดยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลให้มีความใกล้เคียงกับข้อสรุปมากที่สุด ก่อนรายงานกลับมาอีกครั้งภายในเวลา 90 วัน

ด้านดร. โฮเทซมองว่าการสืบสวนอาจได้ข้อมูลเพิ่มไม่มากนักเนื่องจากก่อนหน้านี้สหรัฐได้ผลักดันการสืบสวนอย่างถึงที่สุดแล้วพร้อมเรียกร้องความร่วมมือระดับโลกโดยเฉพาะจากรัฐบาลจีนในการหาคำตอบของที่มาของโรคโควิด-19

พร้อมเน้นย้ำให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดรวมถึงประชากรค้างคาวและสัตว์ต่างๆ ตลอดจนเรียกร้องให้มีการเก็บข้อมูลในห้องปฏิบัติการของจีนได้อย่างอิสระ เนื่องจากหากไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลโดยสมบูรณ์เราอาจไม่มีวันพบต้นตอของการแพร่ระบาด

"มันมีต้นกำเนิดตามธรรวมชาติมากมาย แต่ทีมวิจัยอิสระ นักวิจัยด้านสาธารณสุข และนักไวรัสวิทยาจะต้องทำงานในประเทศจีนเป็นเวลา 6 เดือนถึง 1 ปีเพื่อสามารถคลี่คลายต้นกำเนิดของไวรัสได้อย่างกระจ่าง" ดร. โฮเทซกล่าว

พร้อมแนะนำว่าทีมวิจัยจะต้องเข้าไปสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลจากห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ในการรั่วไหล ตลอดจนเรียกร้องให้มีการกดดันให้จีนเพื่อให้ความร่วมมือในการสืบหาต้นตอโควิด-19 ด้วยความโปร่งใสเพื่อความกระจ่างว่าไวรัสรั่วไหลออกมาจากห้องปฏิบัติการในอู่ฮั่นหรือไม่

แม้ว่าก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลก (WHO) จะเปิดเผยการศึกษาเบื้องต้นซึ่งพบว่าสมมติฐานที่ว่าไวรัสอาจรั่วไหลมาจากห้องปฏิบัติการในอู่ฮั่นนั้นไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง และชี้ว่าเชื้อไวรัสอาจแพร่จากค้างคาวไปยังสัตว์อีกชนิดหนึ่งก่อนที่จะแพร่ระบาดในมนุษย์

Photo by Mohd RASFAN / AFP