posttoday

'Fan Economy' เมื่อจีนใช้แฟนคลับเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

12 พฤษภาคม 2564

พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากกลุ่มแฟนคลับเกิดกระแสตีกลับเพราะความไม่รอบคอบ

Fan Economy เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างการสร้างรายได้จากแฟนคลับและคนดังในวงการหรือแม้กระทั่งองค์กร เป็นการทำงานรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมโดยมีแกนกลางเป็นทุนทางอารมณ์ของผู้บริโภคที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มคุณค่าของศิลปินที่ตนชื่นชอบ โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบนี้มีวัตุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการขาย

Yang Ling นักวิชาการคนหนึ่งให้ความหมายของ Fan Economy ไว้ว่าเป็นเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และไม่เป็นทางการ เธอมองว่าความสำคัญสูงสุดของเศรษฐกิจรูปแบบนี้คือการทำลายโครงสร้างอำนาจแบบเดิมๆ และให้ผู้บริโภคมีอำนาจมากขึ้นเพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม

เศรษฐกิจรูปแบบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 1990 โดย Matt Hills นักวิชาการชาวอังกฤษตั้งข้อสังเกตว่าในอุตสาหกรรมบันเทิง แฟนคลับเป็นผู้บริโภคที่น่าสนใจที่สุดหากสถานีโทรทัศน์ต้องการทำกำไรไม่จำเป็นต้องเข้าถึงประชาชนทั่วไปจำนวนมากเพียงแค่รองรับแฟนคลับที่จกรักภักดีเท่านั้น

การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโดยกลุ่มแฟนคลับหรือที่เรียกว่า "Fan Economy" เป็นพลังขับเคลื่อนที่ได้ผลเป็นอย่างดีโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมบันเทิงประเทศจีน แต่แม้ว่าบรรดาแฟนคลับจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีเพียงใดก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านอื่นๆ ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือกระแสตีกลับในภายหลัง

อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับรายการค้นหาไอดอลยอดนิยมของจีน "Youth with You 3" เมื่อสัปดาห์ก่อนแสดงให้เห็นว่าพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของบรรดาแฟนคลับนั้นแรงเพียงใด แต่ในขณะเดียวกันมันทำให้เกิดปัญหาตามมาจนต้องระงับการออกอากาศไปเลย

จุดเริ่มต้นของดราม่า

Youth with You เป็นรายการเฟ้นหาไอดอลหน้าใหม่ในวงการซึ่งผู้เข้าประกวดจะได้รับคะแนนจากบรรดาแฟนคลับผ่านการโหวต โดยในช่วงท้ายของการประกวดมีการเพิ่มช่องทางการโหวต โดยผู้ชมสามารถสแกน QR Code บนสินค้าซึ่งเป็นสปอนเซอร์ของรายการเพื่อโหวตให้แก่ผู้เข้าประกวดที่ตนชื่นชอบได้

ส่งผลให้บรรดาแฟนคลับทุ่มเงินมหาศาลเพื่อกว้านซื้อนมยี่ห้อหนึ่งซึ่งเป็นสปอนเซอร์ของรายการเพื่อนำไปโหวตให้แก่ผู้เข้าประกวดซึ่งนั่นเป็นการกระตุ้นยอดขายที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และเป็นวิธีที่อุตสาหกรรมบันเทิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนใช้มาตลอด

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือนมเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปบริโภคหรือก่อให้เกิดประโยชน์ แฟนคลับส่วนใหญ่ระดมเงินไปซื้อเพราะต้องการเพียง QR Code ใต้ฝาเท่านั้น

จึงเกิดคลิปที่แชร์กันว่อนโลกโซเชียลซึ่งแสดงให้เห็นชาวจีนกลุ่มหนึ่งคัดเลือกเพียง QR Code และเทนมทิ้งอย่างน่าเสียดาย ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดอาหารเหลือทิ้งจำนวนมหาศาลเท่านั้นแต่ยังขัดต่อกฎหมายต่อต้านอาหารขยะเหลือทิ้งฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมาอีกด้วย

ผลที่เกิดขึ้น

เมื่อคลิปดังกล่าวถูกแชร์ไปทั่วโลกออนไลน์ส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยกลุ่มแฟนคลับครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ภายหลัง iQIYI ผู้ผลิตรายการจึงได้ออกแถลงการณ์ขอโทษกับสิ่งเกิดขึ้นโดยระบุถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาว่าจะระงับการบันทึกเทปและถ่ายทอดสดรายการในรอบตัดสินที่มีกำหนดในวันที่ 8 พ.ค.

พร้อมปรับเปลี่ยนกติกาให้มีความเหมาะสม รวมถึงปิดช่องทางการโหวตทุกช่องทาง สำหรับสินค้าที่ซื้อไปแล้วและยังไม่ได้แกะบรรจุภัณฑ์ทางรายการจะหารือเพื่อหามาตรการที่เหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ตามรายงานของ Global Times ระบุว่าทางรายการยังถูกร้องเรียนและตรวจสอบโดยหน่วยงานของรัฐบาล ซึ่งสำนักวิทยุและโทรทัศน์ของปักกิ่งได้ออกแถลงการณ์หลังได้รับคำร้องเรียนโดยประกาศระงับการออกอากาศรายการ Youth with You 3 ในวันที่ 8 พ.ค. พร้อมระบุว่าทีมงานผู้ผลิตรายการกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น