posttoday

เปิดสาเหตุที่โควิดสายพันธุ์อินเดียคือหายนะของโลก

03 พฤษภาคม 2564

นี่คือสาเหตุที่ไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ที่พบในอินเดียจะเป็นอันตรายต่อทั้งโลก

ขณะนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอินเดียนั้นเกินกว่าคำว่าวิกฤตด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทะลุ 4 แสนรายเป็นประเทศแรกของโลก ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วประเทศสูงถึงกว่า 19.5 ล้านราย ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดในเอเชีย และมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ และมีผุ้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้วกว่า 2 แสนราย

หลังจากที่ทางการอินเดียประกาศลดมาตรการป้องกันโรคเมื่อต้นปีเนื่องจากมีผู้ติดเชื้อรายวันลดลงต่ำกว่า 10,000 ราย ประชาชนจำนวนมากรวมตัวกันจัดกิจกรรมทั้งทางการเมืองและศาสนาส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นมา โดยเฉพาะเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียวอินเดียมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นราว 7 ล้านราย

บทความจาก The new York Times ระบุว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งใหญ่ในอินเดียนั้นจะเป็นอันตรายต่อโลก โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการแพร่ระบาดที่ไม่สามารถควบคุมได้จะยืดเวลาการระบาดของโรคและอาจส่งผลให้เกิดไวรัสกลายพันธุ์ที่เป็นอันตรายมากยิ่งขึ้น แพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้น ตลอดจนอาจหลบเลี่ยงภูมิคุมกันของวัคซีน

มันกลายพันธุ์แบบไหน?

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ B.1.617 ที่พบใหม่ในประเทศอินเดียสร้างความกังวลไปทั่วโลกหลังมีการแพร่ระบาดไปแล้วเกือบ 20 ประเทศ ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่าไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวอาจมีความสามารถในการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนกังวลว่าอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน

ทั้งนี้ ไวรัสสายพันธุ์ B.1.617 มีการกลายพันธุ์ใน 2 ตำแหน่ง คือ E484Q และ L452R โดยไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่นๆ ที่พบก่อนหน้านี้จะมีการกลายพันธุ์ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเท่านั้น แต่ไวรัสที่พบในอินเดียมีการกลายพันธุ์ทั้ง 2 ตำแหน่ง นอกจากนี้การกลายพันธุ์ที่หนามโปรตีนของไวรัสจะทำให้ไวรัสสามารถยึดเกาะกับเซลล์ในร่างกายของมนุษย์ได้ดีขึ้นทำให้แพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้นนั่นเอง

ท่ามกลางหลายประเทศที่ประกาศระงับการเดินทางขาเข้าจากอินเดียเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ B.1.617 แต่การระงับลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในสหรัฐเมื่อสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้สั่งระงับการเดินทางจากประเทศจีนในช่วงแรกๆ ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคนั้นพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล

ดร.อาชิช จา แพทย์ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ระบุว่า "เราสามารถระงับการเดินทางทั้งหมดที่ต้องการได้ แต่ไม่มีทางที่จะป้องกันไม่ให้เชื้อโรคที่ติดต่อง่ายเหล่านี้แพร่กระจาย" ขณะที่ในอินเดียมีประชากรไม่ถึง 2% ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส

แล้ววัคซีนเอาอยู่ไหม?

ดร.เซลิน กานเดอร์ แพทย์โรคติดเชื้อและนักระบาดวิทยาจากนิวยอร์กเผยว่า "ขณะนี้วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีแนวโน้มที่ประสิทธิผลจะต่ำลง" ท่ามกลางการกลายพันธุ์ของไวรัสที่แพร่กระจายไปทั่วโลกซึ่งผู้เชี่ยวชาญเผยว่าวิธีที่ดีที่สุดคือลดอัตราการติดเชื้อและรีบสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่มนุษยชาติโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ดร.ไมเคิล ไดมอนด์ นักภูมิคุ้มกันไวรัสจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเซนต์หลุยส์กล่าวว่ายิ่งไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดไปอีกนานเท่าไหรก็ยิ่งมีเวลาในการกลายพันธุ์มากขึ้นเท่านั้นซึ่งนั่นอาจทำให้คุกคามประสิทธิภาพของวัคซีนในที่สุด วิธีเดียวที่จะทำลายวงจรนี้คือทำให้แน่ใจว่าประเทศต่างๆ รวมถึงอินเดียได้รับวัคซีนเพียงพอ

"เพื่อหยุดการแพร่ระบาดนี้เราต้องฉีดวัคซีนให้แก่คนทั้งโลก จะมีการติดเชื้อระลอกใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเว้นแต่เราจะฉีดวัคซีนในระดับโลก" ดร.ไดมอนด์กล่าว

อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าไวรัสกลายพันธุ์ทำให้เกิดโรคที่รุนแรงขึ้นหรือลดประสิทธิภาพของวัคซีนในปัจจุบัน

ดับฝันเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

บลูมเบิร์กยังรายงานว่าอินเดียซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐและจีนเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนสำคัญของการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมันขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง

แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งใหญ่นี้ดับฝันนั้นลงไปอย่างน่าใจหายท่ามกลางความวิตกกังวลจากผู้ค้าน้ำมันและผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่หลายรายทั่วโลก

ไมค์ ลินช์ ประธานฝ่ายวิจัยพลังงานเชิงกลยุทธ์และเศรษฐกิจจากสหรัฐกล่าวว่าหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงสหรัฐกำลังมีความหวังจากการฟื้นตัวของเศรฐกิจ แต่วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคในอินเดียทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่าราคาน้ำมันจะไปได้ไกลแค่ไหน

โดย ณิชมน โลหะขจรพันธ์

Photo by TAUSEEF MUSTAFA / AFP