posttoday

ชุมชุมพันธมิตรฆ่ามังกร : ยอมเป็นหนังหน้าไฟให้สหรัฐ

29 เมษายน 2564

ความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ของกลุ่มพันธมิตรต้านจีนที่นำโดย Quad ทันทีที่ประเทศเหล่านี้เริ่มเห็นผลจากโครงการวัคซีน ไม่แน่ว่าหลังจากโลกกลับสู่ภาวะปกติหลังโควิด มันอาจเป็นการเริ่มต้น "ลงมือลงไม้" แบบจริงๆ จังๆ นี่คือตอนที่ 1 ของซีรีส์ "ชุมชุมพันธมิตรฆ่ามังกร"

ในวันที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้นมีความเคลื่อนไหวด้านการทหารเกิดขึ้นไล่เลี่ยกันจากกลุ่มประเทศมหามิตรของสหรัฐ เริ่มจากญี่ปุ่น มาถึงออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร มันเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าประเทศเหล่านี้ไม่ได้แค่ส่งซิกไปยังเป้าหมายที่พวกเขาจะเล่นงานอีกต่อไป แต่เป็นการแสดงท่าทีกันดื้อๆ เอาเลย ในบทความตอนแรกนี้เราจะสังเกตดูว่า "หนังหน้าไฟ" อย่างเอเชียตะวันออกกำลังทำอะไรและจะทำแบบไหนกับพันธมิตรพิฆาตจีน 

ญี่ปุ่นลังเลจะรบหรือไม่รบดี

เริ่มจากเมื่อวันที่ 24 เมษายน สำนักข่าว Kyodo รายงานว่ารัฐบาลญี่ปุ่นกำลังศึกษาว่าควรจะให้กองกำลังป้องกันตนเอง (SDF) ตอบสนองอย่างไรในกรณีที่เกิดความขัดแย้งทางทหารระหว่างสหรัฐและจีนกับไต้หวัน โดยทำการจำลองสถานการณ์ต่างๆ ภายในขอบเขตที่เข้มงวดของกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเพราะว่าญี่ปุ่นถูกควบคุมภายใต้รัฐธรรมนูญมิให้ส่งกำลังทางทหารไปร่วมสังฆกรรมกับการสงครามที่ไหน

สถานการณ์จำลองแบบแรก พวกเขาตั้งสมติฐานว่าฐานทัพสหรัฐในญี่ปุ่นซึ่งกระจุกตัวอยู่ที่โอกินาวาซึ่งเป็นจังหวัดทางใต้สุดของเกาะอาจถูกคุกคามในกรณีที่จีนโจมตีกองทัพสหรัฐ ในสถานการณ์นี้ภายใต้กฎหมายความมั่นคงของญี่ปุ่น SDF สามารถให้การขนส่งและการจัดหาและการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องแก่กองทัพสหรัฐและพันธมิตร

สถานการณ์จำลองแบบที่สอง ญี่ปุ่นจะได้รับอนุญาตให้ฝึกการป้องกันตนเองโดยรวม

สถานการณ์จำลองแบบที่สาม หากความขัดแย้งขยายวงไปสู่การโจมตีทางดินของญี่ปุ่นโดยตรงเช่นบนเกาะโยนากุนิหรือเกาะเซนกากุในโอกินาวาซึ่งประเทศจีนอ้างสิทธิ์และเรียกว่าเกาะเตียวหยู กองกำลัง SDF จะถูกระดมมาเพื่อปกป้องญี่ปุ่นและมีส่วนร่วมในปฏิบัติการรบ

ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังประเมินว่าสถานการณ์ใดที่กฎหมายความมั่นคงจะอนุญาตให้ SDF มีส่วนร่วมได้หากเกิดการโจมตีไต้หวันขึ้นมาจริงๆ แต่เราวิเคราะห์ว่าหากสถานการณ์บีบบังคับมากๆ รัฐบาลญี่ปุ่นอาจหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ SDF เพื่อยกระดับมันให้กลายเป็นกองทัพจริงๆ ขึ้นมา

อย่างที่เรารู้กันว่า ญี่ปุ่นไม่มีกองทัพเพราะถูก "ทำหมันด้านการทหาร" หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สามารถมีกองกำลังป้องกันตนเองได้ ซึ่งชื่อก็บอกอยู่ชัดเจนแล้วว่าใช้เฉพาะป้องกันตนเอง หรืองาน defensive ในกรณีการรบเชิงรุกหรือ offensive ไม่สามารถทำได้

แต่ในช่วงหลายปีมานี้รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กองกำลังป้องกันตนสามารถปฏิบัติงานในเชิง offensive ได้ด้วย แน่นอนว่าจีนและเกาหลีใต้ที่เคยถูกญี่ปุ่นขย้ำไปในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไคัดค้านอย่างที่สุด เพราะชี้เป็นการปลุกผีลัทธิทหารของญี่ปุ่นให้ก่อกวนเอเชียอีก

หลังจากที่ชินโซ อาเบะ พยายามดันเรื่องนี้มานานเขาทำสำเร็จแค่การช่วยให้ SDF ไปปฏิบัติหน้าที่ "เชิงสันติภาพ" ในต่างแดนได้ซึ่งจีนและเกาหลีคัดค้านหนัก ในเวลานั้นท่าทีของจีนยังไม่แข็งกร้าวขนาดนี้ เมื่อบรรยากาศแถบๆ ช่องแคบไต้หวันเริ่มคุกรุ่นญี่ปุ่นก็มีเหตุผลให้อัพเกรด SDF อีกครั้งแล้ว

ชุมชุมพันธมิตรฆ่ามังกร : ยอมเป็นหนังหน้าไฟให้สหรัฐ

สหรัฐว่าไงเราว่าตาม

Kyodo บอกว่าที่ญี่ปุ่นต้องเตรียมตัวเพราะ "ระแวงระวังจากความกล้าแสดงแสนยานุภาพที่เพิ่มขึ้นของจีนในระดับภูมิภาค" ความระแวงของญี่ปุ่นมีเหตุมีผลเพราะมีกรณีพิพาทกับจีนเรื่องแย่งเกาะเซากากุ/เตียวหยู หากจีนโจมตีไต้หวันโดยตรงยังอาจสะเทือนมายังญี่ปุ่นเพราะจุดที่ใกล้ที่สุดของญี่ปุ่นกับไต้หวันคือเกาะโยนากุนิในหมู่เกาะโอกินาวะอยุ่ห่างจากไทเปแค่ 158 กิโลเมตร

ระยะขนาดนี้สหรัฐไม่มีทางนิ่งดูดายแน่นอนเพราะโอกินาวะคือฐานะที่มั่นของสหรัฐในตะวันออกไกล ยิ่งสหรัฐเชื่อมั่นอย่างเต็มอกว่าจีนต้องบุกไต้หวันด้วยแล้ว ญี่ปุ่นยิ่งต้องคล้อยตาม

อย่างเมื่อเดือนมีนาคมฟิล เดวิดสัน (Phil Davidson) ผู้บัญชาการกองบัญชาการอินโด - แปซิฟิกของสหรัฐที่กำลังหมดวาระให้การกับคณะกรรมการกิจการกองทัพของวุฒิสภาว่าเขาเชื่อว่าจีนจะพยายามยึดไต้หวันภายใน 6 ปีข้างหน้า

เดวิดสันยังให้การด้วยว่าจีนยังเล็งเป้าหมายไปที่เกาะกวมซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพสำคัญของสหรัฐในแปซิฟิกโดยอ้างว่าจีนปล่อยคลิปจำลองการซ้อมรบที่เป้าหมายดูคล้ายกับที่กวม

แต่เรื่องนี้อาจต้องฟังหูไว้หูเพราะต้องไม่ลืมว่าเดวิดสันให้การกับใครและมีเจตนาที่แท้จริงอย่างไร หลังจากที่ชี้ชวนว่าจีนจะบุกที่นั่นที่นี่แล้ว เขาถึงขอให้คณะกรรมการกิจการกองทัพของวุฒิสภาอนุมัติให้ตั้งกองพัน "ระบบต้านขีปนาวุธแอจิส" (Aegis Ashor) ซึ่งมีศักยภาพต้านขีปนาวุธของจีนได้ และยังขอเพิ่มงบประมาณทางทหารในเชิงรุก อ้างว่า “เพื่อให้จีนรู้ว่าต้นทุนของสิ่งที่พวกเขาพยายามทำนั้นสูงเกินไป”

พูดง่ายๆ ก็คือเดวิดสันกำลังชักแม่น้ำทั้งห้ามาของบประมาณอาวุธเพิ่มนั่นเอง และจีนก็มองออกทำให้จ้าวลี่เจียน โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีนสวนว่า "อเมริกันบางคนยังคงใช้ปัญหาไต้หวันเพื่อกระตุ้นการคุกคามทางทหารของจีน แต่ความจริงลึกๆ แล้วสหรัฐกำลังหาข้ออ้างที่จะเพิ่มการใช้จ่ายทางทหารขยายกองกำลังและแทรกแซงกิจการในภูมิภาค"

ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริงก็ตาม สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) เผยงบประมาณทางทหารทั่วโลกเมื่อปี 2020 เพิ่มขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถึง 1.98 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 62.3 ล้านล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สวนทางกับ GDP ทั่วโลกซึ่งหดตัว 4.4%

ประเทศที่มีการใช้จ่ายทางทหารมากที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2020 ซึ่งคิดเป็น 62% ของการใช้จ่ายทางทหารทั่วโลก และ 2 อันดับแรกไม่ใช่ใคร คือสหรัฐและจีน โดยเฉพาะสหรัฐค่าใช้จ่ายทางทหารของสหรัฐเมื่อปีที่ผ่านมาสูงถึง 778 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่าปีก่อนหน้า 4.4% หรือคิดเป็น 39% ของค่าใช้จ่ายทางทหารทั้งหมดทั่วโลกในปี 2020

อย่าลืมว่าสหรัฐเกือบจะเอาตัวไม่รอดจากวิกฤตโควิด แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะทุ่มเทใช้จ่ายงบทหาร เพราะ "สหรัฐคือนักค้าสงครามตัวยง" ที่หยุดธุรกิจอาวุธไม่ได้แม้แต่ยามที่ประชาชนในประเทศกำลังซวนเซสุดๆ

ญี่ปุ่นกำลังเป็นลูกค้าชั้นดีของธุรกิจอาวุธชั้นสูงของสหรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการประชุมสุดยอดทวิภาคีระหว่างโจ ไบเดนกับโยชิฮิเดะ ซุงะที่ลงทุนบินไปคุยถึงวอชิงตันดีซีและได้แถลงการณ์ร่วมที่เอ่ยถึงไต้หวันครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1969 (อย่าลืมว่าไบเดน ยังเชิญผู้แทนไต้หวันไปร่วมงานสาบานตนรับตำแหน่งของเขา เป็นผู้นำอเมริกันคนแรกที่ทำแบบนี้นับตั้งบแต่ปี 1979)

ท่าทีของไบเดน-ซุงะ เป็นการท้าทายโดยตรงไปยังจีนแต่ที่สำคัญก็คือมันปูทางให้ญี่ปุ่นซื้ออาวุธจากสหรัฐเพิ่มเติมโดยอาศัยจีนเป็นข้ออ้าง เช่น ในญี่ปุ่นมีการอภิปรายเมื่อปีที่แล้วว่าควรจะมีขีปนาวุธที่สามาถโจมตีฐานของศัตรูหรือไม่

ศัตรูในที่นี้น่าจะหมายถึงเกาหลีเหนือมากกว่า แต่ด้วยท่าทีของญี่ปุ่นที่แข็งกร้าวกับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นไปได้ไหมคิดว่าเล็งผลไปถึงจีนด้วย?

เทคโนโลยีระดับนี้ดูเหมือนจะต้องพึ่งสหรัฐ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ลังเลใจแม้จะทุ่มงบประมาณกลาโหมมหาศาลในอัตราสูงสุด พวกเขาไม่กล้าที่จทุ่มเงินให้สหรัฐเต็มๆ และมองหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากระบบป้องกันขีปนาวุธที่พัฒนาโดยสหรัฐซึ่งมีราคาแพง จะเห็นได้ว่าแม้จะมีภัยคุกคามตรงหน้าและจับมือกับสหรัฐชนจีนแบบตรงๆ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังรับไม่ได้กับอาวุธที่แสนแพงของสหรัฐ

ดังนั้นกับกรณีไต้หวัน ซุงะจึงกล่าวตอบข้อซักถามในสภาเกี่ยวกับท่าทีของญี่ปุ่นและแถลงการณ์ร่วมของเขากับไบเดนว่า "ไม่ได้ส่อว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องทางทหารเลย"

ชุมชุมพันธมิตรฆ่ามังกร : ยอมเป็นหนังหน้าไฟให้สหรัฐ

ไต้หวัน "วิล เนอเวอร์ วอล์ก อะโลน"?

ท่าทีของซุงะอาจจะทำให้ทางไต้หวันสั่นคลอนพอสมควร เพราะฟอร์มพันธมิตรกันอยู่ดีๆ แล้วกลับแสดงท่าทีผลุบๆ โผล่ๆ แต่โจแอนน์ โอว (Joanne Ou) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไต้หวันต้องออกมาย้ำว่าไต้หวันต้องปกป้องตัวเองอยู่แล้วโดยกล่าวว่า “เป็นหน้าที่ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่เราจะต้องปกป้องความมั่นคงแห่งชาติของเราเอง และไต้หวันจะแบกรับความรับผิดชอบด้วยตัวเองในการปกป้องบ้านของประชาชนและปกป้องประเทศ”

คำว่า "จะแบกรับความรับผิดชอบด้วยตัวเอง" นี้เหมือนกระแทกกระทั้นไปยังญี่ปุ่นและเหมือนชะเง้อหาไปยังสหรัฐยังไงก็ไม่รู้

แต่ถ้าเราเป็นญี่ปุ่นก็คงต้องคิดหนักกับการเปิดหน้าชกกับจีน เพราะต่อให้มีเรื่องระหองระแหงกันญี่ปุ่นไม่มีความสามารถที่จะไปสู้จีนได้เลย แม้ว่าจะมีกองทัพสหรัฐประจำการอยู่ที่ท้ายเกาะและระหว่างทางไปไต้หวัน แต่เมื่อคำนึงถึงความเสียหายแล้ว การแสดงความเป็นศัตรูกับจีนแบบโท่งๆ เพื่อเป็นหนังหน้าไฟให้สหรัฐโดยที่ตัวเองพินาศย่อยยับนั้น ไม่คุ้มเอาเสียเลย

ญี่ปุ่นรู้ดีว่าถ้าจีนจะบุกไต้หวัน เป้าหมายของจีนก็จะอยู่แค่ไต้หวันไม่ได้ข้ามมาที่ญี่ปุ่น ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะชักศึกเข้าบ้านด้วยการเออออห่อหมกไปกับสหรัฐทุกเรื่อง แต่ญี่ปุ่นยังจำเป็นต้องคล้อยตามสหรัฐในเรื่องที่พอทำได้เพราะมีสนธิสัญญาพัวพันกันอยู่

ที่ญี่ปุ่นทำได้คือแสดงท่าทีชักเข้าชักออก หลังจากซุงะบอกว่าจะไม่เข้าไปเอี่ยวกรณีไต้หวันแล้ว อีกสัปดาห์ต่อมา (วันที่ 27 เมษายน) กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นก็ออกสมุดปกน้ำเงินว่าด้วยการทูต (Diplomatic Bluebook) ซึ่งเป็นหนังสือรายปีเกี่ยวกับผลงานด้านการทูตของญี่ปุ่น

ในปีนี้ญี่ปุ่นใช้ภาษาแรงกับจีนเป็นพิเศษใจความตอนหนึ่งบอกว่าญี่ปุ่น “มีความกังวลอย่างมากที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในภูมิภาครวมถึงญี่ปุ่นและประชาคมระหว่างประเทศ” เทียบเวอร์ชันของปีที่แล้วญี่ปุ่นบอกว่าท่าทีของจีนเป็น "ข้อกังวลร่วมกันในภูมิภาคและชุมชนระหว่างประเทศ"

สมุดปกน้ำเงินยังกล่าวถึงการที่หน่วยยามฝั่งของจีนที่ล้ำเข้ามาในน่านน้ำของญี่ปุ่นซ้ำแล้วซ้ำเล่ารอบๆ หมู่เกาะเซนกาและเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า “เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ”

สมุดปกน้ำเงินเล่นเอาจีนเดือดพอสมควร หวางเหวินปิน โฆษกกระทรวงกล่าวในการบรรยายสรุปว่าได้ประท้วงไปยังญี่ปุ่นและเรียกร้องให้ญี่ปุ่นแก้ไขข้อผิดพลาดและสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงระหว่างสองประเทศด้วยการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม

ก่อนหน้านี้ จ้าวลี่เจียน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนบอกว่าสหรัฐ "ปั่นกระแสไต้หวัน" เพื่อจะเพิ่มงบประมาณทหาร ครั้งนี้ หวางเหวินปิน โฆษกกระทรวงเดียวกันบอกว่า “สมุดปกน้ำเงินปั่นเรื่องภัยคุกคามของจีน ป้ายสีจีน และแทรกแซงกิจการภายในประเทศของจีน”

แต่จริงๆ แล้วมั่นเป็นเรื่อง "ปั่น" หรือเปล่า? เราสามารถพิจารณาคำตอบได้จากสิ่งที่ไต้หวันกำลังเผชิญ เอาเฉพาะแค่ในเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ "พีคสุดๆ" เพราะสหรับเปิดเกมรุกขยี้จีนและฟอร์มพันธมิตรในเอเชีย

เมื่อวันที่ 26 เมษายน กระทรวงกลาโหมไต้หวันประกาศว่าเครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์ Y-8 (Y-8 EW) และเครื่องบินลาดตระเวนทางยุทธวิธี Y-8 (Y-8 RECCE) บุกรุกเข้าไปในเขตระบุตัวตนป้องกันทางอากาศของไต้หวัน (ADIZ) กระทรวงฯ จึงได้ส่งเครื่องบินออกคำเตือนทางวิทยุและติดตั้งระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศเพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหว ปรากฎว่า Y-8 EW บินต่ำแค่ 30 เมตรซึ่งเป็นระดับการบินที่ต่ำมากและต่ำที่สุดเท่าที่บันทึกมาในปีนี้

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 เมษายน กระทรวงกลาโหมไต้หวันกล่าวว่าเครื่องบิน 25 ลำของจีน ซึ่งรวมทั้งเครื่องบินรบ 18 และเครื่องบินทิ้งระเบิดที่สามารถใช้นิวเคลียร์ 4 ลำ เครื่องบินต่อต้านเรือดำน้ำ 2 ลำ และเครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้า 1 ลำ ได้เข้าสู่เขตระบุตัวตนป้องกันทางอากาศ (ADIZ) การรุกล้ำครั้งนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบปี

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่าสหรัฐกังวลเกี่ยวกับ "การกระทำที่ก้าวร้าวมากขึ้น" ของจีนต่อไต้หวัน

ดูเหมือนว่าทุกครั้งที่สหรัฐพูดเรื่องไต้หวัน จีนจะข่มขู่ไต้หวันหนักขึ้น แต่สหรัฐก็คงหยุดพูดไม่ได้ และไต้หวันก็คงไม่ต้องการให้สหรัฐเงียบเช่นกัน

ชุมชุมพันธมิตรฆ่ามังกร : ยอมเป็นหนังหน้าไฟให้สหรัฐ

พันธมิตรที่เปราะบางเหลือเกิน

สหรัฐเดินสายฟอร์มพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเพื่อต้านจีนอย่างแข็งขัน หากมองในแง่ร้ายเหมือนกับสหรัฐใช้ประเทศเหล่านี้เป็นแนวหน้าในการรับมือกับจีน แน่นอนว่าคนที่จะซวยก่อนใครคือประเทศเหล่านี้ ยกเว้นกรณีของไต้หวันที่จีนก้าวร้าวจนน่ากลัวว่าจะคุยได้ยากแล้ว สำหรับประเทศแถบนี้วิธีการแก้ปัญหาไม่ควรจะเป็นการเผชิญหน้าโดยตรง ดังเราจะเห็นว่าญี่ปุ่นเดี๋ยวก็ทำเป็นขึงขังกับจีน เดี๋ยวก็บอกว่าไม่ยุ่งเรื่องไต้หวัน

นอกจากสหรัฐจะได้ประเทศเหล่านี้มาเป็นแนวหน้ารับมือจีนแล้ว ยังขายอาวุธได้อย่างมันมือ และประเทศที่ไม่ลังเลกับการซื้ออาวุธจากสหรัฐเลยคือไต้หวัน เช่น เมื่อเดือนมีนาคมมีรายงานว่าไต้หวันได้ตัดสินใจซื้อขีปนาวุธพื้นผิวสู่อากาศของ Lockheed Martin Corp รุ่นอัปเกรดเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากจีน คือ ขีปนาวุธ Patriot Advanced Capability 3 (PAC-3) Missile Segment Enhancement (MSE) โดยจะเริ่มส่งมอบในปี 2025 และเริ่มใช้งานในปีถัดไปแต่ไม่บอกว่าซื้อมามากน้อยเท่าไร

ในขณะที่ญี่ปุ่นแสดงอาการลังเลที่จะซื้อจากสหรัฐ ส่วนเกาหลีใต้ต้องสะสมอาวุธเช่นกันแต่เน้นหนักที่การพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองเพื่อตอบรับกับภัยคุกคามของเกาหลีเหนือ ยิ่งเกาหลีเหนือพัฒนาขีปนาวุธที่แม่นยำมากขึ้นเท่ารไ เกาหลีใต้ก็ทได้พอๆ กัน แต่ตอนนี้้มีปมปัญหาขึ้นมาอีก

เกาหลีใต้เคยมีปัญหากับจีนเพราะให้สหรัฐไปติดตั้งระบบ THAAD ในระยะหลังเกาหลีใต้เร่งเครื่องเสริมแสนยานุภาพมากขึ้นไม่ใช่เพื่อต้านจีนแต่เพื่อต้านเกาหลีเหนือ อยางไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 เมษายน องค์การที่ปรึกษาทางการเมืองในวอชิงตันที่ชื่อ Congressional Research Service (CRS) บอกว่าเกาหลีเหนือกำลังพัฒนาศักยภาพของขีปนาวุธเพื่อเอาชนะระบบป้องกันขีปนาวุธในภูมิภาค ซึ่งหมายถึง THAAD นั่นเอง

THAAD อาจจะต้องอัพเกรดขึ้นมาอีกในอนาคต แต่การทำอะไรกับ THAAD แต่ละครั้งจีนจะแสดงอาการไม่พอใจทุกครั้ง เช่นเดือนพฤาภาคมปีที่แล้ว สหรัฐดอดไปเปลี่ยนขีปนาวุธประจำระบบตอนกลางคืน จีนก็ออกมาตอบโต้โดยขู่ว่าเคยตกลงกับเกาหลีใต้ไปแล้วเรื่องนี้ ขอให้อีกฝ่ายมั่นคงกับสัญญาที่ให้ไว้

ในเดือนพฤษภาคมนี้ ไบเดนจะสานพันธมิตรเอเชียตะวันออกอีกครั้งโดยประชุมสุดยอดกับมุนแจอิน ผู้นำเกาหลีใต้เป้าหมายหลักคือการรับมือกับภัยคุกคามนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป้าหมายรองคือการตั้งการ์ดรับมือจีน

ก่อนที่มุนแจอินจับินไปวอชิงตันเพื่อคุยกับไบเดน สื่อญี่ปุ่นคือ Yomiuri Shimbun รายงานเมื่อวันที่ 29 เมษษยนอ้างแหล่งข่าววงในว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นจะหารือกันก่อนในที่ประชุม G7 ที่สหราชอาณาจักรกันเองก่อน ประเด็นหลักคือเรื่องเกาหลีเหนือ แต่เราคาดว่ามันนะจะรวมประเด็นจีนเข้าไปด้วย 

ไบเดนนั้นประกาศออกมาชัดเจนในวันที่ 29 เมษายนต่อสภาคองเกรสเลยว่า สหรัฐกำลังแข่งกับจีนเพื่อเอาชนะกันศตวรรษที่ 21 และเขาบอกว่า “ผมยังบอกกับประธานาธิบดีสีว่าเราจะรักษาสถานะทางทหารที่แข็งแกร่งในอินโด-แปซิฟิกเช่นเดียวกับที่เราทำกับนาโตในยุโรปไม่ใช่เพื่อเริ่มความขัดแย้ง แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง”

แต่พันธมิตรเอเชียตะวันออกต้านจีนของไบเดนไม่ค่อยจะมั่นคงนัก กับเกาหลีใต้แล้วสหรัฐใช้เป็นหมากยันเกาหลีเนหือได้เท่านั้น หากจะชวนเกาหลีใต้มาต้านจีนกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้จะทำแบบอิหลักอิเหลื่อหรือขั้นไม่ร่วมเอาเสียเลย เพราะมีเรื่องขัดแย้งกันมากมาย ทั้ง กรณีแย่งชิงเกาะท็อกโท (เกาะทาเกะชิมะ), กรณีชดเชยหญิงบำเรอชาวเกาหลีที่ญี่ปุ่นบีบบังคับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2, กรณีที่ญี่ปุ่นพยายามดัน SDF ให้ป็นกองทัพสามัญ และล่าสุดคือการที่ญี่ปุ่นจะปล่อยน้ำปนเปื้อมกัมมันตรังสีลงทะเล

กรณีทั้งหลายเหล่านี้เกาหลีใต้โกรธเคืองญี่ปุ่นเป็นอันมากและเกือบทุกข้อเป็นความกังวล/ไม่พอใจร่วมกันของจีนและเกาหลีต่อญี่ปุ่น (ยกเว้นกรณีเกาะท็อกโด) 

เมื่อเกาหลีใต้ตอบโต้ญี่ปุ่นญี่ปุ่นก็โกรธเคืองตอบกลับมาเช่นกัน อย่างในสมุดปกน้ำเงินของญี่ปุ่นก็ชี้ว่าการที่เกาหลีใต้ใช้อำนาจศาลสั่งบริษัทญี่ปุ่นให้ชดเชยหญิงบำเรอสมัยสงครามนั้น รัฐบาลญี่ปุ่น “ไม่สามารถยอมรับได้อย่างแน่นอน” อ้างว่ามันละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและข้อตกลงก่อนหน้านี้ของทั้งสองชาติ

ดูฟอร์มแล้วคง "ร่วมรบ" กันได้ยาก

ป.ล. การที่รัฐบาลไบเดนแสดงท่าทีค่อนข้างเย่อหยิ่งกับเกาหลีเหนือโดยบอกว่าจะไม่ประชุมสุดยอดด้วยกันแน่ๆ ในระยะเวลาอันใกล้ ทำให้สถานการณ์ในเอเชียตะวันออกไม่มั่นคงเข้าไป สะท้อนว่าสหรัฐต้องการให้ประเทศเอเชียตะวันออกทำตามวาระของคตัวเองเท่านั้น เรื่องนี้ทำให้ซุงะต้องบอกเองว่าพร้อมที่จะคุยกับผู้นำเกาหลีเหนือ คิมจองอึน ด้วยตัวเองโดยไม่มีเงื่อนไข

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by LEO RAMIREZ / AFP