posttoday

นาซาสกัดออกซิเจนจากบรรยากาศดาวอังคารสำเร็จ

22 เมษายน 2564

หลังจากที่ปล่อยเฮลิคอปเตอร์บินบนดาวอังคารสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกแล้วล่าสุดนาซาทำความสำเร็จต่อเนื่องด้วยการผลิตออกซิเจนเพื่อหายใจได้บนดาวอังคาร

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) เผยเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ในภารกิจสำรวจดาวอังคารว่าสามารถเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศของดาวอังคารให้เป็นออกซิเจนบริสุทธิ์ซึ่งสามารถหายใจได้ผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า "MOXIE" (Mars Oxygen In-Situ Resource Utilization Experiment) ซึ่งอยู่ภายในตัวถังของยานสำรวจ Perseverance ที่ลงจอดบนดาวอังคารเมื่อวันที่ 19 ก.พ.

อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถผลิตออกซิเจนออกมาได้ประมาณ 5 กรัมหรือเทียบเท่ากับการหายใจของนักบินอวกาศประมาณ 10 นาที

โดยนาซากล่าวว่าแม้จะเป็นปริมาณที่ไม่มากนักแต่นี่เป็นความสำเร็จแรกในการทดลองสกัดทรัพยากรธรรมชาติจากสิ่งแวดล้อมของดาวเคราะห์ดวงอื่นเพื่อให้มนุษย์ใช้โดยตรง

MOXIE ได้รับการออกแบบมาเพื่อผลิตออกซิเจนได้มากถึง 10 กรัมต่อชั่วโมง เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันนักวิทยาศาสตร์วางแผนที่จะใช้อุปกรณ์นี้อีกอย่างน้อย 9 ครั้งในช่วง 2 ปีข้างหน้าภายใต้เงื่อนไขและความเร็วที่แตกต่างกัน

ทรูดี กอร์เตส ผู้อำนวยการสาธิตเทคโนโลยีจากคณะกรรมการภารกิจด้านเทคโนโลยีอวกาศของนาซาระบุว่า MOXIE ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือแรกที่สามารถผลิตออกซิเจนบนดาวดวงอื่นเท่านั้น แต่เป็นเทคโนโลยีแรกที่เอื้อต่อภารกิจอาศัยบนดาวเคราะห์ดวงอื่นในอนาคต

MOXIE ทำงานผ่านกระแสไฟฟ้าซึ่งใช้ความร้อนสูงในการแยกอะตอมของออกซิเจนออกจากโมเลกุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งคิดเป็นประมาณ 95% ของบรรยากาศบนดาวอังคาร โดยอีก 5% ประกอบด้วยโมเลกุลไนโตรเจนและอาร์กอนเป็นหลัก

ขณะที่ปริมาณออกซิเจนบนดาวอังคารมีอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสำรวจดาวอังคาร ทั้งใช้เพื่อการหายใจของนักบินอวกาศและยังเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นสำหรับเชื้อเพลิงยานอวกาศซึ่งจำเป็นต้องใช้ในปริมาณมาก

จากข้อมูลของนาซาระบุว่าการส่งนักบินอวกาศ 4 คนขึ้นจากพื้นผิวดาวอังคารจะใช้เชื้อเพลิงจรวดประมาณ 15,000 ปอนด์ (7 เมตริกตัน) รวมกับออกซิเจน 55,000 ปอนด์ (25 เมตริกตัน)

Photo by Ryan LANNOM / NASA/JPL-CALTECH / AFP