posttoday

รู้หรือไม่อังกฤษยังมีบรรดาศักดิ์ขุนนางแห่งพม่า?

21 เมษายน 2564

ตระกูล "เมานต์แบตเทน" อาจไม่คุ้นหูใครหลายคนแต่หากบอกว่าเป็นตระกูลของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทุกคนคงร้องอ๋อทันที

ในงานพระศพของเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ มีบุคคลหนึ่งที่สื่อให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ เพเนโลพี แนทช์บูล หรือเพนนี (Penelope Knatchbull) เคาน์เตสเมานต์แบตเทนวัย 68 ปีซึ่งเป็นพระสหายขับรถของเจ้าชายฟิลิปและเป็นหนึ่งในพระสหายคนสนิทของพระองค์

เพนนี เป็นภรรยาของ นอร์ตัน แนทช์บูล บุตรของแพทริเซีย แนทชบูลล์ซึ่งดำรงยศเอิร์ลที่ 3 เมานต์แบตเทนแห่งพม่า (Earl Mountbatten of Burma)

ตระกูล "เมานต์แบตเทน" (Mountbatten) แรกเริ่มเดิมทีต้นตระกูลนี้มีต้นกำเนิดมาจากชนชั้นสูงชาวเยอรมัน โดยลูทวิช อเล็คซันเดอร์ แห่งบัทเทินแบร์ค (Ludwig Alexander von Battenberg) อดีตขุนนางชาวเยอรมันได้เสกสมรสกับเจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และทรงมีบุตรธิดาทั้งสิ้น 4 พระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงอลิซ (พระมารดาในเจ้าชายฟิลิป), เจ้าหญิงลูอีเซอ, เจ้าชายจอร์จ และเจ้าชายหลุยส์ แห่งบัทเทินแบร์ค

จุดเริ่มต้นของยศขุนนางครองพม่า

เจ้าชายหลุยส์ แห่งบัทเทินแบร์ค ทรงเข้ามารับราชการในอังกฤษและเสกสมรสกับเจ้าหญิงวิคโทรีอาแห่งเฮ็สเซินและริมไรน์ พระราชธิดาองค์เล็กในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ในปี 1917 พระเจ้าจอร์จที่ห้าได้ถอดฐานันดรเยอรมัน ทำให้ทรงเป็นที่รู้จักกันในนาม "ลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบตเทน"

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองเรือสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 1943–1946 และทรงปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการยึดอาณานิคมของพม่าและสิงคโปร์คืนมาจากญี่ปุ่น

และทรงดำรงตำแหน่งเป็นอุปราชแห่งอินเดียในปี 1947 ต่อมาทรงดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ประจำอาณานิคมอินเดียในปี 1947–1948 และทรงรับราชการในตำแหน่งสุดท้ายที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ซึ่งในช่วงปี 1946 นี้เองที่ทำให้มีการสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์เป็น "ไวเคาน์เมานต์แบตเทนแห่งพม่า" (Viscount Mountbatten of Burma) และในปีถัดมาเลื่อนขึ้นเป็น "เอิร์ลเมานต์แบตเทนแห่งพม่า" (Earl Mountbatten of Burma) การตั้งให้ลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบตเทนเป็น "ขุนนางแห่งพม่า" เป็นการกำหนดบรรดาศักดิ์ตามแผ่นดินที่ตั้ง (Territorial designation) ของระบบขุนนางอังกฤษ คาดว่าเพราะท่านลอร์ดเคยเป็นผู้บัญชาการที่รับหน้าที่ปลดปล่อยพม่า (เมียนมา) จากการยึดครองของญี่ปุ่นและนำกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรในฐานะอาณานิคมดังเดิม

หากเป็นไปตามเหตุผลนี้การตั้งบรรดาศักดิ์ในกรณีของท่านลอร์ดจะเข้าข่ายการตั้งบรรดาศักดิ์ตามสถานที่ที่มีชัยชนะในศึกสงคราม (Victory title) ซึ่งโดยปกติจะอยู่นอกสหราชอาณาจักร 

เอิร์ลเมานต์แบตเทนแห่งพม่าเป็นตำแหน่งเกียรติยศไม่ได้มีอำนาจปกครองจริงๆ และเมื่อมีการอวยยศได้เพียง 1 ปี พม่า/เมียนก็ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948

ผู้สืบทอดตำแหน่งขุนนางแห่งพม่า

เอิร์ลเมานต์แบตเทนแห่งพม่าท่านแรกถูกลอบปลงพระชนม์ในปี 1979 ต่อมาสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จึงทรงแต่งตั้ง แพทริเซีย แนทช์บูล ซึ่งเป็นธิดาในลอร์ดเมานต์แบตเทน ให้ดำรงยศเคาน์เตสที่ 2 เมานต์แบตเทนแห่งพม่า (Countess Mountbatten of Burma) แทนในปีเดียวกัน

แพทริเซีย แนทช์บูล นอกจากจะมีสถานะเป็นทายาทตำแหน่งเป็นเคาน์เตสเมานต์แบตเทนแห่งพม่าแล้ว การที่เธอสมรสกับจอห์น แนทช์บูล บารอนบราบอร์นลำดับที่ 7 ทำให้เธอเคยมีสถานะเป็นเลดี้บราบอร์นมาก่อน

ช่วงที่บิดาของเลดี้บราบอร์นยังมีชีวิตอยู่ครอบครัวของเธอก็มีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดในการพิจารณาหาพระชายาในอนาคตให้กับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เจ้าชายแห่งเวลส์ ในช่วงต้นปี 1974 ลอร์ดเมานต์แบตเทนเริ่มเลียบๆ เคียงๆ เสนอลูกสาวของเลดี้บราบอร์นที่ชื่อ อะแมนดา (Amanda Knatchbull) ให้เป็นพระชายา ซึ่งเจ้าชายชาร์ลส์ยังเขียนถึงเลดี้บราบอร์น (ซึ่งเป็นแม่ทูนหัวของพระองค์ด้วย) เกี่ยวกับความสนใจของพระองค์ในบุตรสาวของเลดี้ซึ่งเธอตอบอย่างเห็นด้วยแต่แนะว่ายังเร็วเกินไปที่จะไปเกี้ยวพาราสีกันก่อนเวลาอันควร

แต่สุดท้ายอะแมนดาปฏิเสธข้อเสนอการแต่งงานของของเจ้าชายชาร์ลส์ในปี 1980 หลังจากการลอบสังหารปู่ของเธอหรือลอร์ดเมานต์แบตเทน และหลังจากนั้นเจ้าชายชาร์ลส์ก็ทรงเสกสมรสกับไดอานา สเปนเซอร์ ในปี 1981 ซึ่งต่อมาคือไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ผู้โด่งดัง

เคาน์เตสที่ 2 เมานต์แบตเทนแห่งพม่าเสียชีวิตในปี 2017 จากนั้นตั้งแต่ปี 2017 นอร์ตัน แนทช์บูล บุตรของแพทริเซีย แนทช์บูลดำรงยศเอิร์ลที่ 3 เมานต์แบตเทนแห่งพม่า โดยมีภริยาคือ เพเนโลพี แนทช์บูล

เจ้าชายหลุยส์และเจ้าชายฟิลิป

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเจ้าชายหลุยส์ หรือเอิร์ลเมานต์แบตเทนแห่งพม่าท่านแรก ทรงเป็นพระมาตุลา (น้าชาย) ในเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ และทั้งสองพระองค์ทรงมีความความสัมพันธ์แน่นแฟ้น โดยลอร์ดเมานต์แบตเทนทรงเป็นผู้สั่งสอนวิธีการทางทหารเรือให้แก่เจ้าชายฟิลิป และการพบกันระหว่างเจ้าชายฟิลิปและควีนเอลิซาเบธที่ 2 ก็เกิดขึ้นโดยลอร์ดเมานต์แบตเทน

ถึงกระนั้นลอร์ดเมานต์แบตเทนทรงผลักดันให้ทายาทของควีนใช้นามสกุล "เมานต์แบตเทน" ของตนแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ทว่าเมื่อปี 2019 เจ้าชายแฮร์รีและพระชายาทรงเผยพระนามพระโอรสของพระองค์ว่า "อาร์ชี แฮร์ริสัน เมานต์แบตเทน-วินด์เซอร์" คือใช้นามสกุลจากทั้งฝั่งของเจ้าชายฟิลิปและควีนเอลิซาเบธที่ 2 นั่นเอง

เหตุการณ์ปลงพระชนม์เอิร์ลเมานต์แบตเทนแห่งพม่า

เอิร์ลเมานต์แบตเทนแห่งพม่าท่านแรกถูกลอบปลงพระชนม์โดยกลุ่มกบฎแบ่งแยกดินแดนในไอร์แลนด์เหนือ ในคืนวันที่ 27 ส.ค. 1979 โดยนายธอมัส แม็กแมฮอน สมาชิกกลุ่มกบฎได้แอบปีนเข้าไปบนเรือและทำการวางระเบิดควบคุมโดยวิทยุน้ำหนักราว 20 กิโลกรัม เมื่อเกิดการระเบิดขึ้น เอิร์ลเมานต์แบตเทนร่วงลงไปในน้ำและถูกช่วยไว้ได้โดยชาวประมงใกล้เคียงในลักษณะขาขวาเกือบขาดแต่ก็สิ้นพระชนม์ด้วยทนพิษบาดแผลไม่ไหว

แม้เหตุการณ์จะผ่านมานานแล้วแต่ก็ยังถูกพูดถึงจนถึงปัจจุบัน โดยเมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมาแมรี ลู แมคโดนัลด์ นักการเมืองจากพรรค Sinn Féin ของไอร์แลนด์ได้กล่าวขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมระบุว่า "ฉันมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงที่จะทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีครอบครัวใดเผชิญกับสิ่งนั้นอีก"

Photo by Glyn KIRK / AFP