posttoday

สงครามชั่วนิรันดร์กับมือที่เปื้อนเลือดของกองทัพสหรัฐในอัฟกานิสถาน

15 เมษายน 2564

วันที่ไบเดนประกาศถอนกำลังทหารอเมริกันทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถาน แต่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาพวกเขาทำให้สิ่งที่ชาวโลกประณามอะไรไปบ้าง?

ประธานาธิบดีโจไบเดนประกาศเมื่อวันพุธว่า “ถึงเวลายุติสงครามชั่วนิรันดร์” ในอัฟกานิสถานโดยกล่าวว่าสหรัฐได้บรรลุภารกิจหลักในการปราบผู้ก่อการร้ายที่กบดานในประเทศอัฟกานิสถานมานานแล้วและการปล่อยให้กองกำลังอเมริกันประจำการอยู่ที่จะทำให้สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

ไบเดนยังกล่าวว่าการประจำการของกองทัพสหรัฐไม่มีความชอบธรรมอีกที่จะหาเหตุผลมาทำให้เชื่อได้ว่าจะสามารถเปลี่ยนอัฟกานิสถานให้เป็นประชาธิปไตยที่มั่นคง และกองทหารอเมริกันประมาณ 2,500 นายที่อยู่ที่นั่นจะค่อยๆ ถอนกำลังออกตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมโดยกระบวนการดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 11 กันยายน ตรงกับวันก่อวินาศกรรม 9/11 ที่เป็นเหตุให้อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ส่งกำลังทหรไปอัฟกานิสถานเพื่อปราบพวกตอลีบานและอัลกออีดะห์ ในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

“ตอนนี้ผมเป็นประธานาธิบดีคนที่สี่ของสหรัฐที่ดำรงตำแหน่งโดยมีกองทหารอเมริกันในอัฟกานิสถาน สองคนมาจากพรรครีพับลิกัน สองคนมาจากพรรคเดโมแครต ผมจะไม่ส่งต่อความรับผิดชอบนี้ให้คนที่ห้า” ไบเดนกล่าวจากทำเนียบขาว ณ จุดเดียวกับที่จอร์จ ดับเบิลยู บุชประกาศส่งกำลังทหารไปอัฟกานิสถาน

สงครามชั่วนิรันดร์กับมือที่เปื้อนเลือดของกองทัพสหรัฐในอัฟกานิสถาน

ข้ออ้างเรื่องสงครามชั่วนิรันดร์

อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชของสหรัฐได้กล่าวถึงเป้าหมายของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2001 ซึ่งเขากล่าวว่าสงครามนี้ "จะไม่จบลงจนกว่ากลุ่มก่อการร้ายทุกกลุ่มทั่วโลกจะถูกหยุดยั้งและพ่ายแพ้" ในคำพูดเดียวกันนั้นเขาเรียกสงครามนี้ว่าเป็น "การกิจที่ไม่สิ้นสุด" ซึ่งเขายังย้ำอีกครั้งในแถลงการณ์ต่อรัฐสภาในปี 2006 (ซึ่งสงครามนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Operation Enduring Freedom หรือ ปฏิบัติการเสรีภาพยั่งยืน)

ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิล ยูบุช ยังกล่าวอมตะวาจาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2001 โดยประกาศว่า "ถ้าคุณไม่อยู่ข้างเรา คุณก็อยู่ข้างผู้ก่อการร้าย" คำพูดนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลกว่าเป็นการบีบบังคับว่าถ้าไม่เห็นด้วยกับสหรัฐก้เท่ากับเป็นฝ่ายตรงข้ามกับสหรัฐ

ชาวอเมริกันบางคนยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการเลือกใช้คำว่า "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ว่ามีนัยซ่อนเร้น รวมถึงนายพลวิลเลียม โอดอม ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) ของประธานาธิบดีเรแกนซึ่งเขาเขียนว่า "การก่อการร้ายไม่ใช่ศัตรู มันเป็นยุทธวิธี เนื่องจากสหรัฐเองมีประวัติอันยาวนานในการสนับสนุนผู้ก่อการร้ายและใช้กลวิธีการก่อการร้ายคำขวัญของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในปัจจุบันจึงทำให้สหรัฐดูหน้าไหว้หลังหลอกกับคนอื่นๆ ในโลก"

ทั้งนี้ ผู้บงการที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตี 11 กันยายน 2001 เป็นส่วนหนึ่งของมูจาฮิดีนที่ได้รับการสนับสนุนติดอาวุธฝึกฝนและได้รับความช่วยเหลือจากซีไอเอในการต่อสู้กับสหภาพโซเวียตหลังจากเข้าแทรกแซงในอัฟกานิสถานในปี 1979 ดังนั้นการโจมตีสหรัฐจึงเป็นผลผลิตจากกลุ่มคนจที่สหรัฐปลุกปั้นขึ้นมาเพื่อใช้โตมตีศัตรู (โซเวียต) นั่นเอง

สงครามชั่วนิรันดร์กับมือที่เปื้อนเลือดของกองทัพสหรัฐในอัฟกานิสถาน

สงครามไร้ที่ความชอบธรรม?

เมื่อการส่งทหารเข้าไปยังอัปกานิสถานยืดเยื้อขึ้นเรื่อยๆ ความชอบธรรมก็เริ่มสั่นคลอนลงเรื่อยๆ แม้แต่ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา (และรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน) ซึ่งโอบามาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแต่ก็กลับเพิ่มกำลังทหารในอัฟกานิสถานแทนที่จะถอนกำลังออกมา ในสมัยของโอบามานั้นครบหนึ่งทศวรรษในสงคราม มีความคืบหน้าขึ้นมาจากการสังหารโอซามา บิน เลาเดนที่ปากีสถานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2011

สงครามในอัฟกานิสถานและการบุกไปสังการบิน ลาเดน ในปากีสถานมีความชอบธรรมหรือไม่? ประเด็นนี้ย้อนกลับไปหลังจากการโจมตีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2011 สภาคองเกรสของสหรัฐได้ผ่านมติอนุญาตให้ใช้กำลังทหารต่อต้านผู้ก่อการร้ายซึ่งมอบอำนาจให้ประธานาธิบดีใช้ "กองกำลังที่จำเป็นและเหมาะสมกับประเทศ, องค์กร หรือบุคคลเหล่านั้น" ที่เขาระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีดังกล่าว และรัฐบาลโอบามาอ้างความชอบธรรมในการใช้กำลังโดยอาศัยมตินั้นและยังอ้างกฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาและกฎหมายจารีตประเพณีแห่งสงคราม

ในขณะที่รัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญกฎหมายของสหรัฐอ้างว่ามันมีความชอบธรรม แต่ในคำปราศรัยต่อรัฐสภาของปากีสถาน นายกรัฐมนตรีของปากีสถานในขณะนั้นคือยูซุฟ ราซา กิลลานี กล่าวว่า "ประชาชนของเราโกรธเคืองอย่างหนักในประเด็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยโดยการโจมตีทางอากาศและภาคพื้นดินของสหรัฐต่อที่กบดานของโอฐามาในเมืองอับบอตตาบาด"

แต่การสังหารบิน ลาเดนไม่ช่วยอะไรมากในเรื่องความมั่นใจของประชาชน Pew Research Center รายงานในเดือนกันยายน 2011 ว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ 75% ไม่คิดว่าสงครามในอัฟกานิสถานช่วยลดความเสี่ยงจากการก่อการร้ายในประเทศของตนและมีเพียง 25% เท่านั้นที่คิดว่ามีส่วน ชาวอเมริกันจำนวนมากซึ่งเป็นส่วนใหญ่ 37% คิดว่าสงครามของสหรัฐในอัฟกานิสถานกลับเพิ่มโอกาสในการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในสหรัฐ

สงครามชั่วนิรันดร์กับมือที่เปื้อนเลือดของกองทัพสหรัฐในอัฟกานิสถาน

สงครามที่สหรัฐฆ่าพลเรือนไปมากมาย

ในช่วงเวลา 20 ปีมีพลเรือนถูกลูกหลงจากสงครามของสหรัฐเป็นจำนวนมาก มีการบันทึกการเสียชีวิตของพลเรือนมากกว่า 31,000 คนเนื่องจากความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับสงคราม พลเรือน 29,900 คนได้รับบาดเจ็บ ชาวอัฟกันกว่า 111,000 คนรวมทั้งพลเรือนทหารและผู้ก่อการร้ายคาดว่าจะเสียชีวิตในความขัดแย้งนี้ ในจำนวนนี้ยังมีกรณีลุกหลงที่สร้างความอื้อฉาวระดับโลก เช่น

การโจมตีทางอากาศเชนาไก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2006 เวลาประมาณ 05.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ขีปนาวุธถูกยิงใส่โรงเรียนสอนศาสนาในหมู่บ้านเชนาไก ในภูมิภาคบันเจาร์ ของปากีสถาน ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่ามาดราสซาหรือโรงเรียนสอนศาสนาเต็มไปด้วยนักเรียนในท้องถิ่นที่กลับมาศึกษาต่อหลังจากวันหยุดทางศาสนา มีผู้เสียชีวิต 82 คนจากการโจมตี ในตอนแรกรัฐบาลสหรัฐปฏิเสธการมีส่วนร่วมในการโจมตี (โดยมีเป้าหมายสังหารอัยมัน อัซเซาะวาฮิรี ผู้นำของกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์) แต่ต่อมาพบว่าสหรัฐเป็นผู้รับผิดชอบในการโจมตีทางอากาศจริงจากรายงานของสถานีโทรทัศน์ CBS

การโจมตีทางอากาศที่อาซิซาบาด ซึ่งดำเนินการโดยกองทัพอากาศสหรัฐฯเมื่อวันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2008 ในหมู่บ้านอาซิซาบาด ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชินดานด์ จังหวัดเฮรัตประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่ง ผู้บัญชาการตอลิบานเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางอากาศ แต่การโจมตีทางอากาศได้คร่าชีวิตพลเรือนไปประมาณ 78 ถึง 92 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและโครงสร้างหลายอย่างในหมู่บ้านรวมทั้งบ้านได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย เพนตากอนยังอ้างว่าการโจมตีดังกล่าวเป็น "โจมตีที่ชอบธรรมต่อกลุ่มตอลิบาน"

การโจมตีที่กราไน หรือบางครั้งเรียกว่าการสังหารหมู่ที่กราไน มีพลเรือนชาวอัฟกานิสถานประมาณ 86 ถึง 147 คนโดยเครื่องบินทิ้งระเบิด B-1 ของกองทัพอากาศสหรัฐเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2009 ในหมู่บ้านกราไน ในจังหวัดฟราราห์ทางตอนใต้ ประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งสหรัฐยอมรับว่าเกิดข้อผิดพลาดอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการโจมตีทางอากาศโดยระบุว่า "การไม่สามารถมองเห็นการมีอยู่ของพลเรือนและหลีกเลี่ยงและ/หรือลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับพลเรือน ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายโดยไม่ได้ตั้งใจ"

การโจมตีทางอากาศที่คุนดุซ เกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 4 กันยายน 2009 ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองคุนดุซ จังหวัดคุนดุซทางตอนเหนือของอัฟกานิสถานใกล้หมู่บ้านโอมา เคอิล กองทัพสหรัฐตอบสนองต่อการเรียกร้องของกองกำลังเยอรมันจึงได้ส่งเครื่องบินขับไล่ F-15E โจมตีเรือบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง 2 ลำที่กลุ่มก่อการร้ายตอลิบานยึดไว้ แต่กลับสังหารพลเรือนไปกว่า 90 คน กรณีนี้ถึงแท้ว่าสหรัฐจะเป็นผู้ส่งเครื่องบินไปโจมตี แต่รัฐบาลเยอรมนีถูกตำหนิมากที่สุด แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลเยอรมนีหลายคนก็ยังอ้างว่ามีความชอบธรรมในการโจมตี

เช่นเดียวกับสหรัฐที่หาช่องโหว่กฎหมายระหว่างประเทศมาอ้างความชอบธรรมของตน เยอรมนีในฐานะพันธมิตรนาโตก็ใช้วิธีเดียวกัน ไม่ถึง 1 ปีหลังการโจมตีที่สั่นสะเทือนเยอรมนี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2010 กุยโด เวสเทอร์เวลรัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมันประกาศว่า ทหารที่ประจำการในอัฟกานิสถานถูกจัดประเภทใหม่ให้เป็นปฏิบัติการที่อิงกับ "ความขัดแย้งทางอาวุธภายในขอบเขตของกฎหมายระหว่างประเทศ" ซึ่งจะทำให้ทหารเยอรมันที่ประจำอยู่ในอัฟกานิสถานสามารถปฏิบัติการได้โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายเยอรมัน