posttoday

อินเดียหวั่นจีนสร้างเขื่อนมหึมาในทิเบต

11 เมษายน 2564

แผนสร้างเขื่อนยักษ์ในทิเบตใหญ่กว่าเขื่อนสามผาถึง 3 เท่าของจีนสร้างความกังวลให้อินเดียซึ่งต้องพึ่งพาต้นน้ำจากทิเบต

ทางการอินเดียและนักสิ่งแวดล้อมแสดงความกังวลว่าแผนสร้างเขื่อนขนาดมหึมาในพื้นที่โม่ทัวของทิเบต บนแม่น้ำยาร์ ลุงซางโป ตอนบนของแม่น้ำพรหมบุตรที่ไหลผ่านอินเดียของทางการจีนจะทำให้ประเทศท้ายน้ำแห้งแล้งหรือเกิดน้ำท่วม หรืออาจนำมาสู่สงครามน้ำในที่สุด

เขื่อนขนาดใหญ่ที่กำลังจะก่อสร้างจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 300,000 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี ซึ่งสูงกว่าความสามารถของเขื่อนสามผาบนแม่น้ำแยงซีของจีนที่เป็นสถานีผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกถึง 3 เท่า ทว่าขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณและระยะเวลาในการก่อสร้าง

ขณะนี้ตอนบนของแม่น้ำยาร์ลุงซางโปในทิเบตมีเชื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่แล้ว 2 เขื่อน และยังมีอีก 6 เขื่อนที่อยู่ระหว่างวางแผนหรือดำเนินการก่อสร้าง

หยานจี้หยง ประธานบริษัท Power Construction Corporation of China กล่าวว่า โครงการนี้คือโอกาสสำคัญในประวัติศาสตร์ที่จีนจะสร้างความมั่นคงด้านน้ำ และช่วยสนองความต้องการด้านพลังงานสะอาดในประเทศจีนได้ ?

อย่างไรก็ดี เขื่อนแห่งนี้ต้องเผชิญเสียงคัดค้านเช่นเดียวกับการก่อสร้างเขื่อนสามผาก่อนหน้าที่ทำทำให้ประชาชนต้องอพยพออกจากพื้นที่กว่า 1.4 ล้านคน

ไบรอัน อายเลอร์ ประธานโครงการพลังงานและน้ำเพื่อความยั่งยืนจาก Stimson Center เผยว่า การสร้างเขื่อนขนาดมหึมาเป็นแนวคิดที่แย่มากด้วยเหตุผลหลายประการ เพราะนอกจากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวแล้ว บริเวณดังกล่าวยังมีความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นเอกลักษณ์ เขื่อนจะปิดกั้นการอพยพของปลาและตะกอนที่จะไหลลงมาท้ายน้ำ

จากานนัธ พันดา นักวิเคราะห์จากสถาบันเพื่อการศึกษาและวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของอินเดีย กล่าวว่า ความกังวลของอินเดียคือ จีนกำลังเดินหน้าสร้างเขื่อนโดยที่ไม่ได้ปรึกษาประเทศอื่น เพื่อควบคุมการไหลของกระแสน้ำในแม่น้ำที่ไหลผ่านหลายประเทศ

ส่วนเท็มปา กยัลเซน ซัมลา ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมจากสถาบันนโยบายทิเบตเผยว่า การสร้างเขื่อนมีความเสี่ยงทั้งในทางการเมืองทั้งระบบนิเวศ

“เรามีมรดกทางวัฒนธรรมทิเบตที่มั่งคั่งในพื้นที่นั้น การสร้างเขื่อนจะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ ทำให้พื้นที่ในแถบนั้นจมอยู่ใต้น้ำ ชาวบ้านจำนวนมากต้องถูกบังคับให้ออกจากบ้านที่อยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ โครงการเขื่อนยังเปิดทางให้แรงงานชาวฮั่นเข้ามาอยู่ในพื้นที่อย่างถาวร”  ซัมลาเผยกับเอเอฟพี

ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า จีนกำลังรุกคืบเข้ามาควบคุมต้นกำเนิดของแหล่งน้ำในเอเชียใต้

ทั้งนี้ หลังจากที่จีนประกาศแผนสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ รัฐบาลอินเดียตอบโต้ด้วยการเผยแผนสร้างเขื่อนขึ้นมาซ้อนอีกชั้นหนึ่งบนแม่น้ำพรหมบุตร เพื่อชดเชยผลกระทบจากเขื่อนแห่งใหม่ของจีน

***หมายเหตุ ในภาพคือหุบเขายาร์ลุงซางโปในเขตปกครองตนเองทิเบต ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งเป็นหุบเขาที่ลึกที่สุดในโลกด้วยความลึกสูงสุด 6,009 เมตร Photo by STR / AFP