posttoday

ครั้งหนึ่งกองทัพเมียนมาหวังครองนิวเคลียร์

06 เมษายน 2564

ในครั้งนี้พวกเขาจะกลับมาหวังอย่างเดิมหรือไม่? เราจะมาสำรวจเรื่องราวในอดีตและความเป็นไปได้ในอนาคตกัน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2007 รัสเซียและเมียนมาได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับศูนย์วิจัยนิวเคลียร์โดยลงนามข้อตกลงกันที่มอสโก โดยหน่วยงานด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียคือ Rosatom แถลงว่า "ศูนย์นี้จะประกอบไปด้วยเครื่องปฏิกรณ์แบบน้ำเบาขนาด 10MW ซึ่งทำงานกับยูเรเนียม -235 ที่เสริมความเข้มข้น 20% ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์การกระตุ้นห้องปฏิบัติการผลิตไอโซโทปทางการแพทย์ ระบบเติมซิลิกอนการบำบัดกากนิวเคลียร์ และสถานที่กลบฝัง (กากกัมมันตรังสี)"

ข้อตกลงนี้ดูเหมือนจะไม่เป็นพิษเป็นภัยเพราะดูท่าจะเป็นการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติ แต่มันกลับทำให้ประชาคมโลกจับตาด้วยความเป็นห่วง เพราะเมียนมาในเวลานั้นปกครองด้วยรัฐบาลทหารและชาติตะวันตกถือว่าเมียนมาเป็น "รัฐนอกรีต" (Pariah state) ที่จะต้องปราบด้วยการคว่ำบาตรหรือบีบให้โดดเดี่ยวหรือแม้แต่อาจจะรุกรานได้เพื่อรักษาความมั่นคงของโลก

รัฐนอกรีตนอกรอยอย่างเมียนมายังร่วมมือกับรัฐนอกรีตตัวฉกาจทีก่อกวนสหรัฐมาโดยตลอด คือเกาหลีเหนือ

โปรดทราบว่าเกาหลีเหนือและรัสเซียมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกัน และโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือก็ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นต้นมาจากสหภาพโซเวียตนั่นเอง

ตามรายงานที่ตีพิมพ์ใน Sydney Morning Herald เมื่อเดือนสิงหาคม 2009 ผู้แปรพักตร์ระดับสูงสองคนจากทางการเมียนมาที่ตั้งรกรากอยู่ในออสเตรเลียเผยเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของเมียนมา โดยหนึ่งในนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกจากรัสเซียที่มอสโกนาน 2 ปีโดยทำงานที่ "กองพันนิวเคลียร์ลับ" อีกคนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารที่ดูแลสัญญาระหว่างเมียนมากับรัสเซียและเกาหลีเหนือ

การเปิดเผยของทั้งคู่ทั้งทราบว่าเมียนมาได้รับความช่วยเหลือจากเกาหลีเหนือในการสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และสิ่งอำนวยความสะดวกในการสกัดพลูโตเนียมในถ้ำอุโมงค์ที่เจาะเข้าไปในภูเขาที่นอง ไลง์ (Naung Laing) ซึ่งเป็นหมู่บ้านในเขตมัณฑะเลย์

คอมเพล็กซ์ลับที่นอง ไลง์ทำคู่ขนานไปกับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อกิจการพลเรือนที่รัสเซียสร้างขึ้นที่ไซต์อื่นๆ ซึ่งทั้งรัสเซียและเมียนมากล่าวว่าไซต์นี้จะได้รับการตรวจสอบจากนานาชาติ หรือพูดได้ว่ามันทั้งไซต์ลับและไซต์ไม่ลับที่เอาไว้ตบตาชาวโลก

ทำไมทหารเมียนมาต้องการอาวุธนิวเคลียร์? อาจเป็นไปได้ว่าพวกเขาต้องการมีอาวุธทำลายล้างสูงเอาไว้ต่อรองกับชาติตะวันตกที่มักจะกดดันรัฐบาลทหารเมียนมาอยู่ตลอดเวลา และในวันนี้ทหารกลับมาครองเมืองอีกครั้ง พร้อมกับแรงกดดันจากประชาคมโลกที่กลับมาเล่นงานอีกครั้งหลังการยึดอำนาจ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่กองทัพเมียนมาจะหันมาจับเรื่องนี้อีก?

ครั้งหนึ่งกองทัพเมียนมาหวังครองนิวเคลียร์

ทหารเมียนมา (เคย) หวังครองนิวเคลียร์หรือเปล่า?

ในปี 2010 หรือปีถัดมาหลังการเปิดเผยเรื่องไซต์นิวเคลียร์ สถาบัน Institute for Science and International Security หรือ ISIS ในวอชิงตัน องค์กรเอ็นจีโอที่ทำงานเรื่องความมั่นคงโดยเน้นที่ความเสี่ยงที่ประเทศอื่นจะใช้อาวุธนิวเคลียร์คุกคามสหรัฐ ได้ทำการวิเคราะห์รายงานเรื่องไซต์นิวเคลียร์ในเมียนมาอย่างละเอียด

ก่อนอื่น ISIS ชี้แจงว่า "หลักฐานที่อยู่เบื้องหลังการ (เรื่องไซต์นิวเคลียร์) เหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากผู้แปรพักตร์หรือการวิเคราะห์ภาพถ่ายภาคพื้นดินและภาพเหนือศีรษะของไซต์ที่ต้องสงสัย" ซึ่งหมายความว่ายังไม่มีคนภายนอกได้เห็นกับตา ISIS จึงต้องทำการวิเคราะห์ด้วยข้อมูลที่มีอยู่

ข้ออ้างเรื่องเหมืองและโรงผลิตยูเรเนียมซึ่งตั้งอยู่ที่แม่น้ำมยิตเหง่ระหว่างมัณฑเลย์กับเจาก์เซ จากการตรวจสอบสรุปว่าไม่น่าจะเป็นที่ตั้งเหมืองและโรงงานผลิตแร่ยูเรเนียม

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะวิเคราะห์แล้วไม่พบว่าสถานที่ที่ถูกกล่าวอ้างนั้นมีความน่าจะเป็นโรงงานนิวเคลียร์ แต่ ISIS ระบุว่าไม่ต้องการให้การหักล้างข้ออ้างนี้มีน้ำหนักเกินไป เพราะ "ยังคงมีเหตุผลอันชอบธรรมที่จะสงสัยว่ามีกิจกรรมนิวเคลียร์ที่ไม่ได้ประกาศในเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของความร่วมมือของเกาหลีเหนือ"

สาเหตุที่พวกเขาต้องย้ำว่าการหักล้างข้ออ้างยังไม่มีน้ำหนักพอก็เพราะการใช้ข้อมูลจากแหล่งสาธารณะ (เช่นภาพถ่ายดาวเทียมหรือภาพถ่ายที่ไม่ชัดเจน) นั้นมีข้อบกพร่อง และ "การระบุสถานที่ตั้งนิวเคลียร์ที่ต้องสงสัยต้องอาศัยพื้นฐานที่เข้มงวดมากกว่าที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน" หมายความว่าจะต้องไปดูด้วยตาตัวเองถึงจะยืนยันได้

ISIS วิเคราะห์ต่อไปว่า "รัฐบาลทหารเมียนมาอาจใช้หน่วยงานการค้าของเกาหลีเหนือเพื่อซื้อสินค้านิวเคลียร์และนิวเคลียร์ที่มีความอ่อนไหวในต่างประเทศ ความร่วมมือทางทหารกับเกาหลีเหนือเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความร่วมมือด้านนิวเคลียร์ นอกจากนี้เกาหลีเหนือยังสามารถเสริมเครือข่ายการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศของเมียนมา และสามารถขายสินค้านิวเคลียร์ที่ผลิตในเกาหลีเหนือได้"

"เครือข่ายการจัดซื้อจัดจ้าง" ที่ถูกเอ่ยถึงนี้มีการใช้หน่วยงานด้านการศึกษาของเมียนมาในการซื้อเทคโนโลยีขั้นสูงด้านการคำนวณ (CNC) จากต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นการอำพรางเป้าหมายที่แท้จริงในการซื้ออุปกรณ์พวกนี้มาใช้ในงานด้านอื่น โดยเมียนมาอ้างว่าจะนำมาใช้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ดีเซลสมรรถนะสูง และเจ้าหน้าที่ของยุโรปทำการตรวจสอบและประกาศว่าเจตนาของเมียนมา "ไม่น่าเชื่อถือ"

CNC สามารถนำมาใช้งานได้หลายอย่าง เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของยุโรปเผยว่ามันสามารถนำมาใช้ผลิตชิ้นส่วนขีปนาวุธหรือการผลิตชิ้นส่วนนิวเคลียร์ ปรากฎว่าเมียนมาได้รับเครื่อง CNC มา 2 เครื่องและนำไปตั้งไว้ในี่ห่างไกลพร้อมด้วยการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด

ครั้งหนึ่งกองทัพเมียนมาหวังครองนิวเคลียร์

เกาหลีเหนือสปอนเซอร์หลักของกองทัพเมียนมา

ดูเหมือนว่าเกาหลีเหนือจะมีบทบาทอย่างมากกับโครงการต้องสงสัยนี้ และถึงกับการตั้งข้อสงสัยกันว่าบางทีเกาหลีเหนืออาจจะโยกอุตสาหกรรมทหารมาไว้ที่เมียนมา แต่ข้อสังเกตนี้ไม่สมเหตุผลเพราะเกาเหลีเหนือผลิตเครื่อง CNC เองได้ และแรงงานเมียนมาไม่มีทักษะสูงเท่าคนงานเกาหลีเหนือกับงานด้านนี้

ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือลักษณะไหนก็ตาม สหรัฐกังวลกับความใกล้ชิดกันของทั้ง 2 ประเทศ ในระหว่างการประชุมอาเซียนในประเทศไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2009 ฮิลลารี คลินตันรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ (ในสมัยโอบามา) ได้เน้นย้ำถึงความกังวลเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของเกาหลีเหนือกับเมียนมาโดยบอกว่า "เราทราบดีว่ายังมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความร่วมมือทางทหารระหว่างเกาหลีเหนือและเมียนมาซึ่งเราให้ความสำคัญอย่างมาก"

ก่อนหน้านั้นในเดือนมิถุนายน 2009 สหรัฐอาศัยมติสหประชาชาติที่คว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือเพื่อให้เรือรบของสหรัฐแกะรอยเรือ Kang Nam 1 ของเกาหลีเหนือที่ต้องสงสัยว่าอาจจะส่งมอบสินค้าผิดกฎหมายให้เมียนมาซึ่งน่าจะเกี่ยวกับโครงการอาวุธ แต่เกาหลีเหนือประกาศว่าหากมีใครก็ตามเข้ามาตรวจเรือจะถือว่าเป็นการก่อสงคราม ซึ่งปรากฎว่าไม่มีใครไปตรวจแล้วเรือก็แล่นกลับเกาหลีเหนือไปโดยไม่ได้ส่งสินค้าให้เมียนมา (ย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายน ปี 2006 มีกรณีเรือของเกาหลีเหนือ MV Bong Hoafan อ้างว่ามาจอดหลบพายุที่เมียนมา แต่นักการทูตกังวลว่ามันอาจจะมีอะไรมากกว่านั้น)

เกาหลีเหนือกับเมียนมายังร่วมมือกันมากกว่านั้นอีกเพราะมีหลักฐานแพลมออกมาเรื่อยๆ (แม้ว่าหลักฐานจะไม่ใช่แบบคาหนังคาเขาก็ตาม) เช่น ในเดือนมกราคม 2009 มีรายงานว่าผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธจากเกาหลีเหนือเสียชีวิตในเมียนมาขณะทำงานในโครงการลับในเมืองเมะทีลา เขตมัณฑะเลย์ และในช่วงปีสองปีนั้นนั้นสหรัฐทั้งพยายามสกัดเครื่องบินและเรือของเกาหลีเหนือที่แวะมายังเมียนมา

หลังจากเมียนมาเป็นประชาธิปไตย (ครึ่งใบ) กองทัพก็ลดระดับความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือลงบ้าง และประชาคมโลกกดดันรัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจีนให้คว่ำบาตรเกาหลีเหนือ ซึ่งรัฐบาลพลเรือนก็ทำในบางส่วน ขณะที่กองทัพยังติดต่อกับเกาหลีเหนือไม่แยแสเอาเลย เช่น มีรายงานว่าผู้เชี่ยวชาญเกาหลีเหนือมาสอนในวิทยาลัยการทหารในเมียนมา และในปี 2018 สหประชาชาติพบว่าเกาหลีเหนือขายขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศและอาวุธอื่นๆ ให้กับกองทัพเมียนมาผ่านทางบริษัทการค้าอำพรางของเกาหลีเหนือ

มีการวิเคราะห์กันว่าที่เมียนมาหันไปคบค้ากับเกาหลีเหนือก็เพื่อรับประกันว่าจะมีคนช่วยสนับสนุนโครงการนิวคเลียร์ต่อไปหากเมียนมาเกิดไม่กินเส้นกับรัสเซียขึ้นมา ส่วนกรณีของจีนนั้นมีการวิเคราะห์ของ ISIS ที่มองว่าจีนไม่ค่อยจะยินดีนักหากเมียนมามีนิวเคลียร์ขึ้นมา ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศนี้เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายอยู่ตลอดเวลา

การที่จีนกับรัสเซียมักจะวีโต้การคว่ำบาตรเมียนมาหรือไม่ยอมประณามการกระทำของกองทัพเมียนมานั้นไม่ใช่เพราะสมประโยชน์กัน (และมันไม่ใช่ครั้งแรกด้วย) แต่เพราะเมียนมาเป็นหมากตัวสำคัญที่จะใช้คานอำนาจกับสหรัฐและพันธมิตรต่างหาก

ครั้งหนึ่งกองทัพเมียนมาหวังครองนิวเคลียร์

การปรากฎตัวของรัสเซียในเมียนมาคือสัญญาณ?

การปรากฏตัวของอเล็กเซ โฟมิน (Alexander Fomin) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซียที่เมียนมาเมื่อปลายเดือนมีนาคม เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ชาวโลกพอสมควร เพราะก่อนหน้านี้ต่อใครเชื่อว่ากองทัพเมียนมาสนิทกับจีนมากกว่าและประชาชนเมียนมาก็ยังคิดว่าจีนสนับสนุนการทำรัฐประหาร

ความจริงก็คือกองทัพเมียนมาไม่ได้สนิทกับจีนขนาดนั้น (ตรงกันข้ามค่อนข้างระแวดระวังจีนไม่น้อย) และยังพยายามสลัดภาพความเชื่อมโยงกับจีนด้วย พร้อมกับบอกใครต่อใครว่าที่ล้มรัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจี ก็เพราะซูจีสนิทกับจีนมากเกินไป

จากนั้นมินอ่องหล่ายก็ต้อนรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย ซึ่งโฟมินให้เหตุผลของการมาเยือนเมียนมาว่าเมื่อปีที่แล้วมินอ่องหล่ายไปร่วมเป็นสักขีพยานการสวนสนามครบรอบ 75 ปีชัยชนะของรัสเซียต่อพวกนาซี (หรือสงครามปกป้องปิตุภูมิอันยิ่งใหญ่) โฟมินจึงบอกว่า "และการเยือนครั้งนี้ของพวกเรา ก็เพื่อตอบแทนการเยือนของท่าน"

แต่มันมีอะไรมากกว่านั้น นี่คือการเยือนระดับรัฐมนตรีครั้งแรกของชาติมหาอำนาจ ในขณะที่ชาติต่างๆ รวมหัวกันคว่ำบาตรเมียนมา มันเป็นการส่งซิกอย่างชัดเจนว่า "ถ้าสหรัฐไม่เอา รัสเซียจะขอเมียนมามาเป็นพวกแล้วกัน"

แต่มันไม่ได้หมายความว่าหากกองทัพเมียนมาจะขอความช่วยเหลือเรื่องนิวเคลียร์แล้วรัสเซียจะให้ด้วยไมตรีไม่มีขัดข้อง ลองดูที่กรณีเทคโนโลยีของเกาหลีเหนือนั้นก็ได้มาจากรัสเซียนั่นเอง แต่เมื่อจะขอเทคโนโลยีที่ล้ำขนาดผลิตอาวุธ รัสเซีย (ในเวลานั้นคือสหภาพโซเวียต) ไม่ยอมให้ และเมื่อเกาหลีเหนือไปขอจีนจีนก็ไม่ยอมให้อีก เกาหลีเหนือจึงใช้เทคโนโลยีขั้นต้นที่ได้มาจากรัสเซียมาแล้วต่อยอดด้วยตัวเองจนสามารถผลิตอาวุธได้

เอาเข้าจริงแล้วเมื่อเกาหลีเหนือเริ่มแผลงฤทธิ์ทั้งรัสเซียและจีนต่างก็กังวล รัสเซียนั้นหวั่นเกรงว่าเกาหลีเหนือจะก่อให้เกิดสงครามนิวเคลียร์เลยด้วยซ้ำ แต่ต่อหน้ากับชาติตะวันตกรัสเซียและจีนแสดงท่าทีโอ๋เกาหลีเหนือ นี่เป็นละครการเมืองอย่างหนึ่ง

เมื่อถามว่าการปรากฎตัวของรัสเซียจะเรื่องกองทัพเมียนมาต้องการพัฒนานิวเคลียร์กลับเป็นที่สนใจกันครั้งหรือไม่? คำตอบนั้นขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์โลกจะไปทิศทางใด และประชาคมโลกจะกดดันกองทัพเมียนมามากแค่ไหน

ครั้งหนึ่งกองทัพเมียนมาหวังครองนิวเคลียร์

อดีตและอนาคตของโครงการอาวุธนิวเคลียร์ตะมะดอ

ในช่วงที่มีกระแสข่าวว่าเกาหลีเหนืออาจจะช่วยกองทัพเมียนมา (ตะมะดอ) พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์นั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในเมียนมาคือเบอร์ทิล ลินท์เนอร์ (Bertil Lintner) ตั้งข้อสังเกตว่า กองทัพเมียนมา "เห็นตำตาว่าเกาหลีเหนือยืนหยัดต่อสู้กับสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้วิจารณ์ที่รุนแรงต่อระบอบการปกครองของเมียนมาได้อย่างไร สาเหตุใหญ่มาจากโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือนั่นเอง"

ข้อสังเกตนี้หมายความว่ากองทัพเมียนมาอยากมีนิวเคลียร์เอาไว้เป็นเหมือน "ไม้กันหมา" มีอยู่ช่วงหนึ่งที่กองทัพเมียนมาคิดอยากซื้อเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือมาทั้งชุดเลย และยังเคยส่งเจ้าหน้าที่ 30 คน ไปศึกษาเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์ที่เกาหลีเหนือด้วย และผลประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศดูเหมือนจะลงตัวเพราะเมียนมามียูเรเนียม ส่วนเกาหลีเหนือมีเทคโนโลยีเสริมสมรรถนะยูเรเนียม

อย่างไรก็ตาม หลังจากเมียนมาเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลพลเรือน แม้ว่ากองทัพจะปกครองอย่างเป็นเอกเทศจากรัฐบาล แต่ผู้แทนของกองทัพในสภานิติบัญญัติกลับสนับสนุนท่าทีของรัฐบาลที่ต้องตัดญาติขาดมิตรกับเกาหลีเหนือหลังจากถูกประชาคมโลกกดดัน หนึ่งในมาตรการตัดขาดคือการให้เมียนมาเป็นภาคีสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW)

ผู้แทนกองทัพให้เหตุผลที่สนับสนุนสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ว่า "หากเราลงนามในข้อตกลงนี้ มันจะช่วยลบล้างข้อกล่าวหาที่ผ่านมาเกี่ยวกับประเทศของเราและกองทัพ นอกจากนี้ยังช่วยให้ประเทศของเราสามารถใช้พลังงานนิวเคลียร์ได้อย่างสันติ"

นั่นหมายความว่าจริงๆ แล้วกองทัพเมียนมาไม่ต้องการอาวุธนิวเคลียร์อย่างนั้นหรือ? และที่ผ่านมาที่มีข้อมูลโยงการเรื่องนิวเคลียร์ล้วนแต่มีเจตนาเพื่อพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติอย่างนั้นหรือ?

หากจะย้อนกลับไปในช่วงปี 2008 - 2009 เราจะเห็นว่าไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น และอาจจะเป็นไปได้ด้วยซ้ำว่ากองทัพเมียนมาต้องการนิวเคลียร์มาต่อรองมหาอำนาจจริง

เกาหลีเหนือนั้นเคยมีแค่เทคโนโลยีระดับใช้งานเพื่อสันติ แต่ก็ต่อยอดจนสร้างอาวุธได้ เกาหลีเหนือนั้นไม่ได้ลงนามใน TPNW แต่เคยลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) แต่ถอนตัวไป หลังจากนั้นมหาอำนาจก็กดดันอย่างหนัก แต่เกาหลีเหนือก็ยังพัฒนาอาวุธไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งหลังประชุมสุดยอดกับทรัมป์แล้ว ก็ยังเชื่อว่าสร้างหัวรบนิวเคลียร์เพิ่มเติมอีกถึง 8 หัวรบ

ถ้ากองทัพเมียนมาได้วิธีสร้างอาวุธลับนี้มาก็คงลงเอยแบบเกาหลีเหนือแน่นอน

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Handout / various sources / AFP