posttoday

สื่อนอกวิเคราะห์ ทำไมไทยไม่มีท่าทีแข็งกร้าวต่อรัฐประหารเมียนมา

03 เมษายน 2564

บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์สชี้ ไทยในฐานะเพื่อนบ้านของเมียนมาจะไม่มีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อการทำรัฐประหารของมินอ่องหล่าย

สำนักข่าวรอยเตอร์สระบุว่า แม้ว่าทางการไทยจะใช้ถ้อยคำที่แข็งกร้าวขึ้นเล็กน้อยต่อการทำรัฐประหารในเมียนมาด้วยการเอ่ยปากว่า “กังวลเป็นอย่างยิ่ง” ต่อสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพที่แน่นแฟ้น และความกังวลว่าผู้อพยพจะทะลักข้ามพรมแดน ทำให้ไทยไม่น่าจะแสดงท่าทีได้มากกว่านี้

สถานการณ์นี้ทำให้ไทยไม่ได้เข้าร่วมกับบรรดาสมาชิกอาเซียนบางประเทศที่พยายามกดดันกองทัพเมียนมา แต่นั่นก็อาจทำให้ไทยอยู่ในตำแหน่งคนกลางได้

ปณิธาน วัฒนายากร รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเผยกับรอยเตอร์สว่า “การแสดงจุดยืนของไทยเป็นเรื่องยาก แต่ผมคิดว่ามีโอกาส เพราะเราเป็นพันธมิตรที่สำคัญ”

รอยเตอร์สระบุอีกว่า ความใกล้ชิดระหว่างกองทัพไทยและเมียนมาถูกตอกย้ำโดยคำพูดของมินอ่องหล่าย ผู้นำรัฐประหารเมียนมาที่ขอให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา “สนับสนุนประชาธิปไตย” หลังจากยึดอำนาจจากออกซานซูจีเพียงไม่กี่วัน

ขณะที่ตัวพลเอกประยุทธ์ที่ให้การสนับสนุนเองก็ยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารเมื่อปี 2014 ขณะเป็นผู้บัญชาการทหารบก ก่อนจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2019 และปฏิเสธข้อหล่าวหาของฝ่ายค้านที่บอกว่าเขาโกงการเลือกตั้งเช่นกัน

“สำหรับพวกเขา ความเป็นพี่น้องทางทหารเป็นเรื่องสำคัญมาก” ลลิตา หิงคานนท์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าว และยังเผยอีกว่า “ดิฉันคิดว่าความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นไม่สามารถเปลี่ยนใจให้รัฐบาลไทยรับผู้อพยพมากขึ้น...ดิฉันคิดว่าพวกเขาอยากเป็นเพื่อนกับเมียนมามากกว่า”

รอยเตอร์สระบุว่า ประเทศไทยมีส่วนได้ส่วนเสียในเมียนมามากกว่าเพื่อนบ้านอาเซียน เนื่องจากมีพรมแดนติดกันถึง 2,400 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับเมียนมายาวที่สุด

ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์หและธรรมเนียมทางการทูตทำให้ไทยต้องระวัดระวังในการพูดถึงรัฐประหาร ไทยจึงใช้ถ้อยคำที่รุนแรงขึ้นเพียงเล็กน้อย และยังเบากว่าเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์หลังจากชาวเมียนมาเสียชีวิตกว่า 500 รายจากการใช้กำลังปราบปรามของกองทัพ

ความเสี่ยงด้านพรมแดนเริ่มปรากฏขึ้นหลังจากผู้อพยพหลายพันคนหนีตายจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพในรัฐกะเหรี่ยง เข้าไทย

แม้ว่าไทยจะถูกกดดันทางการทูตให้ยอมรับผู้อพยพเหล่านั้นหรือมีท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้น แต่ลลิตา หิงคานนท์ มองว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะไม่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้ “รัฐบาลอาจทำอะไรบางอย่างเพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันจากนานาชาติ รัฐบาลอาจทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้เพิกเฉยต่อความกังวลของนานาชาติ แต่ก็เท่านั้น”

ขณะที่ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับเมียนมาก็แข็งแกร่งไม่แพ้กัน การเข้าไปลงทุนโดยนักธุรกิจไทยในเมียนมาเป็นรองเพียงจีนและสิงคโปร์เท่านั้น ด้านการค้าตามแนวชายแดนก็มีมูลค่าถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019 และธุรกิจหลายอย่างของไทยยังต้องพึ่งพาแรงงานเมียนมาซึ่งมีถึง 1.6 ล้านคน

และสำหรับเมียนมา ไทยมีความสำคัญมาก เนื่องจากเมียนมาส่งออกสินค้ามายังไทยเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ในปี 2019 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซธรรมชาติ

ทว่า ปีติ ศรีแสงนาม จากศูนย์อาเซียนศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมองว่า ไทยจะไม่ใช้อำนาจทางเศรษฐกิจคว่ำบาตรทางการค้ากับเมียนมา

ปีติ ศรีแสงนาม แนะนำว่า ไทยอาจใช้วิธีทางการทูตในทางลับเพื่อโน้มน้าวให้กองทัพเมียนมายุติการใช้ความรุนแรงและหาช่องทางพูดคุยกับพลเมืองที่ถูกคุมขังหรือถูกตราหน้าว่าเป็นกบฏ

“ถ้าคุณมีเพื่อนคนหนึ่งที่รู้จักกันมานานมาก แล้ววันหนึ่งเขาสังหารคนอื่น มันก็ไม่ได้หายความว่าคุณจะเลิกเป็นเพื่อนกับเขา ถูกไหม คุณยังเป็นเพื่อนกันอยู่ แต่ทางที่ดีคือพูดคุยกับเขา บอกเขาว่าสิ่งที่เขาทำมันผิด” ปีติกล่าว

REUTERS/Erik De Castro