posttoday

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ไทยต้องรับมือผู้อพยพเมียนมา

29 มีนาคม 2564

สิ่งที่ตามมาไม่ใช่แค่ผู้อพยพที่เดินเข้าประเทศไม่ยากเย็นนักเหมือนในยุโรป แต่ยังมีสงครามกับชนกลุ่มน้อย และการต่อรองทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้จะกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในช่วงทศวรรษที่ 80 - 90 ด้วยความที่ประเทศไทย "สงบที่สุด" เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่แวดล้อมอยู่ ทำให้ไทยต้องอ้าแขนรับผู้อพยพจากเมียนมา กัมพูชา และลาวเป็นจำนวนมาก เราต้องรับรองผู้อพยะพขจากกัมพูชามากที่สุดในช่วงทศวรรษที่ 70 - 80 และต้องดูแลผู้อพยพจากเมียนมามากที่สุดในช่วงทศวรรษที่ 80 - 90

ตามชายแดนไทย-เมียนมามีค่ายผู้อพยพนับพันแห่ง ปัจจุบันก็ยังมีผู้อพยพในหลักเกือบแสน (ประมาณ 9 หมื่นกว่าๆ)

ในตอนนี้ความกังวลเรื่องผู้อพยพจากเมียนมาจะทะลักเข้าไทยเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อกองทัพเมียนมาใช้กำลังปราบปรามประชนหนักมือมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ประชาชนเองก็ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับผู้ที่ปล้นชิงอำนาจประชาชนไป

กระแสผูอพยพระลอกแรกก็เกิดขึ้นในที่สุดเมื่อกองทัพเมียนมาหรือตะมะดอโจมตีฐานที่มั่นของกองกำลังสหภาพชนชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) หรือ KNU ไม่ไกลจากชายแดนไทยด้าน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอนเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ทำให้มีผู้อพยพเข้ามาฝั่งไทยประมาณ 300 คน รวมผูอพยพก่อนหน้านั้นด้วยมีเข้ามาในไทยแล้ว 1,900 คน แต่สำนักข่าว Tachileik News Agency ระบุว่ามีถึง 10,000 หนีการสู้รบมาใกล้ๆ ชายแดน/ไทย

โปรดสังเกตว่าผู้อพยพกลุ่มนี้เป็นประชาชนที่อาศัยที่ชายแดนซึ่งอนุมานได้ว่าเป็นชาวกะเหรี่ยง ซึ่งคล้ายกับคลื่นอพยพเมื่อกว่า 20 ปีก่อนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง และอพยพเข้ามาเพราะการโจมตีของกองทัพเมียนมาต่อฐานที่มั่นของกะเหรี่ยงแถบชายแดนไทย

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งกังวล อาจเป็นเพราะคนไทยเหล่านั้นไม่ได้ทราบว่ารัฐบาลไทยสมัยต่างๆ ก็ต้องเตรียมรับผู้อพยพจากเมียนมาอยู่ตลอดอยู่แล้ว เพราะความขัดแย้งในเมียนมาไม่เคยจบสิ้นลงเลย ดังนั้นชายแดนของเราจึงเต็มไปด้วยค่ายผู้อพยพ และพร้อมที่จะรองรับการทะลักเข้ามาได้

ประเด็นชวนคิดก็คือ ผู้ที่อพยพเข้ามาระลอกนี้จะแค่มาลี้ภัยเท่านั้นหรือเปล่า?

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ไทยต้องรับมือผู้อพยพเมียนมา

"รับเข้ามาแต่สถานะไม่เต็มร้อย"

ย้อนกลับไปในเหตุการณ์นองเลือด 8888 ปี 1988 ซึ่งประชาชนลุกฮือต่อต้านรัฐบาลทหารและทหารก็ปราบปรามอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตอาจจะถึงนับหมื่นคน แต่ผู้อพยพเข้ามาในไทยมีจำนวนไม่มากนัก ระลอกแรกนักศึกษา/ประชาชนเมียนมาหนีเข้าไปร่วมกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยก่อนเพื่อลี้ภัยและร่วมฝึกการรบเพื่อจะเอาคืนทหาร แต่ก็ยังไม่หนีเข้ามาในจำนวนมาก

จากรายงานของ Human Right Watch ระบุว่า หลังการลุกฮือปี 8888 ผู้ลุกฮือการเมืองประมาณ 8,000 ถึง 10,000 คนขอลี้ภัยในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชนชาติพม่า ส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่ม หลายคนเป็นนักศึกษา ทางการไทยและข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า "นักศึกษา"

ทางการไทยมีพันธะด้านมุนษยธรรมที่จะต้องช่วยนักศึกษาเหล่านี้ แต่นโยบายของรัฐบาลไทยเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่ใช่แค่เปลี่ยนเพราะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ แต่ยังเปลี่ยนอย่างรวดเร็วในรัฐบาลเดียวกัน และรัฐบาลไทยยังไม่ยอมรับนักศึกษาเหล่านี้ว่ามีสถานะเป็น "ผู้ลี้ภัย" แต่อนุญาตให้ UNHCR ช่วยเหลือคนเหล่านี้ได้

สาเหตุหนึ่งก็เพราะไทยไม่ได้เข้าร่วมในอนุสัญญาผู้ลี้ภัย (ปี 1951) ผู้ที่หลบหนีเข้าไทยจะถูกปฏิบัติเป็นคนต่างด้าวผิดกฎหมายเอาไว้ก่อน และยังเปิดโอกาสให้ประเทศไทยส่งตัวผู้อพยพคืนต้นทาง (refoulement) ได้โดยไม่เป็นการะเมิดข้อตกลงใดๆ แต่ไทยมักจะถูกโจมตีว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยเหตุผลนี้

การที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมอนุสัญญาผู้ลี้ภัยทำให้ไทยมีทางเลือกมากมายที่จะปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัย เราจึงเห็นนโยบายของไทยเดี๋ยวก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เดี๋ยวก็รับคำชมจากต่างชาติเดี๋ยวก็ถูกประณาม เช่น จากรายงานของ Human Right Watch ตอนแรกทางการไทยเรียกนักศึกษาที่หนีเข้ามาว่า "ผู้ลี้ภัยสงคราม" แต่ต่อมากลับเรียกว่า "คนพลัดถิ่นชั่วคราว" ในบางกรณีลดสถานะจาก "ผู้พลัดถิ่น" ไปเป็น "ต่าวด้าวผิดกฎหมาย" ด้วยซ้ำ และยังส่งตัวผู้อพยพกลับไปให้ทหารเมียนมาหรือ SLORC ด้วยซ้ำในบางครั้ง

เราอาจวิเคราะห์ได้ว่าท่าทีที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของไทยอาจเป็นเพราะกังวลเรื่องความมั่นคง เช่น การเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาเมียนมาและเรื่องที่อาจมีสายลับทหารเมียนมาแฝงตัวเข้ามา และอาจทำให้ไทยต้องพัวพันกับสถานการณ์ที่ซับซ้อนเหมือนลิงแก้แห

อย่าว่าแต่ท่าทีของไทยเลย แม้แต่ท่าทีของสหรัฐเองบางครั้งก็สนับสนุน เช่นการที่ "นักศึกษา" กลุ่มนี้ร่วมกันก่อตั้ง "แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า" (ABSDF) กองกำลังติดอาวุธตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อสู้รบร่วมกับกองกำลังของชนกลุ่มน้อยต่างๆ เช่น KNU ของกะเหรี่ยง กลุ่มนี้มีเจตนารมณ์เพื่อต่อต้านกองทัพเมียนมา แต่แล้วรัฐบาลสหรัฐกลับไปขึ้นทะเบียน ABSDF ว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายเสียอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ก็รับสมาชิกของกลุ่มนี้เป็นผู้ลี้ภัยเข้าในประเทศตนด้วย

ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย มีความโน้มเอียงไปทางเห็นใจกลุ่มต่อต้านเผด็จการทหาร แม้ว่ารัฐบาลนั้นจะใช้นโยบายแนวกันชนโดยใช้ชนกลุ่มน้อยเป็นแนวกันกองทัพเมียนมาและส่งออกทางการเมืองว่าสนับสนุนขบวนการต่อต้านเผด็จการทหารเมียนมาชัดเจน แต่ในสมัยรัฐบาลชวนก็ยังมีการผลักดันผู้อพยพออกไปและถูกตำหนิจากประชาคมโลกด้วย ทำให้ไทยได้รับทั้งดอกไม้และก้อนหินจากกรณีเมียนมา

ยังไม่นับกรณีความวุ่นวายที่ชนกลุ่มน้อยเข้ามาก่อการในแผ่นดินไทยคือ เหตุการณ์ก๊อด'ส อาร์มี่บุกยึดสถานทูตพม่า (พ.ศ. 2542) และโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี (พ.ศ. 2543) โดยกรณีแรกนั้นทางการไทยอ่อนข้อให้ผู้ก่อเหตุจนทหารเมียนมาไม่พอใจอย่างมาก ส่วนกรณีหลังทางการไทยใช้วิธีเด็ดขาดด้วยการสังหารผู้ก่อเหตุทั้งหมด ทหารเมียนมาจึงค่อนข้างพอใจ

เหตุการณ์ก๊อด'ส อาร์มี่บุกยึดสถานทูตพม่านั้นทางกลุ่มเรียกร้องให้มีการเปิดการเจรจาระหว่างสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) กับรัฐบาลพม่าและให้มีการประชุมรัฐสภาตามผลการเลือกตั้งในปี 1990 เรื่องนี้สะท้อนว่าความขัดแย้งของเพื่อนบ้านสะเทือนถึงใจกลางของประเทศไทยอย่างไร

ย้อนกลับไปที่กรณีของ ABSDF ที่เป็นกองกำลังนักศึกษาแต่ถูกขึ้นทะเบียนโดยสหรัฐว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายนั้น น่าจะมีสาเหตุมาจากการที่สื่ของทหารเมียนมาประโคมว่ากลุ่มนี้มักก่อเหตุสังหารหมู่พลเรือน แต่นักการทูตบางคนเชื่อว่าคนที่ลงมือไม่น่าจะเป็นกองกำลังนักศึกษา แต่เป็นทหารเมียนมาที่ลงมือเเองแล้วป้ายสีให้กลุ่มนี้เป็นผู้ก่อการร้าย

ถ้าเกิดว่าตอนนี้ผู้ลี้ภัยเมียนมาเข้าแถบชายแดนไทยแล้วตั้งกลุ่มแบบ ABSDF ประเทศไทยคงวุ่นวายไม่น้อย

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ไทยต้องรับมือผู้อพยพเมียนมา

"ผู้อพยพกลุ่มใหญ่คือใคร"

พวก "นักศึกษา" ส่วนใหญ่เป็นชนชาติพม่าและมีจำนวนไม่มากนัก หากมีเส้นสายหรือความสามารถมากพอก็อาจเดินทางไปยังประเทศที่ 3 ได้ ในสายตาของรัฐบาลไทยกลุ่มนี้เพียงแต่สร้างความรำคาญเป็นระยะด้วยการใช้พื้นที่ของประเทศไทยทำกิจกรรมทางการเมืองตามเจตนารมณ์ของพวกเขา

ปัญหาที่ซับซ้อนกว่านั้นอยู่ตามชายแดนมากกว่า

การอพยพเข้าไทยเป็นจำนวนมากเกิดขึ้นในทศวรรษที่ 90 เมื่อกะเหรี่ยงแตกคอกันเอง เมื่อ KNU แตกออกมาเป็น "กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธ" DKBA และรบกันเองโดยที่ฝ่าย DKBA สวามิภักดิ์กับกองทัพเมียนมาหรือในขณะนั้นคือ SLORC

การรบกันทำให้ชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากหนีเข้ามาฝั่งไทย นี่คือมูลเหตุของจำนวนผู้อพยพนับแสนในเวลานั้น เท่านั้นยังไม่พอ DKBA กับ SLORC ยังดอดเข้ามาโจมตีค่ายผู้อพยพในไทยอยู่เนืองๆ เพราะคิดว่าค่ายผู้อพยพในไทยคือฐานกบดานของพวก KNU

การโจมตีครั้งใหญ่ๆ เกิดขึ้นในปี 1998 รายงานจาก ระบุว่าในปีนั้นมีผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงถึง 12,500 คน แต่เมื่อถึงไทยแล้ว ใช่ว่าจะปลอดภัย เพราะนอกจากพวก DKBA กับ SLORC จะข้ามมาก่อกวนฝั่งไทยแล้ว ยังมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยอย่างไม่มีมนุษย์ธรรม

จากข้อมูลของ Karen Human Rights Group ระบุว่า "กองทัพไทยยังมีส่วนร่วมในการโจมตีค่ายผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่เกือบทุกครั้ง โดยปกติการสมรู้ร่วมคิด (กับการโจมตีโดยกองทัพเมียนมา) นี้เกิดขึ้นในรูปแบบของการถอนตัวออกจากค่ายหลายชั่วโมงก่อนที่พวกเขาจะถูกโจมตีและในบางกรณี (เช่นค่าย Baw Noh ในปี 1995) จงใจปลดอาวุธกองกำลังรักษาความปลอดภัยของค่ายกะเหรี่ยงก่อนการโจมตีจะเกิดขึ้น มีเพียงผู้ลี้ภัยเท่านั้นที่พยายามปกป้องค่ายของพวกเขา และอาวุธของกองกำลังรักษาความปลอดภัยของพวกเขามักไม่มีอะไรมากไปกว่าหนังสติ๊ก"

จากรายงานชิ้นนี้มีจุดน่าสนใจว่าข้ออ้างเรื่องกองทัพไทยเข้าไปปลดอาวุธ "กองกำลังรักษาความปลอดภัยของค่าย" อาจทำให้คิดได้ว่ากองทัพไทยไม่พอใจที่มีกองกำลังติดอาวุธในค่ายหรือไม่ แต่นี่เป็นการประเมินที่มองโลกในแง่ดีมากๆ และอาจจะไม่ใช่เหตุผลดังกล่าวเลยหากพิจารณาตามรายงานชิ้นนี้ที่ขยายความเพิ่มเติมว่า

"ในการโจมตีห้วยกะโหลกในปีนี้ (1998) ผู้ลี้ภัยบางคนอ้างว่ากองทัพไทยช่วยขนย้ายผู้โจมตีไปที่ค่ายด้วยและพวกเขาได้นำ ผู้โจมตีบางส่วนกลับมาที่ค่าย 3 วันหลังจากนั้นเพื่อตรวจสอบผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตามพวกเขาไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อป้องกันการโจมตี"

ทั้งนี้ นี่เป็นรายงานแต่ฝ่ายเดียวของ Karen Human Rights Group จากการสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยในค่ายต่างๆ ที่ชายแดนไทย

และแม้ว่าจะเป็นความจริง แต่ขอย้ำว่านี่เป็นเหตุการณ์เมื่อทศวรรษที่ 90 ที่สื่อประชาชนยังไม่แพร่หลายและพื้นที่นั้นยังห่างไกลมาก การที่ไทยต้องรับผู้อพยพอยู่เนืองๆ ทำให้ไทยเตรียมพร้อมมากขึ้น การปฏิบัติอะไรที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ "อาจจะ" น้อยลงไปด้วย

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ไทยต้องรับมือผู้อพยพเมียนมา

เรื่องความกังวลว่าจะมีผู้อพยพกลุ่มใหญ่เข้ามาในไทยนั้น หากดูจากความขัดแย้งที่ผ่านมาไม่ใกล้ไม่ไกล ระหว่างปี 2010 - 2012 ซึ่งกองทัพเมียนมารบกับกะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ คือ DKBA-5 และ KNLA ปรากฎว่ามีผู้อพยพเข้าไทยถึง 15,000 คน ในวันที่มีการชิงเมืองเมียวดีกันในวันที่ 8–9 พฤศจิกายน 2010 แต่หลังจากที่ตะมะดอยึดเมียวดีกลับคืนได้ กองทัพไทยก็ผลักดันผู้อพยพข้ามฝั่งกลับไปโดยไม่รีรอ แต่หลังจากนั้นการสู้รบยังคงมีอยู่พร้อมด้วยอาวุธลูกหลงตกมาฝั่งไทยหลายลูก

นี่คือตัวอย่างสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เราต้องรับผู้คนด้วยและต้องรับลูกหลงด้วย ซึ่งการรับลูกหลงของฝั่งไทยนั้นก็มีลวดลายต่างกันออกไปในแต่ละยุคสมัย

ในขณะที่มีรายงานว่ากองทัพไทยดูเหมือนจะรู้เห็นเป็นใจกับการนำกองทัพเมียนมาหรือกองกำลังในเครือเข้ามาจัดการกับผู้อพยพ แต่ความสัมพันธ์ของกองทัพไทยกับเมียนก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป มีการกระทบกระทั่งกันหลายครั้ง แต่มักจะเคลียร์กันได้เพราะกองทัพ (และรัฐบาล) ทั้งคู่มีบางสิ่งที่เชื่อมโยงกันเอาไว้

การโจมตีฐานทัพของ KNU ครั้งล่าสุดก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมกองทัพพม่าจึงสามารถส่งเครื่องบินโจมตีภาคพื้นดินประชิดชายแดนไทยได้? เป็นไปได้หรือไม่ที่กองทัพไทย (หรือรัฐบาลไทย) จะโอเคกับการปล่อยให้กองทัพเมียนมาทำแบบนี้ อย่างที่กล่าวไปว่ากองทัพ/รัฐบาลไทย ประเดี๋ยวก็ดีกับทหารเมียนมา ประเดี๋ยวก็พิพาทกัน หลายครั้งเกือบจะเป็นสงครามระหว่างกันด้วยซ้ำ

แต่มันมักมีตัวเชื่อมประสานให้คบหากันได้อีกครั้ง เช่น เมื่อปี 2545 กองทัพเมียนมารบกับชนกลุ่มน้อยที่ชายแดนภาคเหนือ (รบกับกองทัพรัฐชานใต้ หรือ SSA-S) มีระเบิดตกข้ามมาที่ฝั่งไทย พล.ท.วัธนชัย ฉายเหมือนวงศ์ แม่ทัพภาค 3 ในเวลานั้นสั่งยิงตอบโต้ และในคราวนั้นไทยยังส่งเครื่องบินรบไปโฉบขู่ด้วย

นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือทักษิณ ชินวัตร (ซึ่งค่อนข้างมีสัมพันธ์ที่ดีกับทหารเมียนมา) ไม่พอใจกองทัพถึงกับมีปฏิกิริยาด้วยการโพล่งอมตะวาจาว่า "อย่าโอเวอร์รีแอ๊ค" หลังจากนั้นทักษิณก็ทำการโยกย้ายตำแหน่งสำคัญในกองทัพและบินไปย่างกุ้งด้วยตนเองเพื่อคุยเรื่องการลงทุน ผลก็คือไทยกลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในเมียนมา

แต่กรณี "อย่าโอเวอร์รีแอ๊ค" เป็นมากกว่าการกระทบกระทั่งระหว่างกองทัพไทย-เมียนมา มันนำไปสู่ไคลแม็กซ์ทางการเมืองในไทยในเวลาต่อมาซึ่งเราจะไม่เอ่ยถึงในที่นี้เพราะเกินขอบเขตของบทความ

สิ่งที่ต้องจับตาคือรัฐบาลนี้และกองทัพยุคนี้จะแสดงอาการ "อย่าโอเวอร์รีแอ๊ค" กับกองทัพเมียนมาหรือไม่ถ้าอีกฝ่ายเกิดล้ำเข้ามาจริงๆ

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ไทยต้องรับมือผู้อพยพเมียนมา

"ไทยแก้ปัญหานี้แบบไทยๆ"

เนื่องจากไทยไม่ได้เขาร่วมในอนุสัญญาผู้ลี้ภัย ไทยจึงมักถูกวิจารณ์อยู่เนืองๆ เรื่องการรับมือผู้อพยพอย่างไม่ค่อยจะเป็นสากลนัก (หมายความว่าไม่ตรงใจกับนักสิทธิมนุษยชนตะวันตก) แต่ไทยก็มีปัญหาของไทยเอง และการช่วยเหลือผู้อพยพจะให้ไทยแบกรับแต่ผู้เดียวไม่ได้ นานาประเทศก็ทราบเรื่องนี้ดี

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1998 ตอนที่มีการโจมตีชายแดนไทยอย่างต่อเนื่อง รัฐสภาสหราชอาณาจักรได้มีการอภิปรายเรื่องนี้ เช่น ความเห็นของเชอร์ลีย์ วิลเลียม (Baroness Williams of Crosby) นักการเมืองฝ่ายเสรีนิยมในสภาขุนนางกล่าวว่า "ประเทศไทยนำโดยนายกรัฐมนตรีนายชวน หลีกภัย ซึ่งหลายคนกล่าวว่าเป็นคนที่มีเหตุผลเหมาะสมและมีใจกว้าง แต่เขาต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งที่ประเทศใดๆ ต้องเผชิญ ... ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากตะวันตกเป็นอย่างมาก"

คำกล่าวของบารอนเนสวิลเลียมแสดงถึงความเข้าอกเข้าใจสถานการณ์ของประเทศไทยในเวลานั้นจริงๆ รัฐบาลชวน หลีกภัย ต้องเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจหลังวิกฤตการเงินเอเชียด้วยและรัฐบาลชวนเองก็มีท่าทีช่วยเหลือประชาชนเมียนมาด้วย ดังนั้นโลกตะวันตกควรจะช่วยแบ่งเบาภาระของประเทศไทย

สถานการณ์เมื่อปี 1998 ไม่เหมือนแต่คล้ายกับปี 2021 เมียนมากำลังจะมีผู้อพยพเป็นจำนวนมากหนีเข้ามา และเศรษฐกิจไทยก็ไม่สู้ดีนัก จะเป็นการดีหากประเทศตะวันตกที่ห่วงใยเมียนมาควรจะแบ่งความสนใจเรื่องการคว่ำบาตรทหารเมียนมามาช่วยประชาชนผู้อพยพในไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายของบารอนเนสวิลเลียมยังสะท้อนถึงวิธีการที่ชาติตะวันตกจะเข้ามาช่วยผู้อพยพเมียนมาผ่านทางไทย ผู้อภิปรายชี้ว่า

"ในสถานการณ์เช่นนี้ ดิฉันไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องไม่สมเหตุผลที่จะแจ้งให้ประเทศไทยทราบถึงความกังวลของเราเกี่ยวกับความจริงที่ว่าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติไม่ได้อยู่ในค่ายตามแนวชายแดน การจะแสร้งว่าเราไม่มีอิทธิพลต่อประเทศไทย ไม่มีการเข้าถึง หรือไม่มีเสียงที่นั่น เรื่องนี้ไม่ใช่จะแสร้งกันง่ายๆ เรามีทั้งหมดนั่น ขอย้ำว่าคนไทยสมควรได้รับเครดิตในระดับหนึ่งแม้ว่าจะไม่ค่อยน่าพอใจนัก แต่พวกเขาก็ยอมรับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาหลายพันคน ดิฉันขอให้ท่านนึกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรหากผู้ลี้ภัยผิดกฎหมาย 116,000 คนมาตั้งค่ายตามชายฝั่งเคนทิชละเราจะพูดกันยังไงเกี่ยวกับเรื่องแบบนั้น ดิฉันสงสัยว่าเราจะส่งพวกเขากลับไปฝรั่งเศสหรือที่ไหนก็ตามที่พวกเขาเดินทางมาภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง 48 ชั่วโมง ดังนั้นเราจึงไม่สามารถตำหนิคนไทยได้"

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ไทยต้องรับมือผู้อพยพเมียนมา

บารอนเนสวิลเลียมพยายามโน้มน้าวให้สภาเข้าใจว่าควรจะใช้อิทธิพลของอังกฤษในเรื่องที่ให้ทางการไทยอนุญาตให้ UNHCR ไปทำงานที่ชายแดน และกล่าวว่า "ดิฉันเชื่อว่าเราสามารถใช้จุดยืนดังกล่าวเพื่อขอร้องไม่ให้ประเทศไทยย้ายผู้ลี้ภัยออกไป และเพื่อระบุว่าเราจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินหากประเทศไทยตัดสินใจเช่นนั้น"

นี่คือท่าทีของชาติตะวันตกในทศวรรษที่ 90 ซึ่งในเวลานี้ยังไม่มีการอภิปรายแบบนี้เกี่ยวกับไทย แต่ถ้ามีขึ้นมาประเทศไทยก็คงจะไม่ยอมรับเงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนเช่นนี้ การให้ต่างชาติแผ่อิทธิพลเข้ามาก็เป็นเรื่องหมิ่นเหม่อยู่แล้ว การจะอนุญาตให้พวกเขาไปถึงชายแดนยิ่งเป็นเรื่องเปราะบางอย่างมาก

อีกอย่างหนึ่งก็คือไทยมีวิธีการจัดการผู้อพยพที่ถูกต่างชาติตำหนิมาโดยตลอดนั่นคือการทำ refoulement หรือการส่งคืนผู้ลี้ภัยกลับไปต้นทางทั้งๆ ที่เสี่ยงต่อชีวิตของพวกเขา ไทยจึงทั้งได้รับความเห็นใจเรื่องการแบกรับผู้อพยพและถูกตำหนิไปพร้อมๆ กัน เช่นที่ เอิร์ลแห่งแซนด์วิช (The Earl of Sandwich) อภิปรายในสภาขุนนางแห่งสหราชอาณาจักรในปี 1998 ว่า

"ประเทศไทยแม้จะมีปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ก็สามารถรองรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพจากภูมิภาคนั้นมาหลายปีแล้วซึ่งต้องยอมรับในเรื่องนี้ แต่พวกเขาไม่สามารถคาดหวังความเห็นอกเห็นใจได้ ในเมื่อพวกเขาสมรู้ร่วมคิดกับรัฐบาลเพื่อนบ้านและทำการส่งพลเรือนที่ปราศจากอาวุธกลับไปยังประเทศต้นทางของตน"

จากคำพูดนี้เราสามารถแปลใจความได้ว่า "เรารู้นะว่าไทยต้องลำบากในการแบกรับผู้อพยพ แต่เพราะไทยมักส่งผู้อพยพกลับต้นทาง ดังนั้นอย่าได้หวังความเห็นใจจากเรา แม้ว่าไทยจะลำบากทั้งการแบกรับคนเข้ามาและปัญหาเศรษฐกิจภายใน"

นี่คือเรื่องเมื่อ 23 ปีก่อน ไม่ว่าคราวนี้ไทยจะตกอยู่ในสภาพเดียวกันหรือไม่?

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Handout / FACEBOOK / AFP