posttoday

เพราะเมียนมาไม่มีน้ำมัน อเมริกันจึงไม่มา?

17 มีนาคม 2564

เมื่อสหรัฐเปลี่ยนนโยบายใหม่ การแทรกแซงเมียนมาจึงไม่เกิดขึ้น - การเยือนเอเชียครั้งแรกของ รมว.ต่างประเทศสหรัฐยังพุ่งประเด็นไปที่จีนซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานาน แทบจะไม่แตะปัญหาการเมืองในเมียนมา

เป็นเรื่องโจ๊กที่บอกกันในหมู่คนเมียนมาว่าที่สหรัฐไม่ยกทัพมาช่วยชาวเมียนมาสักที ก็เพราะเมียนมาไม่มีน้ำมัน

เป็นความจริงที่มีชาวเมียนมาจำนวนหนึ่งไปชูป้ายเรียกร้องให้กองทัพสหรัฐเข้ามาช่วยพวกเขารบกับกองทัพที่ทำการยึดอำนาจและเข่นฆ่าประชาชนที่ต่อต้าน คงเป็นความรู้สึกสิ้นหวังกับการไม่รู้จะไปพึ่งใคร พวกเขาจึงเรียกร้องให้ต่างชาติส่งกำลังฒากแทรกแซง

แน่นอนว่ามันเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่เพราะเมียนมาไม่มีน้ำมัน แต่เพราะเมียนมา "ไม่สำคัญมากนัก" ในสายตารัฐบาลสหรัฐ

ในช่วงสัปดาห์นี้รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แอนโทนี บลิงเคน และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ลอยด์ ออสติน ประเดิมภาระกิจเยือนต่างประเทศครั้งแรกในฐานะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ด้วยทริปเยือนพันธมิตรในเอเชียที่อยู่ติดกับจีนนั่นคือ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

หัวข้อหารือใหญ่ระหว่างหารือกับโทชิมิสึ โมเทงิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น และโนบุโอะ คิชิ รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น หนีไม่พ้นประเด็นเกี่ยวกับจีน ที่สหรัฐระบุว่าเป็นบททดสอบทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21 และยังเป็นความท้าทายทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร และเทคโนโลยีกับทั้งสหรัฐและญี่ปุ่น

แถลงการณ์ร่วมหลังการหารือระบุว่า ความกังวลหลักของสหรัฐและญี่ปุ่นคือ กฎหมายยามฝั่งของจีนที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา เนื่องจากให้อำนาจเรือตรวจการณ์ชายฝั่งจีนยิงเรืออื่นที่บุกรุกพื้นที่ของจีนในทะเลจีนตะวันออก

เหตุที่ญี่ปุ่นห่วงเรื่องนี้มากเพราะจีนกับญี่ปุ่นมีกรณีพิพาทเหนือเกาะเซนกากุ หรือเกาะเตี้ยวหยูในภาษาจีน ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ของญี่ปุ่น แต่จีนอ้างสิทธิ์และมักจะส่งเรือไปป้วนเปี้ยนในบริเวณเกาะนี้

สหรัฐและญี่ปุ่นยังย้ำชัดเจนในแถลงการณ์ร่วมว่า เกาะเซนกากุอยู่ภายในขอบเขตของสนธิสัญญาทวิภาคีด้านความมั่นคงข้อ 5 นั่นหมายความว่า สหรัฐจะเข้ามาปกป้องญี่ปุ่นในกรณีที่เกิดความขัดแย้ง รวมทั้งยังคัดค้านการอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่และการกระทำการใดๆ ในทะเลจีนใต้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของจีน

นับเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นที่แถลงการณ์ร่วมของทั้งสองประเทศหมายหัวจีน ซึ่งเป็นสัญญาณว่าทั้งสหรัฐและญี่ปุ่นได้ยกระดับการเฝ้าระวังภัยคุกคามจากจีนทั้งในแง่การทหารและเศรษฐกิจแล้ว

บลิงเคนยังกล่าวหาว่าจีนใช้กำลังบีบบังคับและรุกราน ฮ่องกง ไต้หวัน และเขตปกครองตนเองซินเจียง รวมทั้งกระตุ้นเตือนให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามพันธสัญญามติที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และยืนยันว่าเกาหลีเหนือต้องปลดอาวุธนิวเคลียร์ โดยขณะนี้สหรัฐกำลังปรึกษากับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เพื่อทบทวนนโยบายที่จะปฏิบัติกับเกาหลีเหนือ

ขณะที่ประเด็นที่ประชาคมโลกรอคอยท่าทีของสหรัฐก็คือ สถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมา กลับถูกพูดถึงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

บลิงเคนเพียงกล่าวว่า “ในเมียนมา กองทัพพยายามล้มล้างผลการเลือกตั้ง และใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสงบอย่างไร้ความปรานี”

น่าสนใจว่าทำไมสหรัฐถึงไม่สนใจเมียนมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีเสียงเรียกร้องให้สหรัฐส่งกองทัพเข้ามาช่วย จนชาวเมียนมาถึงกับมีโจ๊กว่า สหรัฐจะไม่เข้ามาแทรกแซงในเมียนมาเหมือนกับที่ทำกับตะวันออกกลางหรอก เพราะเมียนมาไม่มีน้ำมันเหมือนตะวันออกกลาง

อันที่จริงเมียนมามีทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นที่ต้องการของไทยและจีน แต่มันไม่ได้มากมายมหาศาลขนาดที่มหาอำนาจะจ้องตาเป็นมันเพราะปริมาณน้ำมันสำรองมีอยู่ 5 หมื่นล้านบาร์เรล อยู่ในอันดับที่ 76 ของโลกซึ่งน้อยกว่าประเทศไทยเสียอีก (ไทยอยู่ในอันดับที่ 50 ของโลก) 

ที่เมียนมามีและไทยกับจีนมากว่าคือก๊าซธรรมชาติที่มากถึง 23 ล้านล้านคิวบิกฟุต (อันดับที่ 39 ของโลก) มีหยกและไม้หายากที่จีนต้องการ แต่แทบไม่มีอะไรที่อเมริกันต้องการ

ที่สำคัญในยุคนี้นโยบายของสหรัฐเปลี่ยนไปแล้ว จากที่เคยแสวงหาน้ำมันก็หันมาให้ความสนใจกับ Renewal Energy หรือพลังงานหมุนเวียนแทน บริษัทน้ำมันใหญ่ของโลก ม้แต่ซาอุดีอาระเบียก็หันมาลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพราะในอนาคตประเทศต่างๆ จะถูกบีบให้ใช้พลังงานประเภทนี้มากขึ้น เนื่องจากภัยของภาวะโลกร้อน

ทันทีที่รับตำแหน่ง ไบเดนยังลงนามในคำสั่งพิเศษกลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สั่งยกเลิกโครงการท่อส่งน้ำมัน Keystone XL ลดการพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอะแลสกา ไปจนถึงการตั้งเป้าให้สหรัฐเป็นประเทศเศรษฐกิจพลังงานสะอาดแบบ 100% ภายในปี 2050 และตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงานภายในปี 2035

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการส่งสัญญาณว่าไบเดนให้ความสนใจกับพลังงานสะอาด ไม่สนใจน้ำมันเหมือนรัฐบาลก่อนๆ แล้ว และยังเป็นการเฉลยว่าทำไมไบเดนไม่สนใจตะวันออกกลาง เพียงแค่จัดการโจมตีกลุ่มติดอาวุธในซีเรียเพื่อตอบโต้ที่ฐานทัพของสหรัฐในอิรักถูกโจมตีก่อนเท่านั้น ส่วนซีเรียนั้นทรัมป์ได้ถอนทหารออกไปแล้ว แต่ได้คงทหารไว้จำนวนหนึ่งพอที่จะคุ้มกันแหล่งน้ำมันเอาไว้ ไบเดนไม่จำเป็นต้องทำอะไรมากนักตราบใดที่แหล่งน้ำมันมั่นคงพอ

ในกรณีซีเรียนั้นเราสามารถบอกได้ว่า "มีน้ำมันที่ไหน อเมริกันไปที่นั่น" ประธานาธิบบาชาร์ อัลอัสซาดแห่งซีเรียเองยังบอกกับปากว่า "มันเกี่ยวกับเงินและมันเกี่ยวกับน้ำมัน .... แน่นอนว่าเราโกรธ ชาวซีเรียทุกคนก็โกรธ นี่คือการปล้น”

แต่ต่อให้ไบเดนไม่ชูนโยบายลดใช้น้ำมันและยังเอี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำมัน (อย่างเช่น อดีตประธานาธิบดีบุช) เขาก็ไม่จำเป็นจะต้องสนใจประเทศที่มีน้ำมันเสมอไป เช่น การแทรกแซงในอัฟกานิสถานซึ่งก็ไม่ได้มีน้ำมันมากมายนัก

และต่อให้เมียนมามีน้ำมันมากมาย ไบเดนก็ต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะไปยุ่งกับกรณีเมียนมาดีหรือไม่? 

ความจำเป็นเร่งด่วนของไบเดนคือภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งแน่นอนว่าเมียนมาอยู่ในพื้นที่นั้นด้วย แต่ถึงจะบอกแบบเหวี่ยงแหไปทั้งภูมิภาคแต่เป้าหมายแท้จริงคือจีนเท่านั้น อีกทั้งสถานการณ์เมียนมายังเกิดแบบปัจจุบันทันด่วนหลังจากเขารับตำแหน่งได้เดือนเดียวโดยที่ก่อนหน้าไม่ได้สนใจเมียนมาเลย

เมียนมาอาจจะเป็นหมากสำคัญในการยื้ออำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐ เพราะจีนหวังจะใช้เมียนมาเป็นทางออกอ่าวเบงกอลเพื่อกุมยุทธศาสตร์ในมหาสุมทรอินเดียและยังต้องการก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาด้วย ว่ากันตาเนื้อผ้าแล้วสหรัฐควรจะกำหนดยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเมียนมาจริงจังกว่านี้

แต่เราจะเห็นว่าบลิงเคนพูดถึงเมียนมาประโยคเดียว แต่พูดถึงจีนยาวเหยียด เป็นการพูดถึงจีนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์เอเชียตะวันออกเท่านั้นด้วย นัยว่าเพื่อช่วยพันธมิตรแถบนั้นที่ถูกจีน "คุกคาม" ก่อน เช่น ไต้หวันและญี่ปุ่น

บลิงเคนไม่จำเป็นจะต้องสนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากนัก มันสำคัญ แต่ไม่เฉพาะหน้า อีกทั้งเงื่อนไขในเมียนมายังเป็นคุณกับสหรัฐมากกว่า 

นั่นเป็นเพราะสถานการณ์ตอนนี้ไม่เป็นประโยชน์กับจีนเลยทั้งขึ้นทั้งล่อง ฝ่ายประชาชนก็โกรธแค้นที่กับความเข้าใจว่าจีนหนุนหลังรัฐประหาร ฝ่ายรัฐประหารก็แสดงอาการอยากจะสลัดจากข้อกล่าวหานี้ ในเมียนมาตอนนี้ไม่มีใครที่อยากจะให้จีนเข้ามายุ่งเกี่ยวเลย เราจึงเห็นโรงงานของจีนถูกวางเพลิงเผามากมาย ตามด้วยข่าวที่สับสนว่าทหารเผาบ้างม็อบเผาบ้าง นี่คอืผลของการทำให้สถานการณืไม่เป็นคุณกับจีน

จีนจึงโวยวายว่ามี "ศัตรู" อยู่เบื้องหลังทำให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์จีนในเมียนมา คำถามก็คือ ศัตรูคือใคร? 

ดังนั้นไม่ใช่เพราะเมียนมาไม่มีน้ำมัน อเมริกันจึงไม่มา แต่เพราะยุทธศาสตร์หลักของอเมริกันคือการจัดการกับจีน หากสหรัฐพอจะแน่ใจได้ว่าสถานการณ์ในเมียนมาไม่เป็นประโยชน์กับจีน ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่พวกเขาต้องสนใจเมียนมาจริงๆ

เพียงแค่บอกเป็นห่วงเป็นใยเป็นครั้งเป็นคราวไป

โดยกรกิจ ดิษฐาน และจารุณี นาคสกุล

Photo by STR / AFP