posttoday

พระราชทรัพย์ควีนค่าควรเมือง เป็นของชาติหรือส่วนพระองค์?

10 มีนาคม 2564

แฟนซีรีส์ The Crown คงได้เห็นฉากที่ตัวละครในเรื่องที่รับบทสมาชิกราชวงศ์วินด์เซอร์ก้าวย่างไปตามโถงของพระราชวังบักกิงแฮมที่เต็มไปด้วยภาพวาดตระการตาแขวนอยู่บนผนังมาบ้างแล้ว แต่ขอบอกว่าที่เห็นในซีรีส์เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

อันที่จริงงานศิลปะของสะสมของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 หรือ Royal Collection มีมากกว่าภาพวาด และที่สำคัญคือ งานสะสมเหล่านี้เป็นหนึ่งในคอลเลคชั่นที่ครอบครองโดยเอกชนที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในโลก ซึ่งมีมูลค่านับหมื่นล้านปอนด์

เนื่องจากพระราชทรัพย์ส่วนนี้จะทรงขายออกไม่ได้ ผู้คนจึงมักเรียกกัน (แบบผิดๆ) ว่าเป็นสมบัติของชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว Royal Collection เป็นของสมเด็จพระราชานีและองค์พระประมุขของชาติเท่านั้น ทรงขายออกไม่ได้ก็จริงแต่การที่จะทรงมีพระบรมราชานุญาตให้นำออกแสดงให้ประชาชนได้ชม ขึ้นอยู่กับพระมหากรุณาธิคุณเป็นหลัก

ดังเช่นเมื่อครั้งที่ทรงมีพระบรมราโชบายให้เปิด Royal Collection ให้ประชาชนทั่วไปได้ชมเมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 นั้นมีผู้คำนวณว่าพระราชทรัพย์อันหาค่ามิได้ที่ประชาชนมีโอกาสได้ยลมีแค่ 0.1% ของพระราชทรัพย์ทั้งหมดในคอลเลกชั่นเท่านั้น

ประเด็นปัญหาของ Royal Collection คือความที่มั่นเป็นคอลเลกชั่นงานศิลป์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ประชาชนมีโอกาสได้ชมมันน้อยถึงน้อยมากจากจำนวนเต็ม ฝ่ายราชาธิปไตยนิยมให้เหตุผลว่าก็เพราะเป็นทรัพย์ส่วนพระองค์ จะได้ชมหรือไม่ได้ชมนั้นคืออยู่กับ "เจ้าของ"

ส่วนพวกสาธารณรัฐนิยมอ้างว่าราชวงศ์ดูแลคอลเลกชั่นนี้ไม่ดีเท่าที่ควร เช่น อ้างว่าไม่มีการทำบัญชีที่เหมาะสม มีพวกอภิสิทธิชนไม่กี่คนที่ได้ชม และควรที่จะให้รัฐบาลไปดูแลเสีย และที่สำคัญพวกไม่นิยมเจ้านายยังอ้างว่า "พระราชินีไม่ได้เป็นเจ้าของในฐานะเอกชน แต่เป็นพวกเรา (ประชาชน)"

แต่ฝ่ายนิยมเจ้านายบอกว่าการอ้างแบบนั้น "ผิด" เช่นคำอธิบายของโจ เอลเดร็น (Joe Eldren) สมาชิกของสันนิบาตราชาธิปไตยบริติช (The British Monarchist League) บอกว่า

"จริงๆเหรอ? 'เรา' จ่ายให้งั้นเหรอ? ไม่ 'พวกเรา' ไม่ได้จ่าย - เงินถูกใช้ไปโดยพระมหากษัตริย์จากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินจากรัฐที่ผ่านการโหวตแล้วสำหรับการธำรงรักษาของราชวงศ์ แน่นอนว่าพวกรีพับลิกันจะโต้แย้งทันทีว่าในฐานะผู้เสียภาษีพวกเขาเป็นแหล่งเงินทุนและในที่สุด 'ความเป็นเจ้าของ' ก็อยู่กับพวกเขา ก่อนอื่น นี่เป็นความจริงที่ไม่ถูกต้อง - พระมหากษัตริย์ผู้ได้มาซึ่งพระราชทรัพย์นั้นอาจใช้ทรัพย์ส่วนพระองค์ ประการที่สองการโต้แย้งว่าแหล่งเงินทุนเดิมนั้นเป็นเจ้าของ (หมายถึงเจ้าของภาษี) เป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ตัวอย่างเช่นสมมติว่าวันหนึ่งนายจ้างของคุณมาหาคุณและพูดว่า 'เฮ้ บ้านหลังนั้น รถคันนั้น เครื่องเสียงดีๆ ทั้งหมดเป็นของฉันเพราะฉันจ่ายค่าจ้างให้คุณ!' " นี่มันเรื่องไร้สาระอย่างชัดเจน เมื่อส่งมอบเงินแล้วก็ขึ้นอยู่กับผู้รับว่าจะใช้จ่ายหรือลงทุนอย่างไร การที่พระมหากษัตริย์ใช้จ่ายเงินส่วนพระองค์เพื่อปรับปรุงคอลเลกชันเพื่อประโยชน์ของชาติโดยรวมเป็นสิ่งที่ควรยกย่องไม่พึงถูกประณามด้วยความไม่รู้ หรือด้วยความคิดอันชั่วร้าย"

หากพิจารณาตามข้ออ้างนี้สามารถถอดนัยออกมาได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษทำหน้าที่ปกครอง (หน้าที่โบราณ) และทรงเป็นประมุข (หน้าที่ปัจจุบัน) เงินภาษีที่ประชาชนจ่ายให้กับสถาบันก็เพื่อให้ทรงทำหน้าที่พิทักษ์ประเทศชาติและปกป้องประชาชน อันเป็นหน้าที่ของนักรบแต่โบราณ เมื่อระบอบการปกครองเปลี่ยนไปสถาบันไม่ใช่ผู้รับภาษีโดยตรง แต่เป็นรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน รัฐบาลนั้นได้ทำการโหวตเพื่อถวายเงินภาษีเป็นงบประมาณในการธำรงพระราชวงศ์เพื่อให้ทรงทำหน้าที่ประมุขต่อไป

อนึ่ง ราชวงศ์อังกฤษถูกเรียกว่า "สถาบัน" (the institution) คล้ายกับประเทศไทย แต่มีความหมายว่าเป็นองค์กรหนึ่งที่ประกอบด้วยผู้คนมากมายที่เกี่ยวข้องกับระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญโดยสมเด็จพระราชินีทรงเป็นตำแหน่งสูงสุดในสถาบันนี้ ดังนั้นสถาบันไม่ใช่องค์กษัตริย์เท่านั้น แต่องค์กษัตริย์ทรงเป็นส่วนหนึ่งที่สูงสุดของสถาบัน

กลับมาที่ประเด็นถกเถียงเรื่องใครเป็นเจ้าของ Royal Collection อีกครั้ง มีผู้เถียงว่าคอลเลกชั่นนี้ไม่ควรถือเป็นของสถาบันเพราะพระราชทรัพย์เคยถูกระบอบสาธารณรัฐสมัยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์นำออกขายไปแล้วรอบหนึ่งหลังสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 และเมื่อรื้อฟื้นระบอบกษัตริบ์ขึ้นมาใหม่ (Restoration) สมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ทรงรวบรวมคอลเลกชั่นขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ในแง่นี้บางคนอาจจะอ้างว่าควรถือเป็นเงินแผ่นดินที่ซื้อมาไม่ใช่เงินส่วนพระองค์

ประเด็นนี้ถูกแจ้งไว้ใน "บันทึกช่วยจำว่าข้อตกลงเรื่องภาษีสถาบันพระมหากษัตริย์" ที่ระบุไว้ในมาตราที่ 1.9 (ส่วนภาษีมรดก) ดังนี้ "ทรัพย์สินบางส่วนถือโดยสมเด็จพระราชินีในฐานะองค์อธิปัตย์แทนที่จะเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ทรัพย์เหล่านี้ไม่อาจนำออกขายเพื่อจัดหารายได้หรือทุนสำหรับการใช้งานส่วนพระองค์ของของสมเด็จพระราชินีและให้สืบทอดจากอธิปัตย์หนึ่งไปยังองค์ถัดไป ที่ประทับอย่างเป็นทางการ, หอจดหมายเหตุ, รอยัลคอลเลคชัน ภาพวาดและงานศิลปะอื่นๆ และทรัพย์สินอื่นๆ ที่สมเด็จพระราชินีถือครองอยู่ในฐานะส่วนสถาบันพระมหากษัตริย์ (the Crown) ตกอยู่ในหมวดหมู่นี้ เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่จะต้องจ่ายภาษีมรดกในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินดังนี้"

ข้อมูลเหล่านี้น่าจะให้ความกระจ่างให้พอสมควร

แต่เพราะสถานะอันยิ่งใหญ่และเกี่ยวพันกับประเทศชาติทำให้การพูดถึงสถาบันฯ และพระราชทรัพย์มีความซับซ้อนตามไปด้วย แม้แต่เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระสวามีของสมเด็จพระราชินีก็ยังทรงเข้าพระทัยผิดไปจากตัวบทกฎหมาย โดยในการให้สัมภาษณ์ทางทีวีในปี 2000 ซึ่งพูดถึงผลงานชิ้นเอกของ Royal Collection ดยุคตรัสว่าสมเด็จพระราชินี "ในทางเทคนิคแล้วทรงมีเสรีภาพในการขาย"

ดังนั้นการพูดถึงเรื่องแบบนี้จึงต้องพูดด้วยความระมัดระวังและอิงกับตัวบทกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลหรือสาธารณชน

ว่ากันด้วยรายละเอียดของคอลเลกชั่นส่วนพระองค์ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธเป็นเจ้าของงานศิลปะรวมแล้วนับล้านชิ้น แบ่งเป็นงานจิตรกรรม 7,000 ชิ้น จิตรกรรมสีน้ำ 30,000 ชิ้น จิตรกรรมลายเส้น 500,000 ชิ้น ภาพถ่าย 450,000 ชิ้น รวมถึงมงกุฎเพชรซึ่งเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องดนตรี เซรามิก เฟอร์นิเจอร์ พรม รถยนต์วินเทจ นาฬิกา

ที่น่าสนใจคือ งานศิลป์ชิ้นมาสเตอร์พีซของศิลปินดัง อาทิ ของแรมบรันต์อย่างน้อย 6 ชิ้น ของคานาเล็ตโตกว่า 50 ชิ้น ของลีโอนาร์โด ดาวินชีนับร้อยชิ้น ของเปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์ หลายชิ้น และของมิเกลันเจโลอีกกว่า 20 ชิ้น

งานศิลป์ในครอบครองของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธในปัจจุบันนี้ เริ่มต้นสะสมโดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษในสมัยศตวรรษที่ 17 ก่อนจะสวรรคตในปี 1649 พระองค์ได้รวบรวมงานศิลป์ชิ้นโด่งดังที่น่าตื่นตาที่สุดเท่าที่กษัตริย์องค์ไหนๆ เคยสะสมมา อาทิ ผลงานของมิเกลันเจโล, การาวัจโจ, ดาวินชี และฮอลไบน์

อย่างไรก็ดี หลังจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ถูกสำเร็จโทษ งานศิลป์ส่วนใหญ่ถูกขายออกไปและบางส่วนไปจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ปราโดในกรุงมาดริดของสเปน ทว่าหลังจากนั้นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ทรงซื้อกลับคืนและเริ่มสะสมเข้าคอลเลคชั่นงานศิลปะสะสมของราชวงศ์อังกฤษเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากจะเป็นทรัพย์สมบัติตกทอดกันมาแล้ว สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ยังทรงยกงานศิลป์ส่วนตัวของพระองค์ให้กับคอลเลคชั่นของราชวงศ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชิ้นงานที่ทรงสะสมมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ โดยชิ้นงานที่ทรงยกให้ช่วงล่าสุดนี้เป็นผลงานของ แอนดี วอร์ฮอล และเซอร์ อนิช กาปูร์

งานสะสมเหล่านี้มีเยอะมากจนบางชิ้นหลงหูหลงตาไปและพบชิ้นใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น การพบภาพ “The Calling of Saint Peter and Andrew” ของการาวัจโจโดยบังเอิญที่ห้องเก็บของในพระราชวังแฮมตันคอร์ทในปี 2006 หรือราว 400 ปีหลังจากภาพดังกล่าวถูกวาดขึ้น

อย่างไรก็ดี ดังที่เกริ่นไว้ข้างต้น แม้ขณะนี้สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธทรงเป็นเจ้าของคอลเลคชั่นงานศิลป์ล่ำค่าเหล่านี้ แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ของพระองค์ในฐานะปัจเจกบุคคล แต่เป็นของชาติและของผู้ที่จะมาสืบทอดบัลลังก์ต่อ โดยมีทรัสต์ที่เรียกว่า Royal Collection Trust เป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินเหล่านี้

ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนหรือทำลายสมบัติทุกชิ้นที่อยู่ในทรัสต์

งานศิลป์ในคอลเลคชั่นทั้งหมดกระจายเก็บไว้ในสถานที่ต่างๆ เช่น พระราชวังแฮมป์ตันคอร์ท พระราชวังวินด์เซอร์ พระราชวังเคนซิงตัน ซึ่งเปิดให้ประชาชนเข้าชม รวมทั้งที่หอศิลป์สมเด็จพระราชินีภายในพระราชวังบักกิงแฮม ซึ่งสร้างขึ้นสำหรับจัดแสดงงานศิลป์ Royal Collection โดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ยังให้บรรดาพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกยืมไปจัดแสดงราว 3,000 ชิ้น และนำไปจัดแสดงในนิทรรศการต่างๆ เพื่อแบ่งปันให้ผู้คนทั่วโลกชื่นชม

ภาพหลัก  AFP PHOTO / ANP / Robin van Lonkhuijsen