posttoday

เชื้อสายกษัตริย์องค์สุดท้ายของเมียนมา ผู้ยืนเคียงข้างประชาชนต้านเผด็จการ

08 มีนาคม 2564

มหาจันทรกุมารโซ่วี่น พระราชปนัดดาของพระเจ้าสีป่อยังคงตามหาทับทิมประจำราชวงศ์ที่หายไปกว่าร้อยปี แต่ตอนนี้ทรงยืนเคียงข้างประชาชน

ระบอบกษัตริย์ของเมียนมาสูญสิ้นไปนานนับร้อยปีแล้ว พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายคือพระเจ้าสีป่อซึ่งทรงพ่ายแพ้แก่อังกฤษ จนถูกบังคับให้สละราชสมบัติและเนรเทศไปอยู่ที่เมืองรัตนคีรีใน "บริติชราช" หรือประเทศอินเดียปัจจุบัน ต้องทรงใช้ชีวิตทั้งชีวิตของพระองค์ที่นั่นตราบจนสวรรคต แม้จะสิ้นไปแล้วก็ยังไม่สามารถกลับมายังแผ่นดินที่พระองค์ปกครองได้ตราบจนทุกวันนี้

แต่พระมเหสีและพระราชธิดาสามารถกลับมายังเมียนมาได้และหนึ่งในนั้นคือ เจ้าหญิงเมียะพะยากะเล (Myat Phaya Galay) เป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในพระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยาลัต พระมหากษัตริย์และพระราชินีองค์สุดท้ายของพม่า พระองค์ได้รับสมญาจากสหราชอาณาจักรว่า "เจ้าหญิงกบฏ" เนื่องจากพระองค์ทรงเขียนแถลงการณ์ทวงคืนอาณาจักรของพระบิดารวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับประจำราชวงศ์หลังจากที่พม่าถูกผนวกเข้าเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร

ในปี 1932 รัฐบาลอังกฤษพยายามกำจัดพระองค์โดยเนรเทศพระองค์และครอบครัวไปยังเมืองมะละแหม่งภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร ก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ในอีกประมาณ 4 ปีต่อมาด้วยพระชนม์มายุ 48 พรรษาเท่านั้น

เจ้าหญิงเมียะพะยากะเลทรงมีโอรสพระนามว่าเจ้าชายต่อพะยาจี้ หรือ จอร์จ (George Taw Phaya Gyi) ซึ่งทรงถือเป็นผู้อ้างสิทธิ์เหนือราชบัลลังก์เมียนมาแม้ว่าเมียนมาจะไม่มีสถานบันกษัตริย์แล้วก็ตาม แต่ในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครองเมียนมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นมีความคิดที่จะตั้งเจ้าชายต่อพะยาจี้เป็นประมุขของประเทศและตั้งใจจะให้เป็นหุ่นเชิดที่ญี่ปุ่นปกครองอยู่เบื้องหลัง และได้นำตัวพระองค์ไปยังกรุงเทพฯ อยู่ช่วงหนึ่งเมื่อสงครามสิ้นสุดลงแล้วรัฐบาลไทยและอังกฤษได้ส่งตัวองค์ชายกลับมาเมียนมา

ก่อนที่จะทรงกลับจากกรุงเทพฯ ทรงลงพระนามใน "พระราชบัญญัติ" ในฐานะกษัตริย์องค์ที่ 12 แห่งราชวงศ์โก้นบองเพื่อนิรโทษกรรมชาวเมียนมาที่ถูกญี่ปุ่นคุมขังไว้ จึงอาจว่านับว่าทรงเป็นกษัตริย์ในช่วงสั้นๆ 

แต่เจ้าชายต่อพะยาจี้ไม่ได้เป็นกษัตริย์อีกต่อไปหลังสงคราม เมียนมากลับมาเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วอังกฤษจึงมอบเอกราชให้โดยไม่ได้ตั้งกษัตริย์ปกครองดังเดิมแต่ปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ องค์ชายจึงใช้ชีวิตเยี่ยงคนสามัญ แต่กลับทรงมีชีวิตที่แสนสั้น เพราะทรงถูกปลงกระชนม์โดยพวกคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1948 ที่เมืองตะโก้น ด้วยพระชนมายุเพียง 25 พรรษาเท่านั้น

เจ้าชายต่อพะยาจี้มีพระโอรสคือ มหาจันทรกุมารโซ่วี่น (Soe Win) ปัจจุบันมีพระชนมายุ 74 พรรษา พระองค์เป็นเจ้าชายและสมาชิกอาวุโสสูงสุดของราชวงศ์โก้นบอง 

พระองค์ทรงงานเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของเมียนมาในต่างประเทศ โดยในปี 1987 ถึง 1991 พระองค์ทรงร่วมงานราชการต่างประเทศพม่า (Burmese Foreign Service) โดยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการประจำวอชิงตัน ดี.ซี. คนแรก และทรงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต Extr & Plen ตั้งแต่ปี 1999 จนถึง 2009 ภายหลังเกษียณจึงมาเป็นโค้ชให้สมาคมฟุตบอลเมียนมา

นอกจากนี้ในปี 2017 พระองค์ทรงปรากฏเป็นตัวละครหลักใน "We Were Kings" สารคดีภาพยนตร์ประวัติศาสตร์เมียนมาของผู้สร้างอเล็กซ์ เบสโคบี และแม็กซ์ โจนส์

ที่สำคัญคือพระองค์ยังเป็นส่วนหนึ่งในการตามหา "หงามุก" (Nga Mauk) ทับทิมคู่บัลลังก์เมียนมาที่หายไปในสมัยพระเจ้าสีป่อ โดยพระองค์กำลังตรวจสอบเรื่องนี้ร่วมกับอเล็กซ์ เบสโคบี ผู้สร้างภาพยนตร์และนักประวัติศาสตร์

โดยเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2017 พระองค์เสด็จเยือนลอนดอนเพื่อตามหาทับทิมดังกล่าวที่ว่ากันว่าถูกขโมยไปจากราชวงศ์พม่าเมื่อ 130 ปีก่อนโดยพันเอกสลาเดน ผู้พันอังกฤษคนหนึ่ง

เวลาผ่านไปกว่า 100 ปีแล้ว รัชทายาทและชาวเมียนมารุ่นสู่รุ่นยังคงพยายามตามหาทับทิมคู่บัลลังก์เม็ดนั้นและหวังว่าจะสามารถนำกลับคืนสู่เมียนมาได้

แต่ดูเหมือนว่าภารกิจสำคัญของมหาจันทรกุมารโซ่วี่นในตอนนี้คือการยืนเคียงข้างพี่น้องประชาชนชาวเมียนมาที่ลุกฮือต่อต้านการทำรัฐประหารของกองทัพ 

พระองค์ทรงเฝ้าติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด เว็บไซต์ของฝรั่งเศสยังรายงานว่าภายหลังการเกิดรัฐประหารพระองค์ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเรียกร้องให้ประชาชนมีสติและความสามัคคี

และยังทรงโพสต์แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า "เราคือประชาชน ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ด้วยประชาชน ต้องไม่มีความรุนแรง ไม่มีความอ่อนแอ มีเพียงแต่ความกล้าหาญเท่านั้น"

องค์ชายและเชื้อพระวงศ์แห่งราชวงศ์ราชวงศ์โก้นบองมีเหตุผลที่จะต่อต้านเผด็จการทหาร เพราะแต่ไหนแต่ไรมาเผด็จการทหารของเมียนมามองลูกหลานของเชื้อพระวงศ์เป็นปมปัญหา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากกองทัพยึดอำนาจในปี 1962 กองทัพพยายามกีดกันสมาชิกราชวงศ์ไม่ให้สาธารณชนได้รับรู้หรือใกล้ชิดเพราะกังวลว่าการที่ประชาชนหวนคิดถึงราชวงศ์ อาจเป็นการคุกคามต่อการยึดอำนาจของกองทัพ

ความหวังหนึ่งของมหาจันทรกุมารโซ่วี่นก็คือการบูรณะพระราชวังหลวงที่เมืองมัณฑเเลย์ อดีตศูนย์กลางการปกครองประเทศในสมัยราชวงศ์โก้นบองซึ่งถูกอังกฤษทิ้งระเบิดทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันแม้จะมีการฟื้นฟูแล้วแต่เป็นเพียงพระราชมณเฑียรบางส่วน และพื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในความครอบครองของกองทัพ

เพราะความที่มันเป็นของกองทัพ นักท่องเที่ยวบางคนที่มีความตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชนรีวิวการท่องเที่ยวพระราชวังหลวงเอาไว้ว่า "ฉันได้ยินมาว่าพระราชวังควรจะน่าเบื่อเล็กน้อย แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น พื้นที่ทั้งหมดดำเนินการโดยกองทัพของเมียนมา คุณไม่อยากสนับสนุนระบอบการปกครองนั้นหรอก ยิ่งคุณอยู่ที่นั่นคุณยิ่งไม่อยากทำแบบนั้น จงให้เงินกับประชาชนไม่ใช่ให้พวกเขา!"

นี่คือความเห็นของนักท่องเที่ยวคนหนึ่งในเว็บไซต์ TripAdvisor ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร 1 ปี

องค์ชายเคยตรัสถึงพระราชวังหลวงไว้ก่อนที่เมียนมาจะเป็นประชาธิปไตยว่า "เรื่องใหญ่ก็คือเราไม่สามารถเดินไปไหนต่อไหนได้อย่างอิสระ" คำพูดของพระองค์อาจจะหมายถึงแค่พระราชวังที่มัณฑเลย์ แต่เมียนมาภายใต้การปกครองของทหารก็เป็นแบบนั้นทั้งประเทศ 

ตอนนี้เมียนมาสูญสิ้นประชาธิปไตยอีกครั้ง สิ่งองค์ชายคาดหวังยิ่งจะหลุดลอยไป 

Photo by Hteiktinhein/Wikipedia