posttoday

รัฐบาลช่วยทหารเมียนมา? อาการลับๆ ล่อๆ ที่จะทำให้ไทยลำบาก

25 กุมภาพันธ์ 2564

สถานะของรัฐบาลไทยตอนนี้ถึงแม้ว่าอยากจะช่วยชาวเมียนมาด้วยการคุยกับกองทัพเมียนมา แต่ทำแล้วมีผลเสียมากกว่าผลดีต่อไทยเอง

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ รัฐมนตรีต่างประเทศที่คณะรัฐประหารเมียนมาแต่งตั้งขึ้นมา คือ "วัณณะ มอง ลวิง" เดินทางมายังประเทศไทยด้วยจุดประสงค์ที่ไม่ได้ถูกเปิดเผยและเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกหลังการรัฐประหาร เรื่องนี้เปิดเผยผ่านแหล่งข่าวในรัฐบาลไทยให้กับสื่อต่างประเทศคือรอยเตอร์สั้นๆ เท่านั้น

หากได้ข้อมูลแค่นี้บางคนอาจจะคิดว่าทหารเมียนมาส่งตัวแทนมาหารืออะไรสักอย่างกับรัฐบาลไทย ทำให้คนเข้าใจผิดได้ง่ายๆ ว่ารัฐบาลไทยสนับสนุนการทำรัฐประหารในเมียนมา

แต่ในเวลาไม่นานนักมีความเคลื่อนไหวที่อินโดนีเซีย ก่อนหน้านี้มีข่าวว่ารัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย คือ "เรตโน มาร์ซูดี" จะเดินทางเยือนเมียนมา แต่จากรายงานเมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปรากฏว่ากระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียบอกว่ารัฐมนตรีจะไม่ไปเมียนมาแล้ว

"หลังจากคำนึงถึงการพัฒนาในปัจจุบันและข้อมูลของประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแล้วนี่ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสำหรับการเยือนเมียนมา" เตอูกู ไฟซาชาห์โฆษกกระทรวงการต่างประเทศชาวอินโดนีเซียกล่าวกับการบรรยายสรุปข่าว

ทางกระทรวงให้เหตุผลว่าเพราะ "มีสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่"

เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. มีรายงานข่าวว่ารัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาเดินทางมายังไทยเพื่อหารือและพยายามทำงานร่วมกับอาเซียนเพื่อหาทางแก้ไขผลพวงของการยึดอำนาจทางทหาร โดยเรื่องนี้แหล่งข่าวในรัฐบาลไทยกล่าวกับรอยเตอร์

ในเวลาประมาณ 16.30 น. ชัดเจนในที่สุดว่ารัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียเดินทางมาไทยแบบกะทันหันเพื่อหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา และหลังจากนั้นไม่นานก็มีรายงานข่าวว่านายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยืนยันกับผู้สื่อข่าวเรื่องนี้แต่ไม่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

ดูเผินๆ เหมือนปัญหาของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ไทย แต่อยู่ที่เมียนมากับอินโดนีเซีย

ความหมายของประโยคที่ว่า "มีสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่" ต้องย้อนกลับไปไม่กี่วันก่อน มีเอกสารหลุดมาจากฝั่งเมียนมาว่ารัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียจะเดินทางเยือนเมียนมา

ปรากฏว่าชาวเมียนมาแสดงความไม่พอใจอินโดนีเซียที่แสดงอาการเหมือนจะเอียงเข้าข้างทหาร จนมีการชุมนุมประท้วงที่ด้านนอกสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียในเมืองย่างกุ้ง โดยชาวเมียนมาคิดว่าอินโดนเซียพยายามเจรจากับกองทัพ

คนเมียนมาบอกไปถึงรัฐบาลอินโดนีเซียว่า "Please respect our votes and do hear our voices." (โปรดเคารพการเลือกตั้งของเรา และรับฟังเสียงของเรา)

นี่อาจเป็นสาเหตุที่รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียเลือกที่จะไม่บินไปเมียนมาเพราะจะต้องเจอกับแรงต้านแน่ๆ และเลือกที่จะใช้ไทยเป็นคนกลางในการคุยกับเมียนมา

แต่แหล่งข่าวในรัฐบาลไทยเผยกับเอเอฟพีว่า "การประชุมไตรภาคีระหว่างรัฐมนตรีอินโดนีเซีย ไทย และเมียนมาเสนอโดยฝ่ายไทย" แต่เอเอฟพีอ้างข้อเขียนคำตอบของนายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศว่า "We didn't plan on it but yes," (เราไม่ได้วางแผนเรื่องนี้ แต่ก็ใช่") ซึ่งเป็นการยืนยันว่ารัฐมนตรีเมียนมากับอินโดนีเซียพบกันจริงแต่ไทยไม่ได้วางแผน

ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมบอกว่าเป็นเรื่องที่ทางเมียนมาขอมาเยี่ยมคารวะ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าไปรับรองอะไรทั้งสิ้น ทางรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียก็ได้ขอเข้าพบทางรัฐมนตรีเมียนมาก่อนด้วย ในส่วนของเราเป็นเรื่องที่เมียนมามาขอคุยและขอเยี่ยมคารวะตน

ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียอธิบายเรื่องราวในเว็บไซต์ของกระทรวงว่า "ระหว่างการเดินทางไปกรุงเทพฯ ระยะสั้นดิฉันได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นทวิภาคี" ซึ่งเรื่องนี้ตรงกับข่าวของกรมสารนิเทศ เรตโน มาร์ซูดี ยังบอกว่า "ในการประชุมกับรัฐมนตรีดอน (ปรมัตถ์วินัย) เรายังได้หารือเกี่ยวกับพัฒนาการในเมียนมาร์รวมถึงการเตรียมการสำหรับการประชุมอาเซียนที่เสนอ"

เรตโน มาร์ซูดีบอกว่าที่จริงจะต้องเดินทางไปยังเนปยีดอเมืองหลวงของเมียนมาหลังจากมาเยือนไทยแต่ทริปนี้ถูกเลื่อนไป (เรื่องนี้ตรงกับการแถลงของกระทรวง) แต่มาร์ซูดีบอกว่า "ระหว่างที่ดิฉันพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย ดิฉันได้รับข้อมูลว่า อู  วัณณะ มอง ลวิง อยู่ในกรุงเทพฯ ด้วย ในที่สุดการประชุมกับ อู วัณณะ ก็ได้ดำเนินการที่สนามบินดอนเมืองซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยก็อยู่ที่นั่นด้วย"

เราจึงมีข้อมูลสองชุดในตอนนี้คือชุดที่บอกว่ารัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพกับที่บอกว่าเราไม่ได้วางแผนในเรื่องนี้ และจากปากคำของรัฐมนตรีอินโดนีเซียทุกอย่างเหมือน "เรื่องบังเอิญ"

อะไรจะบังเอิญได้ลงตัวขนาดนี้!

ปัญหาจึงตกอยู่ที่รัฐบาลไทยที่จะต้องทำให้ชัดเจนว่าทำไปทำไมและเพื่ออะไร เพราะในประเทศเรามีเสียงตำหนิว่าไทยต้อนรับรัฐมนตรีเมียนมาเท่ากับยอมรับการทำรัฐประหาร ซึ่งเสียงตำหนินี้ไม่ถูกต้องนักเพราะไทย "อาจจะ" ไม่ได้เป็นคู่หารือโดยตรง แต่น่าจะเป็นการเคลียร์กันระหว่างอินโดนีเซียกับเมียนมา

หลังการหารือนานแค่ 20 นาที รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียเคลียร์จุดยืนตัวเองเรียบร้อยว่า "ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชนเมียนมาจะต้องได้รับความเคารพ" ซึ่งการพูดแบบนี้เหมือนกับที่ประชาชนเมียนมาเรียกร้องให้อินโดนีเซียทำเพราะเข้าใจว่าอินโดนีเซียกำลังเหยียบย่ำหัวใจประชาชนเมียนมาและหันไปคบกับกองทัพ

รัฐมนตรีอินโดนีเซียยังบอกว่าจะหารืออย่างเข้มข้นกับทุกฝ่ายไม่ว่าจะฝ่ายกองทัพหรือฝ่ายต่อต้าน เพื่อที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในเมียนมา

อินโดนีเซียแสดงท่าทีแบบนี้ก็ชัดเจนขึ้นว่าไม่ได้เชียร์กองทัพและยังห่วงประชาชน แต่รัฐบาลไทยเองกลับยังถูกคนในประเทศโจมตีแบบเข้าใจผิดว่ากำลังยอมรับกองทัพเมียนมา ยิ่งหนักเข้าไปอีกเมื่อพล.อ. ประยุทธ์บอกว่ารัฐมนตรีเมียนมามาคารวะเท่านั้น ก็เท่ากับยอมรับฝ่ายนั้นนั่นเอง

บอกไปเลยว่าเป็นคนกลางหารือยังจะดูดีเสียกว่า 

เพราะสื่อของทางการเมียนมาคือ Global New Light of Myanmar บอกว่า "ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี พล. อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร์ อู วัณณะ มอง ลวิง เดินทางมาเยือนประเทศไทยโดยเที่ยวบินพิเศษเวลา 7.00 น. และเดินทางกลับเนปยีดอ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2020"

ดูท่าจะไม่บังเอิญเสียแล้ว

นี่คือปัญหาของรัฐบาลมาโดยตลอดนั่นคือความล้มเหลวในการประชาสัมพันธ์และชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ แต่ปรากฏว่าพลังของการชี้แจงของรัฐบาลยังอ่อนด้อยกว่าทฤษฎีสมคบคิดและข่าวปลอมแบบไม่เห็นฝุ่น

ข่าวจากกรมสารนิเทศของไทยมีแต่เรื่องอื่นเสียอย่างนั้นคือข่าว "รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกระชับความร่วมมือไทย-อินโดนีเซีย จากกลไกทวิภาคี และส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคโดยมีอาเซียนเป็นแกนกลางกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย"

พูดกันตามตรงแล้วนอกจากจะเป็นข่าวที่ไม่มีคนสนใจ มันยังทำให้คนยิ่งสงสัยว่ากระทรวงการต่างประเทศปกปิดอะไรหรือไม่? เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่ารัฐมนตรีอินโดนีเซียมาไทยเพื่ออะไร และยังไม่เอ่ยถึงฝ่ายเมียนมาด้วยซ้ำ

เรื่องนี้ไปตกที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยเต็มๆ เพราะนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาบอกเองว่าเป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ

แน่นอนว่ามันไม่ใช่ความผิดของใครและเป็นการเริ่มเริ่มที่ดีสมควรแก่ฐานะของอาเซียน เพียงแต่มันลึกลับซับซ้อนเกินไป หากคนเมียนมาเข้าใจผิดขึ้นมาไทยอาจจะลงเอยแบบอินโดนีเซียได้

ปรากฏว่ามันเป็นไปแล้ว จากการรายงานของ 7Day TV พบว่ามีชาวเมียนมาจำนวนหนึ่งไปชุมนุมประท้วงที่ด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทยในเมืองย่างกุ้ง บางคนถือแผ่นป้ายบอกว่า "เราไม่ยอมรับ วัณณะ มอง ลวิง" ซึ่งสะท้อนไปถึงรัฐบาลไทยว่าคนเมียนมาไม่เห็นด้วยที่ไทยต้อนรับคนที่กองทัพแต่งตั้งมา

ตอนนี้ยังมีการติดแฮชแท็ก #rejectASEANResolution (ไม่เอามติอาเซียน) ในหมู่ผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในเมียนมาเพราะเข้าใจว่าจีนอยู่เบื้องหลังผลักดันให้อาเซียนหาทางช่วยกองทัพเมียนมาให้คงในอำนาจ

ในแฮชแท็กนี้มีการเผยแพร่ข้อความในวงกว้างที่เรียกร้องให้ไทยและอาเซียนเคารพสิทธิของคนเมียนมาที่จะไม่เอาการเลือกตั้งใหม่ และพวกเขาเข้าใจว่าการประชุมไตรภาคีที่กรุงเทพฯ คือการสุมหัวเพื่อเปิดทางให้กองทัพจัดการเลือกตั้งใหม่

ข้อความที่แชร์กันส่วนหนึ่งบอกว่า "เรียนคนไทยที่รักและชาวเมียนมาร์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาซึ่งมาจากฝ่ายทหารและไม่ได้รับการเลือกตั้งจากพลเรือนจะเดินทางมากรุงเทพฯ ในวันนี้ (วันที่ 24 กุมภาพันธ์) เพื่อพบกับรัฐมนตรีอินโดนีเซียพร้อมกับรัฐมนตรีไทย แหล่งข่าวในพื้นที่ระบุว่าพวกเขากำลังจะมีการประชุมที่กรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งใหม่จากฝ่ายทหาร เราไม่ยอมรับสิ่งนั้น เราได้โหวตแล้วว่าเราต้องการใครและพวกเขาต้องเคารพการโหวตของเรา"

ข้อความนี้พร้อมแฮชแท็กไม่เอาอาเซียนที่มากกว่า 330,000 แฮชแท็ก (นับเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์)

นี่คือผลของการทำอะไรที่คลุมเครือในหมู่ประเทศอาเซียน ผลเสียที่หนักที่สุดคือการถูกเข้าใจว่าอาเซียนถูกจีนบงการ (ตอนนี้ยังมีการกระจายข่าวลือด้วยว่าจีนดันให้อินโดนีเซียมาคุยกับเมียนมา)

อาเซียนเองก็สงวนท่าทีจนเกินไปด้วยการไม่ยอมบอกให้กองทัพเมียนมาถอนตัวออกไปแต่บอกให้กองทัพต้องรักษาคำพูดด้วยการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเมียนมายอมรับไม่ได้ เพราะพวกเขาไม่คิดว่าการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่แล้วมีปัญหา

พวกเขาไม่ได้ต้องการการเลือกตั้งใหม่ แต่ต้องการให้อองซานซูจีเป็นผู้นำตามที่ผลการเลือกตั้งปรากฏให้เห็น

หลังจากเจอคนเมียนมาไปประท้วง ต่อมากระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียจึงต้องแสดงท่าทีชัดขึ้นว่าไม่ต้องการการเลือกตั้งใหม่ และเมื่อมาคุยที่ไทยยังย้ำว่า "ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชนเมียนมาจะต้องได้รับความเคารพ"

แต่ไทยจะทำแบบเดียวกันหรือไม่ หรือจะยังหาทางรู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหางต่อไป ซึ่งเป็นแนวทางการทูตที่ไม่ได้เสียหายอะไรหากเป็นผลดีต่อประเทศ ประเด็นก็คือจะทำให้ชาวเมียนมาและประชาคมโลกเข้าใจว่าไทยได้ไม่ได้ช่วยทหารเมียนมายึดอำนาจเอาไว้?

บอกกันตรงๆ ว่ารัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์นั้นไม่อยู่ในฐานะที่จะไปประสานงานเรื่องเมียนมา เพราะในประเทศก็มีกลุ่มที่ไม่พอใจรัฐบาลและตั้งคำถามกับความชอบธรรมของรัฐบาลมาโดยตลอด การไปนั่งตรงกลางจะยิ่งทำให้คนเข้าใจว่า รัฐบาลไทยที่เริ่มต้นจากการทำรัฐประหารและหลังจากเลือกตั้งแล้วทหารก็ยังคุมในหลายๆ ด้าน จะเข้าข้างกองทัพเมียนมาเป็นแน่

เหมือนกับข้อความที่ชาวเมียนมาแชร์กันในวันประชุมไตรภาคีที่กรุงเทพฯ ที่ตอนท้ายบอกว่า "ตอนนี้เราเชื่อว่าเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกันเพื่อต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริงในเมียนมาและไทย" ข้อความนี้สะท้อนว่านอกจากพวกเขาจะไม่ไว้ใจรัฐบาลไทยแล้ว คนเมียนมายังมองว่าคนไทยอยู่ในฐานะเดียวกับพวกเขาด้วยในอันที่จะต้องสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย

คงไม่ต้องถามว่าคนเมียนมาคิดว่าคนไทยต้องสู้กับใคร

Photo by STR / AFP