posttoday

ทำไมสื่อนอกเคยเรียกตลาดนัดจตุจักรว่า "อู่ฮั่นสอง"?

25 กุมภาพันธ์ 2564

ไม่ใช่แค่ WHO แต่สื่อนอกยังเคยกล่าวหาว่าตลาดและค้างคาวไทยเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

หลังจากที่ เทอา โคลเซน ฟิเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสชาวเดนมาร์ก หนึ่งในทีมวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ลงพื้นที่สำรวจหาต้นตอโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่นระบุว่ามีโอกาสสูงที่จะมีการติดเชื้อข้ามสายพันธุ์จากสัตว์สู่สัตว์ หรือสัตว์สู่มนุษย์ในตลาดค้าสัตว์ป่าและสัตว์แปลกบางแห่งที่มีความแออัด อย่างที่เคยเกิดการแพร่ระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2003 โดยยกตัวอย่างตลาดสัตว์เลี้ยงจตุจักร

แม้ว่าเธอจะออกมาแก้แล้วว่าไม่ได้กล่าวหาว่าไทยเป็นแหล่งแพร่เชื้อเพียงแค่ยกตัวอย่างเท่านั้น แต่หลายคนก็ยังมองว่านับว่าเป็นการยกตัวอย่างที่สร้างความเข้าใจผิดและสร้างความเสียหายต่อประเทศไทย

นอกจากนี้เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วในช่วงที่เพิ่มเริ่มมีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้ไม่นานเว็บไซต์ข่าวเดอะซันได้นำเสนอตลาดสัตว์เลี้ยงจตุจักรซึ่งนำโดยเลียม บาร์ทเล็ตต์ นักข่าวชาวออสเตรเลีย และสตีเวน กัลสเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ระบุว่าตลาดแห่งนี้มีการค้าสัตว์ป่าจำนวนมากรวมถึงการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายโดยเปรียบตลาดนัดจตุจักรว่าเป็น "อู่ฮั่นแห่งที่สอง"

โดยชี้ว่าตลาดดังกล่าวรองรับผู้คนหลายพันคนในแต่ละวันและบรรยากาศที่คับแคบแออัดจึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของไวรัส

อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่าผลการตรวจหาเชื้อไวรัสในตลาดไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ต้นตอของโรคโควิด-19 ในสัตว์เลี้ยงแต่อย่างใด เช่นเดียวกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้แจงว่าได้เก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อในสัตว์ทุกกลุ่มและไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา ดังนั้นข้อมูลที่ว่าไทยเป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาจึงไม่เป็นความจริง

นอกจากนี้สำนักกรุงเทพมหานครระบุว่าตลาดนัดจตุจักรไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้ามาจำหน่าย ส่วนตลาดค้าสัตว์ตามข่าวคือตลาดศรีสมรัตน์ เป็นตลาดเอกชนที่อยู่ในบริเวณข้างเคียง ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการเฝ้าระวังทำความสะอาดและขอความร่วมมือพ่อค้าแม่ค้าจัดระเบียบแผงค้าและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

สำหรับประเด็นค้างคาวเกือกม้าของไทยที่ก่อนหน้านี้วารสาร Nature Communications ตีพิมพ์งานวิจัยซึ่งนำโดยนักวิจัยจากประเทศไทยและสิงคโปร์ชี้ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (Sars-CoV-2) อาจแพร่ระบาดในกลุ่มค้างคาวหลายพื้นที่ในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทย

โดยมีการพบไวรัสที่มีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 จากค้างคาวเกือกม้าหรือค้างคาวมงกุฎ 5 ตัวในประเทศไทย

ทางกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ชี้แจงว่าจากการตรวจสอบพบว่าเชื้อไวรัสที่พบในค้างคาวมีรหัสพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ร้อยละ 91 แต่ยังไม่มีข้อมูลการติดต่อระหว่างค้างคาวมาสู่คนแต่อย่างใด ด้านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยืนยันว่าไม่สามารถก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้