posttoday

รัฐบาลต้องนั่งไม่ติดเพราะ Clubhouse

23 กุมภาพันธ์ 2564

Clubhouse ได้สร้างสังคมแห่งการพูดคุยที่สร้างสรรค์แบบใหม่ขึ้นมา แต่ก็ไปไม่รอดเมื่อรัฐบาลจีนสั่งแบนแอปยอดนิยมไปแล้วเพราะอาจเกี่ยวข้องกับการที่คนจีนไปคุยเรื่องหมิ่นเหม่ จะถึงคิวของประเทศไทยหรือไม่ที่รัฐบาลจะไม่ทนกับ Clubhouse?

ตอนนี้ชื่อของ Clubhouse คงเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างแล้ว แม้แต่นายกรัฐมนตรีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาก็เอ่ยถึง รวมถึงนายกรัฐมนตรีของเกาหลีใต้ก็เพิ่งจะหันมาใช้แอพนี้เพื่อเข้าถึงประชาชน หรือแม้กระทั่งอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย คือทักษิณ ชินวัตรก็ปรากฎตัวในแอปนี้ในชื่อ Tony จนเป็นที่ฮือฮา

"ความกังวล" ของรัฐบาลไทยเหมือนกับอาการของรัฐบาลจีนที่สั่งแบน Clubhouse หลังจากที่มันเฟื่องฟูในหมู่คนจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงเวลาสั้นๆ

เป็นที่รู้กันว่าตั้งแต่ปี 2019 ความสัมพันธ์ระหว่างคนจีนแผ่นดินใหญ่ คนฮ่องกง และคนไต้หวันเลวร้ายลงมาก เพราะความขัดแย้งพัวพันดินแดนทั้งสาม ไม่ว่าจะเป็นท่าทีคุกคามของจีนต่อไต้หวัน (หรือที่ฝ่ายจีนโทษว่าไต้หวันแสดงท่าทีจะเป็นเอกราช) ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน (ซึ่งผู้ร้ายตัวการเป็นชาวไต้หวัน) เพราะกลัวว่ารัฐบาลจีนจะใช้กฎหมายนี้ล้ำเส้นสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกง การประท้วงนี้ลุกลามเป็นการต่อต้านคนจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนคนจีนแผ่นดินใหญ่ก็ตอบโต้ด้วยการไม่ไปเที่ยวฮ่องกงและแบนสินค้าฮ่องกง

ที่ร่ายยาวมาทั้งหมดก็เพื่อแสดงให้เห็นทั้งสามดินแดนไม่ถูกกันอย่างแรง ไม่ใช่แค่รัฐบาลไม่ถูกกันแต่ยังลามไปถึงประชาชคนทั่วไป คนจีนแผ่นดินใหญ่ที่รักชาติจนเลือดขึ้นหน้ายิ่งชิงชังฮ่องกงบางคนที่เรียกร้องให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซง มันคือสถานการณ์ที่ "คนพูดภาษาจีน" คุยด้วยกันไม่รู้เรื่อง

จนกระทั่ง Clubhouse ถือกำเนิดขึ้นมา

ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ คนจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มเข้ารมาร่วม Clubhouse กับคนไต้หวันและฮ่องกง ทั้ง 3 ฝ่ายพูดคุยกันหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องความเห็นต่างทางการเมือง เรื่องกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่ใช้ในฮ่องกง ประเด็นเปราะบางอย่างกรณีซินเจียง เรื่องทิเบต และเรื่องเอกราชของไต้หวัน ซึ่งห้ามพูดถึงเด็ดขาดในจีน

แหล่งข่าวเปิดเผยว่าแทนที่คนจีนแผ่นดินใหญ่ คนไต้หวัน และคนฮ่องกงจะเชือดเฉือนและตอบโต้กัน ทั้งสามฝ่ายกลับโอภาปราศัยกัน ทำให้ Clubhouse เต็มไปด้วยบรรยากาศที่คนสามฝ่ายแทบไม่เคยพบมาก่อน (อย่างน้อยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา) หลายคนเชื่อว่า Clubhouse ทำให้ผู้คนที่เห็นต่างมาเชื่อมโยงเข้าหากัน

นักเขียนขององค์กรสื่ออิสระฮ่องกง คือ Hilton Yip ที่ทำงานทั้งในปักกิ่งและไทเปและฮ่องบอกว่า Clubhouse ทำให้เกิดภาวะ detente ซึ่งเป็นศัพท์แสงทางการเมืองระหว่างประเทศที่แปลว่า "การผ่อนคลายความตึงเครียด" เป็นสถานการณ์ที่ปรเะทศที่ขัดแย้งกันจนหวิดจะก่อสงครามกัน เริ่มหันเข้าหากันและหาทางประนีประนอมกัน แอปนี้ก็ทำหน้าที่แบบเดียวกัน

เขาเขียนว่าแอปนี้ทำให้คนจีนแผนดินใหญ่ "ดูเป็นมนุษย์มนา" (humanised) ในสายตาคนไต้หวันและฮ่องกง ไม่ได้หมายความคนแผนดินใหญ่ไม่ใช่มนุษย์ แต่เพราะความขัดแย้งทำให้แต่ละฝ่ายต่างมองไม่เห้นความเป็นคนของกันและกัน และโอกาสนี้ยังช่วยให้คนจีนเข้าใจว่าคนไต้หวันและคนฮ่องกงมีความคิดอย่างไร ไม่ใช่ว่าฟังแต่ข่าวของรัฐบาลจนหัวร้อน

แชทรูมที่ได้รับความนิยมเช่น "แชทรูมคนรุ่นใหม่ข้ามฝั่งช่องแคบ" (Cross-strait youth chat) ซึ่งเป็นห้องที่ใช้แชร์เรื่องราวของคนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันที่ถูกแบ่งแยกด้วยช่องแคบไต้หวัน ห้องนี้แต่แรกมีคไม่กี่สิบคนมาแบ่งปันเรื่องราววิถีชีวิตที่แตกต่างของพวกเขา แต่มันป๊อปปูลาร์จนกระทั่งมีคนมาเข้ารวมถึง 4,000 คน (ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์) และคุยกันหลากหลายมากขึ้นรวมไปถึงเรื่องเกี่ยวกับฮ่องกง

แน่นอนว่าเมื่อมันป๊อปปูลาร์ความต้องการที่จะเข้าร่วมก็สูงตามไปด้วย มีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีการขายคำเชิญ (Invitation) ในแพลตฟอร์มค้าขายของจีนในราคา 50 - 400 หยวน (ราวๆ 250 - 2,000 บาท)

Apple Daily สื่อของฮ่องกงที่ต่อต้านรัฐบาลจีนรายงานเรื่องนี้และอ้างว่ามีชาวเน็ตจีนที่เรียก Clubhouse ว่าเป็น "เศษเสี้ยวหนึ่งของดินแดนสุขาวดี" มันเหมือนแดนสวรรค์ที่ผู้คนจากดินแดนที่ขัดแย้งกันมาพูดคุย แลกเปลี่ยน หารืออย่างเป็นอารยะ และไม่ต้องกังวลเพราะมันไม่เหลือหลักฐานเอาไว้ให้รัฐบาลมาตามแกะรอยในตอนหลัง

Apple Daily (ซึ่งไม่ชอบพวกชาตินิยมจีน) ยังบอกด้วยว่า Clubhouse ช่วยกันไม่ให้พวกคลั่งชาติชาวจีนแผ่นดินใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า "พวกยุวชนชมพู" (ภาษาจีนเรียกว่า เสียวเฝิ่นหง) เข้ามามีปากมีเสียงได้

พวก "พวกยุวชนชมพู" เป็นคำที่ใช้เรียกคนหนุ่มสาวแผ่นดินใหญ่ที่จะโจมตีใครก็ตามที่พูดถึงประเทศจีนในทางไม่ได้ เป็นการเรียกที่เลียนแบบพวก "ยุวชนทหารแดง" (ภาษาจีนเรียกว่า หงเว่ยปิง) ที่ออกอาละวาดพวกที่ต่อต้านเหมาเจ๋อตงในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม แต่ในยุคนี้ยุวชนหัวร้อนลดกรีลงจาก "แดง" เหลือเพียง "ชมพู"

รายงานของ Apple Daily ยังมีน้ำเสียงของการ "เหยียด" พวกที่เห็นต่างอยู่บ้างต่างจากทัศนะของ Hilton Yip ที่บอกว่าแอปนี้ช่วยทำให้แต่ละฝ่ายเห็นกันและกันเป็นมนุษย์มากขึ้น มันอาจเป็นช่องทางที่ทำให้สามฝ่ายเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้นก็เป็นได้ แทนที่จะถูกปั่นหัวโดยชาตินิยและความเห็นต่างทางการเมือง

หลังจากที่คนหนุ่มสาวคุยกันอย่างอารยะได้ช่วงสั้นๆ รัฐบาลจีนก็สั่งแบน Clubhouse ตามคาด ยุติช่วงเวลาอันชื่นมื่นของสามฝ่ายในดินแดนสุขาวดีที่พวกเขาสร้างขึ้นมา

นอกจากจะแบนแล้ว สื่อของทางการจีนอย่าง Global Times ยังมี "รายงานเชิงลึก" แต่ออกมาในทำนองวิจารณ์ Clubhouse โดยอ้างว่า "ผู้ใช้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่หลายคนกล่าวว่าการอภิปรายทางการเมืองบน Clubhouse มักจะเป็นการพูดฝ่ายเดียวและเสียงสนับสนุนจีนมักจะถูกแบนได้อย่างง่ายดาย" พร้อมกับยกตัวอย่างชาวจีนที่ใช้แอปนี้แล้วบ่นอุบ

เช่น คนจีนที่ชื่อจ้าวบอกว่าเรื่องการเมืองน่าเบื่อ เพราะแต่ละฝ่ายได้แต่ตอกย้ำความเชื่อของตัวเองโดยไม่หารือหรือดีเบตกันอย่างจริงจัง ส่วนสาวจีนที่ชื่อจางบอกว่าไปเข้าแชทรูมเรื่องซินเจียงแล้วออกมาเพราะรับไม่ได้กับความเห็นฝ่ายเดียวและไม่เชื่อข่าวลือเรื่องซินเจียงที่พูดกันในห้องแชท

เรื่องนี้เป็นประเด็นปัญหาที่น่าจับตาเหมือนกันว่า Clubhouse มีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหนเพราะเป็นแอปที่เน้นพูด แม้ว่าจะมีการอ้างอิงได้แต่ก็คงไม่สะดวกเท่ากับการเขียน และยังมีความกังวลว่าแชทรูมบางห้องอาจจะพูดสิ่งที่หมิ่นเหม่ทางกฎหมาย จนเปิดทางให้รัฐบาลสั่งแบนเหมือนกรณีจีน

ความสนใจเรื่อง Clubhouse ในไทยมีมาระยะหนึ่งแล้ว จนกระทั่งรัฐบาลเริ่มที่จะขยับเมื่อเห็นว่าแชทรูมบางห้องพูดประเด็นหมิ่นเหม่แต่ก็ยังทำได้แค่ "เตือน" (หรือขู่) โดยก่อนหน้านี้นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ก็ออกมาเตือนว่าการแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อมูลที่เข้าข่ายบิดเบือน สร้างความเสียหาย และละเมิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่พร้อมดำเนินการตามกฎหมายทันทีเช่นเดียวกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ

จนกระทั่งคนระดับนายกรัฐมนตรีต้องออกมาขยับเองหลังจากการปรากฎตัวของ "Tony"

เมื่อคืนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้ปรากฏตัวในห้องสนทนา "ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้!" ในชื่อ Tony บนแอปพลิเคชัน Clubhouse ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม CARE คิด เคลื่อนไทย พร้อมด้วยนพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาสนั่นโซเชียล

โดยนายทักษิณได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเปิดโอกาสให้ประชาชนตั้งคำถามในหลากหลายประเด็น โดยเริ่มจากการพูดถึงนโยบายในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย อาทิ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (OTOP), 1 อำเภอ 1 ทุน (ODOS), นโยบายแจกแล็ปท็อปให้แก่เด็กนักเรียน และอาจสามารถโมเดล เป็นต้น โดยภาพรวมแล้วนายทักษิณได้แสดงวิสัยทัศน์โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเศรษฐกิจของประเทศและการศึกษา

เมื่อถูกตั้งคำถามถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมกรือเซะ-ตากใบ นายทักษิณระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ในความควบคุมของทหาร ตนเองก็จำไม่ค่อยได้แต่เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

พร้อมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ว่าเด็กรุ่นใหม่เกิดมาพร้อมเทคโนโลยี โลกเปลี่ยนไปมาก เมื่อเขามองไม่เห็นอนาคตเขาก็ต้องหา โดยชี้ว่าตนไม่ได้มองในทางการเมืองแต่มองเรื่องความก้าวหน้าของชีวิต ทุกคนต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตามนายทักษิณมองว่าต้องแก้ปัญหาโดยการพูดคุยกัน การเมืองจะดีหรือไม่อยู่ที่รัฐธรรมนูญ การปรับแก้กฎหมายให้ทันสมัยเป็นเรื่องสมควร แต่สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับประเทศไทยมายาวนานและเราต้องเคารพ โดยเลี่ยงที่จะไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112

การปรากฏตัวของนายทักษิณครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะสร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลไม่มากก็น้อย โดยล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเผยว่าได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามแอปพลิแคชันดังกล่าวเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการกระทำผิดกฎหมาย

การที่แอปพลิเคชันดังกล่าวเปิดพื้นที่เสรี (Free Speech) ให้ผู้ใช้ได้ถกเถียงกันอย่างเปิดกว้างและตรงไปตรงมาจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากจะมีการพูดถึงประเด็นอ่อนไหวบางประเด็น ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งอย่างที่พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ผมไม่ได้ฟัง คนผิดกฎหมายอยู่ต่างประเทศจะฟังทำไม ชอบฟังนักนะคนผิดกฎหมายเนี่ย ทำลายกฎหมาย ให้เครดิตกันอยู่ได้"

คำพูดของนายกฯ ส่งผลให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันหลายคนเริ่มกังวลว่าในอนาคตรัฐบาลจะแบนแอปพลิเคชันดังกล่าวเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศจีนหรือไม่

อย่างไรก็ดีในทางกลับกันแอปดังกล่าวเป็นเหมือนตัวช่วยประสานให้คนที่มีความเห็นต่างกันมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกัน อย่างกรณีการสนทนาบน Clubhouse ระหว่างนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และวู้ดดี้ วุฒิธร ซึ่งหลายคนไม่เชื่อว่าจะเกิดภาพนี้ขึ้นได้เนื่องจากทั้งคู่มีจุดยืนที่ไม่เหมือนกัน

แต่เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาทั้งคู่ได้มีโอกาสพูดคุยกันประเด็นต่างๆตั้งแต่การเมือง งานอดิเรก ไปจนถึงเรื่องความรัก โดยนายปวินเล่าถึงประสบการณ์ครั้งนั้นว่า "มันก็เป็นอะไรที่พอผ่านไปได้ ในเรื่องการเปิดการสนทนากับคนที่อยู่คนละขั้วทางการเมือง ดิชั้นไม่เคยตั้งเป้าไปไกลว่า ดิชั้นจะต้องเอาคนเห็นต่างมาเป็นพวก ดิชั้นมิบังอาจ แต่อย่างน้อย การเปิดให้มีการพูดคุยกันอย่างมนุษย์มีอารยะ ดิชั้นคิดว่า เท่านั้น สังคมเรามันอาจจะเดินหน้าต่อไปได้บ้าง และการพูดคุยกับวู้ดดี้เช้านี้ ดิชั้นคิดว่า ดิชั้นได้บรรลุเป้าหมายนั้นแล้ว"

กรณีที่เกิดขึ้นปวินและวู้ดดี้เป็นสิ่งที่คล้ายกับปรากฎการณ์ "แชทรูมคนรุ่นใหม่ข้ามฝั่งช่องแคบ" ที่เกิดขึ้นระหว่างคนจีนแผ่นดินใหญ่ คนไต้หวัน และคนฮ่องกง ซึ่ง Clubhouse ทำหน้าที่เหมือนสะพานเชื่อมโยงกลุ่มที่เห็นต่างให้มาพูดคุยกันอย่างมีอารยะ ไม่บูลลี่ และไม่มีเฮทสปีช เหมือนกับที่บางคนยกให้มันเป็นแดนสุขาวดีที่ทุกคนใช้พื้นที่พูดคุยกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

ในแง่หนึ่งหาก Clubhouse ทำให้คนอย่างปวินและวู้ดดี้หันมาคุยกันได้ มันก็ช่วยทำลาย Echo chamber หรือการที่แต่ละฝ่ายสุมหัวคบหากันเอง สนใจแต่ข้อมูลพวกเดียวกันเอง จนเหมือนถูกขังในห้องที่ได้ยินแต่เสียงพวกเดียวกันเองก้องไปก้องมา ผลของมันคือการดื้อรั้นไม่ยอมฟังเสียงของคนอื่น

แต่สิ่งที่จะทำลาย "แดนสุขาวดีของกลุ่มคนเห็นต่าง" หรือ "พื้นที่เสรีในการแสดงความเห็น" คือการเปิดพื้นที่ให้เฟคนิวส์

ตัวเฟคนิวส์เองมีพลังในตัวมันเองในการทำลายบรรยากาศการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์อยู่แล้ว แต่มันยังอาจเป็นเหตุผลให้รัฐบาลสั่งแบน Clubhouse ไปทั้งหมดด้วยข้อหาเป็นสถานที่ยุยงปลุกปั่น

ตอนนี้รัฐบาลเริ่มที่แสดงอาการฮึ่มๆ ออกมาแล้ว แต่นิสัยคนไทยยิ่งขู่ยิ่งไม่กลัว ยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุ เราต้องจับตากันต่อไปว่ารัฐบาลจะเล่นงานแอปนี้หรือไม่ และผู้ใช้ชาวไทยจะสามารถพัฒนามันจนกลายเป็นสถานที่ศิวิไลซ์ในการพูดคุยเหมือนที่เกิดขึ้นกับคนจีน ไต้หวัน และฮ่องกงหรือไม่

หมายเหตุ - การสนทนาบน Clubhouse เป็นการสนทนารูปแบบเรียลไทม์ ไม่สามารถย้อนกลับมาฟังซ้ำได้ และไม่มีการบันทึกเก็บไว้ ส่งผลให้ผู้ใช้ในห้องสนทนาบางรายแอบบันทึกเสียงเหล่านั้นไว้สำหรับผู้ใช้ที่เข้าฟังไม่ทันหรือผู้ที่ไม่ได้ใช้แอปพลิเคชัน Clubhouse

โดยอันที่จริงแล้วผู้ใช้สามารถบันทึกได้แต่ต้องได้รับอนุญาตจากทุกคนในห้องสนทนา การแอบบันทึกเสียงโดยผู้ร่วมสนทนาไม่ทราบถือเป็นการละเมิดข้อกำหนดในการให้บริการของ Clubhouse