posttoday

เมื่อธารน้ำแข็งหิมาลัยแตกที่อินเดีย แต่ส่งผลสะเทือนมาถึงไทย

10 กุมภาพันธ์ 2564

ไม่ว่าธารน้ำแข็งหิมาลัยจะละลายมากไปหรือละลายจนไม่เหลือแล้วประเทศไทยก็เดือดร้อนทั้งนั้น

อุบัติเหตุธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยแตกจนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่รัฐอุตตราขัณฑ์ของอินเดียตอกย้ำให้เราเห็นว่าเทือกเขาหิมาลัยกำลังเปราะบางอย่างหนักจากภาวะโลกร้อน

หลังจากวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมบรรดาผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าแผ่นดินถล่มหรือหิมะถล่มอยู่เบื้องหลังหายนะครั้งนี้ และนักวิยาศาสตร์หลายคนก็ลงความเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ เนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยละลาย เมื่อหิมะละลายทะเลสาบธารน้ำแข็ง แผ่นดินถล่ม และหิมะถล่มก็เพิ่มขึ้น วันดีคืนดีจึงถล่มลงมาด้านล่างอย่างที่เกิดที่อินเดีย

ธารน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยและธารน้ำแข็งหิมาลัย-ฮินดูกูชถูกขนานนามว่าเป็น “ขั้วโลกที่สาม” เพราะมีหิมะและน้ำแข็งมากที่สุดในโลกรองจากขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ โดยน้ำแข็งของเทือกเขาหิมาลัยกินพื้นที่ถึง 100,000 ตารางกิโลเมตร และยังเป็นแหล่งต้นกำเนิดของน้ำจืดสำคัญของแม่น้ำแยงซีเกียง คงคา และแม่น้ำโขง

แต่ธารน้ำแข็งหิมาลัยซึ่งก่อตัวเมื่อราว 70 ล้านปีที่แล้วถูกคุกคามอย่างหนักจากภาวะโลกร้อน นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 ธารน้ำแข็งเริ่มบางลงและหายไป ส่วนพื้นที่ที่เคยมีหิมะปกคลุมก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงหลังๆ ธารน้ำแข็งยิ่งละลายหายไปอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ

รายงานของศูนย์นานาชาติเพื่อการพัฒนาพื้นที่ภูเขาแบบบูรณาการเมื่อปี 2019 พบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากน้ำมือมนุษย์ส่งผลให้ธารน้ำแข็งหิมาลัยละลายเข้าขั้นวิกฤต หายไปปีละประมาณ 50 เซนติเมตร หรือเร็วขึ้นเป็นสองเท่านับตั้งแต่ปี 2000 เมื่อเทียบกับปี 1975-2000 หรือ 25 ปีก่อนหน้า ที่ละลายปีละ 25 เซนติเมตร

ความร้อนยังมีผลต่อการก่อตัวของน้ำแข็งด้วย โมฮัมหมัด ฟารูค อาซาม จากสถาบันเทคโนโลยีอินดอร์ของอินเดียซึ่งศึกษาด้านธารน้ำแข็งบอกว่า เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นน้ำแข็งจะก่อตัวน้อยลง

และแม้ว่าน้ำแข็งยังคงก่อตัวอยู่แต่ก็ขยับเข้าใกล้จุดที่จะละลายเต็มที ดังนั้นความร้อนเพียงเล็กน้อยก็ทำให้หิมะถล่มแล้ว

สอดคล้องกับ ยอร์ก เชเฟอร์ ศาสตราจารย์จากศูนย์วิจัยลามอนต์-โดเฮอร์ตีแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่บอกว่า “แม้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียสก็สร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาล”

แต่ตอนนี้มีแนวโน้มว่าอุณหภูมิของโลกกำลังจะสูงขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสแล้ว นั่นหมายความว่าความร้อนนี้จะยิ่งเร่งปฏิกิริยาต่างๆ ของธารน้ำแข็งหิมาลัยไปอีก

และแน่นอนว่าปฏิกิริยานี้ส่งผลสะเทือนมาถึงไทยแน่นอน แม้ว่าเหตุการณ์ธารน้ำแข็งถล่มในอินเดียเกิดห่างจากไทยหลายพันหลายหมื่นกิโลเมตร

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าธารน้ำแข็งหิมาลัยเป็นแหล่งน้ำจืดของแม่น้ำหลายสายในเอเชีย รวมทั้งแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศไทย ดังนั้นไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบกับไทยด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในระยะสั้น หากธารน้ำแข็งหิมาลัยละลาย ระดับน้ำในทะเลจะสูงขึ้น ส่งผลให้พื้นที่แถบชายฝั่งจมน้ำเร็วขึ้น งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature ระบุว่า ในปัจจุบันการละลายของธารน้ำแข็งภูเขาเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

และจากข้อมูลของศูนย์นานาชาติเพื่อการพัฒนาพื้นที่ภูเขาแบบบูรณาการ (ICIMOD) พบว่า หากธารน้ำแข็งหิมาลัยละลายทั้งหมดจะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นราว 1.5 เมตร

หากเป็นเช่นนี้พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบเป็นที่แรกๆ คือ กรุงเทพมหานคร ที่ขณะนี้จมลงปีละ 1-2 เซนติเมตรอยู่แล้ว อีกทั้งน้ำทะเลในอ่าวไทยยังสูงขึ้นถึงปีละ 4 มิลลิเมตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก

ดังนั้นหากมีน้ำจากธารน้ำแข็งหิมาลัยลงมาสมทบอีก เมืองหลวงของเราคงหนีไม่พ้นสภาพจมบาดาล

ขณะที่ในระยะยาว หากธารน้ำแข็งหิมาลัยละลายหมดแล้ว แม่น้ำสายสำคัญโดยเฉพาะแม่น้ำโขงที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนนับล้านจะขาดน้ำ ประเทศที่จะเดือดร้อนคือ ไทย ลาว เมียนมา จีน

และที่น่ากังวลไม่แพ้กันคือ ข้อมูลหรืองานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการละลายของธารน้ำแข็งหิมาลัยต่อประเทศไทยยังมีน้อยมาก ในขณะที่ธารน้ำแข็งละลายเพิ่มมากขึ้นทุกวันๆ 

โดย จารุณี นาคสกุล