posttoday

นายพลมินอ่องหล่ายและความโหดร้ายของกองทัพเมียนมา

04 กุมภาพันธ์ 2564

ชื่อของนายพล มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาและกองทัพเมียนมาได้รับความสนใจจากชาวโลกอีกครั้งหลังจากเขาทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

ต่อไปนี้คือเรื่องราวที่น่าสนใจของนายพล มินอ่องหล่าย และบทบาทการปราบปรามชาวโรฮีนจาอย่างทารุณโหดร้ายของกองทัพเมียนมาภายใต้การสั่งการของทหารรายนี้

อันที่จริงแล้วนายพลมินอ่องหล่ายมีกำหนดเกษียณในเดือน ก.ค. ที่จะถึงนี้ในวัย 65 ปีตามอายุราชการสำหรับผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่แทนที่จะเตรียมตัวอำลาตำแหน่งและมองหาผู้สืบทอด เขากลับยึดอำนาจรัฐบาลด้วยการก่อรัฐประหาร และมีแนวโน้มว่าจะยังไม่ยอมลงจากตำแหน่งง่ายๆ

แต่ย้อนไปในวัยหนุ่มนั้นแทบไม่มีใครคิดว่าเขาจะก้าวขึ้นมาถึงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด มินอ่องหล่ายไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเรียกร้องทางการเมืองที่แผ่กระจายเป็นวงกว้างในเมียนมาในขณะที่เขากำลังศึกษากฎหมายในย่างกุ้งช่วงปี 1972-1974 ขณะที่เพื่อนๆ ออกไปประท้วง ตัวเขากลับยื่นใบสมัครเข้าเรียนในวิทยาลัยป้องกันชาติแห่งประเทศพม่า (DSA) และพยายามอยู่ 3 ครั้งจึงได้เข้าเรียนในปี 1947

เรื่องราวในวัยรุ่นของเขาถูกบอกเล่าในหลากหลายมุมมอง เพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งบอกกับรอยเตอร์สในปี 2016 ว่าเขาเป็นคนพูดน้อย ทำตัวติดดิน ส่วนคำบอกเล่าในนิวยอร์กไทม์สระบุว่าเขาเป็นอันธพาลที่ชอบระรานเพื่อนร่วมชั้นให้อับอายขายหน้า

ขณะที่ Hla Oo นักเขียนชาวเมียนมาที่ลี้ภัยไปอยู่ออสเตรเลียซึ่งรู้จักมินอ่องหล่ายตอนเด็กๆ บอกว่า เขาเป็นคนขยัน ตั้งใจเรียน ที่พาตัวเองไต่เต้าจนขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของกองทัพ ส่วนอดีตนายทหารในโรงเรียนเตรียมทหารบอกกับรอยเตอร์สว่า “เขาค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งอย่างมั่นคง” และเนกินเปา คิปเกน จากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยการต่างประเทศจินดาลของอินเดียบอกว่า “เขาไม่ใช่คนที่โดดเด่นในกองทัพเมียนมา”

จุดเปลี่ยนชีวิตของมินอ่องหล่ายเริ่มหลังจากเขาเข้าร่วมกองพลทหารราบเบาที่ 88 ซึ่งตานฉ่วยอดีตผู้นำประเทศและผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาเป็นผู้บังคับบัญชา

มินอ่องหล่ายได้รับความไว้วางใจจากตานฉ่วยและช่วยงานตานฉ่วยเรื่อยมาจนกระทั่งตานฉ่วยนั่งเก้าอี้ผู้นำรัฐบาลทหารในปี 1992

ปี 2011 ตานฉ่วยแต่งตั้งมินอ่องหล่ายเป็นทายาททางการททหารและผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนแรกของเมียนมาในยุคหลังจากรัฐบาลทหารปกครองประเทศและการเปลี่ยนผ่านเมียนมาสู่ประชาธิปไตยค่อยๆ เริ่มต้น

นักการทูตในเมืองย่างกุ้งเผยว่า ในช่วงที่อองซานซูจีเป็นรัฐบาลในปี 2016 มินอ่องหล่ายเริ่มปรับเปลี่ยนบทบาทจากทหารเงียบขรึมมาเป็นนักการเมืองและบุคคลสาธารณะ ทั้งการใช้เฟซบุ๊คทำการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ การพบปะกับบุคคลที่มีตำแหน่งสูง และการเข้าวัด

นอกจากนี้ ยังพยายามทำทุกอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่ากองทัพคือคนคุมเกมทางการเมืองตัวจริง ด้วยการเข้าร่วมการพบปะหารืออย่างเป็นทางการหลายครั้งโดยเฉพาะในจีนและญี่ปุ่น และยังได้ต้อนรับบุคคลสำคัญ อาทิ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ในปี 2017 โดยการพบปะหารือเหล่านี้ล้วนถูกบันทึกภาพและนำมาแชร์ในโลกโซเชียลเพื่อสร้างภาพลักษณ์

ต่อมาในปี 2016 มินอ่องหล่ายได้สร้างความประหลาดใจให้กับบรรดานักสังเกตการณ์ด้วยการต่ออายุราชการทหารของตัวเองออกไปอีก 5 ปี ซึ่งขณะนั้นใครๆ ต่างก็คาดว่าเขาจะลงจากตำแหน่งระหว่างที่มีการปรับตำแหน่งผู้นำในกองทัพ

ปี 2017 ชื่อเสียงของกองทัพเมียนมาเสื่อมเสียอย่างหนักในสายตาชาวโลก เมื่อกองทัพลงมือกวาดล้างชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่อย่างหนักจนชาวโรฮีนจากว่า 730,000 คนต้องเข้าบังกลาเทศซึ่งมีพรมแดนติดกัน

แม้จะมีข่าวออกมาเป็นระยะว่ากองทัพเมียนมาฏิบัติกับชาวโรฮีนจาด้วยความทารุณโหดร้ายต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการฆ่า ข่มขืน รุมโทรม เผาหมู่บ้านจนราบเป็นหน้ากลอง แต่กองทัพเมียนมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาตลอด อ้างว่าเป็นเพียงการตอบโต้ที่กลุ่มติดอาวุธโรฮีนจาโจมตีป้อมของทางการ

ทว่าเมื่อช่วงกลางปีที่แล้วสำนักข่าวนิวยอร์กไทม์สและองค์กรสิทธิมนุษยชน Fortify Rights ได้ร่วมกันเผยแพร่คลิปวิดีโอของทหาร 2 นายที่ให้การว่ามีการฆ่า ข่มขืน และขุดหลุมฝังศพชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่จริง และพวกเขาทั้งคู่ได้รับคำสั่งให้สังหารชาวโรฮีนจาทุกคนและทำลายหมู่บ้าน

ช่วงหนึ่งในคลิป Myo Win Tun เผยว่า “เรากราดยิงใส่ทุกคน เรายิงชายมุสลิมที่หน้าผากแล้วแตะร่างให้กลิ้งลงหลุม” และยังบอกว่าเขาข่มขืนหญิงรายหนึ่ง ฝังผู้หญิงอีก 8 คน เด็ก 7 คน ผู้ชาย 15 คนในหลุมเดียวกัน

ส่วน Zaw Naing Tun เล่าว่าเขาได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ฆ่าชาวโรฮีนจาให้หมด และเขายังเห็นทหารที่ยศสูงกว่าข่มขืนผู้หญิงชาวโรฮีนจาหลายคน

คำบอกเล่าของทั้งคู่ถือเป็นครั้งแรกที่ทหารเมียนมายอมรับว่ามีการกวาดล้างชาวโรฮีนจาตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งเป็นการกระทำที่องค์การสหประชาชาติและองค์การสิทธิมนุษยชนประณามว่ากองทัพตั้งใจฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

คำให้การของทหาร 2 นายซึ่งหนีทหารแล้วข้ามมายังพรมแดนบังกลาเทศก่อนจะถูกจับกุมตัวโดยกองทัพอาระกัน สอดคล้องกับคำให้การของชาวโรฮีนจาที่หนีไปที่บังกลาเทศ และรายงานของคณะสืบสวนข้อเท็จจริงของสหประชาชาติในเมียนมาและองค์การนิรโทษกรรมสากล (AI)

รายงานเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงทางเพศกับคนกลุ่มน้อยในรัฐคะฉิ่น ฉาน และชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ของคณะสืบสวนข้อเท็จจริงของสหประชาชาติในเมียนมาระบุว่า ทหารเมียนมาข่มขืน รุมโทรม และใช้กำลังอื่นๆ รวมทั้งบังคับให้ผู้หญิง เด็กหญิง เด็กชาย ผู้ชาย และคนรักร่วมเพศมีเพศสัมพันธ์ โดยเป็นประจำและทำอย่างเป็นระบบ

รายงานระบุอีกว่า ผู้หญิงและเด็กชาวโรฮีนจาหลายร้อยคนถูกข่มขืน โดย 80% ของการข่มขืนที่คณะสืบสวนฯ พบเป็นการรุมโทรม และในจำนวนนี้เป็นฝีมือทหารเมียนมา 82%

รายงานยังสรุปว่า เจตนาในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาของกองทัพเมียนมาแสดงให้เห็นผ่านวิธีการฆ่าผู้หญิงในชุมชนชาวโรฮีนจา ทำให้ผู้หญิงและเด็กหญิงได้รับอันตรายทั้งทางร่างกายและจิตใจ บังคับให้ผู้หญิงและเด็กหญิงโรฮีนจาทำในสิ่งที่ไม่ต้องการ โดยมีจุดประสงค์เพื่อถอนรากถอนโคนชาวโรฮีนจาไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน รวมทั้งใช้มาตรการป้องกันไม่ให้มีการให้กำเนิดทารกรุ่นใหม่

ด้วยเหตุนี้ภาพลักษณ์ของมินอ่องหหล่ายในสายตาประชาคมโลกคือผู้อยู่เบื้องหลังการกวาดล้างชาวโรฮีนจาในเมียนมา

คิปเกนกล่าวว่า “แม้ว่าเขาจะไม่ได้เกี่ยวของโดยตรงหรือเป็นการส่วนตัว แต่ในทางทหารในฐานะที่เป็นผู้บัญชาการ เขาเป็นคนอนุมัติการกระทำนี้”

และแม้ว่าหลายประเทศจะใช้คำว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ในการเอ่ยถึงการกระทำของทหารเมียนมาต่อชาวโรฮีนจา แต่มินอ่องหล่ายกลับปกป้องกองทัพอย่างเปิดเผยทั้งในเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ อีกทั้งมินอ่องหล่ายยังยังเรียกชาวโรฮีนจาว่า เบงกาลี เพื่อจะบอกว่าชาวโรฮีนจาเป็นชาวต่างชาติ ไม่ใช่ชาวเมียนมา

และยังสร้างความชอบธรรมให้กองทัพด้วยการพูดย้ำๆ ว่า “ดินแดนของเราต้องเป็นของคนเมียนมา”